รู้จัก ARM “มันสมอง” ที่ซ่อนอยู่ ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple

รู้จัก ARM “มันสมอง” ที่ซ่อนอยู่ ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple

1 ธ.ค. 2021
รู้จัก ARM “มันสมอง” ที่ซ่อนอยู่ ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวมากที่สุดของ Apple คงหนีไม่พ้น
เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องแรกของโลกที่มีชื่อว่า “Newton”
ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีการทำงานคล้าย ๆ กับ iPad ต่างกันตรงที่จะใช้ปากกาเป็นหลัก
ที่บอกว่าล้มเหลวนั้นก็เพราะว่า Newton ถูกวางขายในปี ค.ศ. 1993
แต่ผ่านไป 5 ปี กลับสร้างรายได้ให้บริษัทเพียง 4,500 ล้านบาท
เทียบกับต้นทุนของโครงการนี้ที่ 32,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าขาดทุนยับเยิน
แต่รู้หรือไม่ว่าความล้มเหลวในวันนั้น
กลับเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร Apple ในวันนี้
เพราะมันทำให้ Apple ได้พบกับสถาปัตยกรรมผลิตชิปประมวลผลจากบริษัท “ARM”
ปัจจุบัน เทคโนโลยีของบริษัท ARM ได้เข้ามาอยู่ในสินค้าแทบทุกตัวของ Apple
และไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเทคโนโลยีของ ARM นี่แหละเป็นส่วนสำคัญ
ที่ทำให้ Apple ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าอันดับ 2 ของโลกในทุกวันนี้
แล้ว ARM สำคัญกับ Apple ขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วงปี ค.ศ. 1980 ที่ประเทศอังกฤษ
มีบริษัทผลิตและพัฒนาคอมพิวเตอร์ชื่อว่า “Acorn Computers”
บริษัทแห่งนี้กำลังเริ่มเติบโตและมีชื่อเสียงจากสินค้าหลายตัวที่ฮิตติดตลาด
โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์รุ่น BBC Micro ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน
คอมพิวเตอร์รุ่นนี้สามารถทำยอดขายกว่า 1.5 ล้านเครื่อง เรียกได้ว่า 80% ของโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ใช้คอมพิวเตอร์ BBC Micro เกือบทั้งหมดในปี ค.ศ. 1984
แม้ในตอนนั้น บริษัทสามารถจะทำยอดขายถล่มทลายจากคอมพิวเตอร์ BBC Micro แต่ Acorn Computers ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะเพิ่งเริ่มทำธุรกิจได้เพียง 6 ปี
นั่นจึงทำให้การที่บริษัทจะเข้าซื้อกิจการอื่นเพื่อสร้างการเติบโตและการออกแบบ Microprocessor หรือ CPU ที่มีพลังในการประมวลผลสูง ซึ่งต้องใช้งบในการวิจัยและพัฒนาที่สูง ให้สามารถแข่งกับคู่แข่งในเวลานั้นเหมือนกับ Intel จึงเป็นไปได้ยาก
โดยคุณ Steve Furber ซึ่งเป็นนักออกแบบอุปกรณ์รวมถึง CPU ของ Acorn Computers ได้รับมอบหมายในการออกแบบและพัฒนา CPU ร่วมกับ Sophie Wilson ผู้ช่วยของเขา เพื่อมาทำการแข่งขันในตลาด
ในขณะที่คุณ Steve และคุณ Sophie กำลังนั่งคิดถึงวิธีที่จะพัฒนา CPU อยู่นั้น
พวกเขาได้บังเอิญไปเจองานวิจัยในกองเอกสารเก่า ๆ บนโต๊ะทำงานของเขา
ที่ได้รับมาจากคุณ Hermann Hauser หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Acorn Computers
โดยเอกสารเก่า ๆ ที่ว่านั้นเป็นงานวิจัยจาก University of California, Berkeley
ที่พูดถึง Microprocessor หรือ CPU แบบใหม่ ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
โดยงานวิจัยเล่มนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับ CPU ที่ออกแบบมาให้มีขั้นตอนการทำงาน
ที่ไม่ซับซ้อน และเน้นไปที่การประหยัดพลังงานมากกว่าพลังในการประมวลผล
ซึ่งมันถูกเรียกกันว่า “RISC” ย่อมาจาก Reduced Instruction Set Computing เป็นประเภทของ CPU ที่ออกแบบให้มีชุดคำสั่งจำนวนลดลง
ซึ่งแม้ว่ามันจะทำงานที่ซับซ้อนได้น้อยลง แต่ก็จะชดเชยด้วยความสามารถที่ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นและใช้พลังงานน้อยกว่า
ซึ่งจะแตกต่างกับแบบ CISC หรือที่เรียกว่า Complex Instruction Set Computing คนละขั้วเพราะ CISC เป็นการออกแบบชิปที่มีความซับซ้อน
จึงทำให้มีความสามารถในการประมวลผลสูง แต่ก็แน่นอนว่าต้องแลกมากับการใช้พลังงานที่มากตามไปด้วย ยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี ก็เช่น CPU ในตระกูล x86 ทั้งหลายของ Intel
หลังจากค้นพบต้นแบบของชิปที่เขาจะนำมาผลิตแล้ว คุณ Steve Furber กับคุณ Sophie Wilson จึงได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาชิปของ Acorn Computers
จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1985 ทั้งสองคนก็สามารถสร้างชิปที่มีรูปแบบการทำงานแบบ RISC ได้สำเร็จ
โดยใช้ชื่อว่า Acorn RISC Machine หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ARM” ซึ่งได้มีการนำไปใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1987 บนเครื่องคอมพิวเตอร์ Acorn Archimedes
แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี บริษัทก็ต้องหยุดผลิตไป เนื่องจากในช่วงนั้นมีเจ้าตลาดอย่าง Intel
ที่มี CPU ตระกูล x86 ที่สามารถทำงานร่วมกับ Windows ของ Microsoft ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งดีในระดับที่ได้รับฉายาจากการนำชื่อของ Windows บวกกับ Intel
เป็น “Wintel” สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในธุรกิจชิปของ Intel ณ เวลานั้น
ทำให้ทาง Acorn Computers ต้องพยายามหาลูกค้าใหม่
ซึ่งก็ได้ไปพบกับ John Sculley ผู้บริหารของ Apple
ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ สตีฟ จอบส์ ออกจาก Apple ไปในปี ค.ศ. 1985
เวลานั้น ทาง John Sculley เอง ก็พยายามคิดค้นและออกแบบสินค้าตัวใหม่
โดยหวังว่าจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้
เช่นเดียวกับในยุคที่ สตีฟ จอบส์ เป็นผู้บริหาร
หนึ่งในสินค้าที่คิดค้นขึ้นมา ก็คือ “Apple Newton” ซึ่งถือเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องแรกของโลก และด้วยความที่ Newton เป็นอุปกรณ์พกพา ทำให้ต้องการ CPU ที่เน้นการประหยัดพลังงานมากกว่าการประมวลผล

ซึ่งแน่นอนว่าชิป ARM ซึ่งเป็นชิปที่ถูกออกแบบมาให้มีการประหยัดพลังงานอยู่แล้ว สามารถตอบโจทย์ Apple Newton ได้เป็นอย่างดี
แม้ Apple เองจะต้องการชิป ARM ของทาง Acorn Computers แต่ Apple ที่มีรายได้หลักมาจากคอมพิวเตอร์อย่าง Macintosh ก็ได้มองว่าในอนาคต Acorn Computers อาจเติบโตมาเป็นคู่แข่งได้
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Apple จึงเลือกที่จะทำข้อตกลงกับทาง Acorn Computers โดยให้ทาง Acorn Computers ทำการแยกหน่วยงานที่พัฒนาชิป ARM ออกมา แล้วตั้งเป็นบริษัทใหม่ร่วมกับ Apple และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น “Advanced RISC Machine” หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ARM
ซึ่งการก่อตั้งบริษัทในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของ 3 บริษัทด้วยกัน คือ
1. Acorn Computers เป็นผู้ให้ทรัพยากรด้านบุคคลซึ่งคือทีมวิศวกร 12 คน
2. Apple เป็นผู้ให้เงินทุน ซึ่งให้เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 100 ล้านบาท
3. VLSI Technology เป็นผู้จัดหาเครื่องจักร, เครื่องมือ และอุปกรณ์
โดยดีลในครั้งนี้ทาง Apple และ Acorn Computers จะถือหุ้นของบริษัท
Advanced RISC Machine เท่า ๆ กัน บริษัทละ 43% ที่เหลือถือโดย VLSI Technology
หลายคนอาจมีคำถามว่า VLSI Technology มีความเกี่ยวข้องกับทั้งสองบริษัทอย่างไร ?
VLSI Technology เป็นบริษัทที่ออกแบบ รวมถึงรับจ้างผลิตแผงวงจรตามคำสั่งของลูกค้า
ซึ่งก่อนหน้านี้ VLSI Technology เองเป็นบริษัทที่คอยผลิต ROM ส่งให้ทาง Acorn Computers
นอกจากนี้ก็ยังเคยร่วมมือกับ Apple ในยุคของ สตีฟ จอบส์ ในการออกแบบและผลิตชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ Macintosh อีกด้วย
หลังจากนั้น ARM ก็มุ่งหน้าพัฒนาชิปของตัวเอง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1993 ทาง Apple ได้เปิดตัว Apple Newton ที่ใช้ชิป ARM610 RISC แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด
5 ปีหลังจากเริ่มทำการวางขาย เครื่อง Newton สามารถขายได้เพียง 200,000 เครื่อง คิดเป็นยอดขายเพียง 4,500 ล้านบาท
เรียกได้ว่าห่างไกลจากต้นทุนโครงการ ที่สูงถึง 32,000 ล้านบาทเป็นอย่างมาก
ด้วยความล้มเหลวนี้เอง นับเป็นหนึ่งในความล้มเหลวที่ส่งผลให้ John Sculley ถึงกับต้องออกจาก Apple ไป
แม้ John Sculley จะออกจาก Apple ไปแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทิ้งไว้ให้กับ Apple คือ เทคโนโลยีของ ARM
ซึ่งไม่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็น “ไพ่ใบสำคัญ” ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับ Apple ในเวลาต่อมา..
ในยุคหลังจากที่ สตีฟ จอบส์ พา Apple ผ่านวิกฤติของบริษัทในช่วงทศวรรษ 1990 มาได้แล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Apple และ ARM ได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2008 เมื่อ Bob Mansfield ผู้บริหารด้านฮาร์ดแวร์ของ Apple ได้จ้าง Johny Srouji วิศวกรชาวอิสราเอล เข้ามาทำงานที่ Apple
ซึ่ง Johny Srouji มีประสบการณ์ทำงานมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Intel และ IBM
โดย Johny Srouji เข้ามามีบทบาทในการออกแบบและพัฒนา “System on Chips” หรือ ระบบบนชิปที่ใช้นวัตกรรมของชิป ARM เป็นหลัก หรืออาจพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการออกแบบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์บนชิป ให้สามารถทำงานร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จนในที่สุด Apple ก็ได้คลอดชิปเซตที่มีการออกแบบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
เป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า “Apple Silicon” ที่เรารู้จักกัน นั่นเอง
โดย Apple Silicon ตัวแรกคือ ชิป A4 ผู้บุกเบิกของเหล่าชิป A Series ทั้งหลาย
โดยได้ทำการเปิดตัวครั้งแรกใน iPad รุ่นแรกในปี 2010 และ iPhone 4 ในปี 2014
ลากยาวมาถึงปัจจุบัน ที่ผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างของ Apple ก็ได้ใช้ชิป Apple Silicon
ไม่ว่าจะเป็นชิปตระกูล A Series ที่อยู่ใน iPhone และ iPad
รวมถึงชิป M1 ใน MacBook Air ปี 2020 หรือแม้แต่ชิป M1 Pro และ M1 Max ใน MacBook Pro รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ARM ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น ARM Holdings หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี ค.ศ. 1998
และในปี 2016 ถูกซื้อกิจการไปโดย SoftBank หนึ่งในเจ้าพ่อวงการสตาร์ตอัปของ Masayoshi Son ซึ่งเป็นการเข้าซื้อทั้งบริษัทเพื่อนำออกจากตลาดหลักทรัพย์ โดย SoftBank Group ถือหุ้นอยู่ 75% และ SoftBank Vision Fund ถือหุ้นที่เหลืออีก 25%
ซึ่งลักษณะการทำธุรกิจในปัจจุบันของ ARM Holdings หลัก ๆ คือ ผลิตลิขสิทธิ์ทางเทคโนโลยี
จากนั้นจะนำไปขายให้กับบริษัทที่ต้องการ
โดยบริษัทที่มีใบอนุญาตก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นชิ้นส่วนของตัวเอง
อย่างเช่นที่ Apple นำเทคโนโลยีของ ARM ไปต่อยอดจนเป็น Apple Silicon ของตัวเอง
โดยลิขสิทธิ์ของ ARM Holdings ก็มีตั้งแต่
- เทคโนโลยีเครือข่าย
- เทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่รถยนต์อัตโนมัติ
- เทคโนโลยีอุปกรณ์ IoT
โดยกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เทคโนโลยี CPU บนสมาร์ตโฟน

และล่าสุด ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมานี้ ทาง Nvidia เจ้าแห่งธุรกิจชิปประมวลผลกราฟิก
ได้ประกาศว่าจะทำการเข้าซื้อ ARM Holdings เป็นมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท
โดยสาเหตุที่ทาง Nvidia อยากได้ ARM มาครอบครองนั้น
นอกจากความต้องการอยากเป็นเจ้าของส่วนแบ่งในตลาดชิป CPU สมาร์ตโฟนกว่า 90% แล้ว ก็ยังมีเรื่องของนวัตกรรมการประมวลผล ซึ่งจะเห็นได้จาก Fujitsu A64FX ซึ่งเป็น CPU ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก อย่าง Fugaku เอง ก็ใช้นวัตกรรมของ ARM เช่นกัน
แปลว่าหาก Nvidia สามารถครอบครอง ARM ได้สำเร็จ
ก็จะทำให้บริษัทได้รับองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของ ARM
และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของ Nvidia ในปัจจุบันให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
รวมถึงนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคตอย่างเช่น AI ได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การควบรวมกิจการของ Nvidia และ ARM จะสำเร็จหรือไม่ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรออกมาตรวจสอบดีลนี้ซึ่งเป็นดีลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และเกี่ยวข้องกับการผูกขาด
จากตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า ARM กลายมาเป็นมันสมองของ Apple
ที่แม้จะเป็นผู้พัฒนาเพียงลิขสิทธิ์การผลิตชิปที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
แต่ธุรกิจนี้เอง ที่เรียกได้ว่าเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญและถือเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของหลายธุรกิจโดยเฉพาะ Apple นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.proactiveinvestors.co.uk/companies/news/928992/arm-holdings-from-an-acorn-to-british-success-story-928992.html
-https://www.theguardian.com/technology/2015/nov/29/arm-cambridge-britain-tech-company-iphone
-https://www.statista.com/statistics/1132064/arm-quarterly-net-sales-worldwide/
-https://www.zdnet.com/article/inside-arm-the-british-success-story-taking-the-chip-world-by-storm/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Acorn_Computers
-https://en.wikipedia.org/wiki/BBC_Micro
-https://en.wikipedia.org/wiki/Apple_Newton
-https://community.arm.com/arm-community-blogs/b/architectures-and-processors-blog/posts/a-brief-history-of-arm-part-1
-https://en.wikipedia.org/wiki/Johny_Srouji
-https://en.wikipedia.org/wiki/Apple_silicon#Apple_A4
-https://www.cnbc.com/2020/08/11/softbank-confirms-arm-could-be-sold-or-listed.html
-https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Japan-s-Fugaku-keeps-position-as-world-s-fastest-supercomputer
-https://en.wikipedia.org/wiki/Fugaku_(supercomputer)
-https://arm.nvidia.com/?utm_source=Google&utm_medium=Search&utm_campaign=Auckland%20Microsite&utm_content=Global%20&gclid=Cj0KCQiAys2MBhDOARIsAFf1D1dBsTX_HgeJDRVEE1mY2mH54-TXRlHr0UU3EQvK7mCvLYNDXQOeoYwaAgfeEALw_wcB
-https://www.cpubenchmark.net/market_share.html
-https://fortune.com/2021/08/03/uk-block-nvidia-arm-acquisition-security-risk/
-Apple Form 10-k
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.