โมเดลธุรกิจ City Football Group ซื้อสโมสรฟุตบอลไปเรื่อย ๆ ทำให้เป็นแฟรนไชส์

โมเดลธุรกิจ City Football Group ซื้อสโมสรฟุตบอลไปเรื่อย ๆ ทำให้เป็นแฟรนไชส์

8 ก.พ. 2022
โมเดลธุรกิจ City Football Group ซื้อสโมสรฟุตบอลไปเรื่อย ๆ ทำให้เป็นแฟรนไชส์ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงสโมสรฟุตบอลในอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากสุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง คงจะเป็น “แมนเชสเตอร์ ซิตี”
นับตั้งแต่ปี 2011 แมนเชสเตอร์ ซิตี คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย, เอฟเอคัพ 2 สมัย, คาราบาวคัพ (อีเอฟแอลคัพ) 6 สมัย รวมถึงเข้ารอบชิงชนะเลิศบอลถ้วยรายการใหญ่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว
แต่รู้ไหมว่า เจ้าของ แมนเชสเตอร์ ซิตี ไม่ได้วางเป้าหมายครองความยิ่งใหญ่แค่ในอังกฤษเท่านั้น
เพราะพวกเขามีการตั้งบริษัทโฮลดิง ชื่อว่า “City Football Group” ขึ้นมา เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายสโมสรฟุตบอลทั่วโลก
แล้วตอนนี้ อาณาจักร City Football Group ขยายไปไกลแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในปี 2008 กลุ่มทุน Abu Dhabi United Group ซึ่งมีเจ้าของ คือ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน มหาเศรษฐี และสมาชิกราชวงศ์แห่งรัฐอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เข้าซื้อกิจการสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี ด้วยมูลค่าประมาณ 9,400 ล้านบาท
หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้ลงทุนมหาศาล เพื่อพัฒนาแมนเชสเตอร์ ซิตี ให้กลายเป็นทีมฟุตบอลชั้นนำของอังกฤษ
ถ้านับสะสมถึงปี 2020 มีการทุ่มเงินซื้อตัวนักเตะฝีเท้าดีไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 76,000 ล้านบาท
รวมทั้งสร้างศูนย์ฝึกซ้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อช่วยดึงศักยภาพของผู้เล่น และทีมงานโค้ชให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด
การทุ่มงบขนาดนี้ ส่งผลให้แมนเชสเตอร์ ซิตี คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ ในฤดูกาล 2011-2012

ต่อมา Abu Dhabi United Group ต้องการยกระดับแมนเชสเตอร์ ซิตี ให้มีชื่อเสียงโด่งดังและมีฐานแฟนบอลอยู่ทั่วโลก เหมือนกับยักษ์ใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เรอัลมาดริด หรือบาร์เซโลนา
พวกเขาจึงวางแผนขยายตลาด ด้วยกลยุทธ์การสร้างเครือข่าย “สโมสรลูก” ตามทวีปต่าง ๆ ที่นำเอาโมเดลบริหารทีม แบบแมนเชสเตอร์ ซิตี ไปประยุกต์ใช้ เสมือนกับบริษัทไปเปิดสาขาธุรกิจในต่างประเทศ
โดยในปี 2013 ได้ก่อตั้ง City Football Group ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิง มีผู้ถือหุ้น คือ
- Abu Dhabi United Group ถือหุ้น 78%
- China Media Capital พาร์ตเนอร์จากประเทศจีน ถือหุ้น 12%
- Silver Lake พาร์ตเนอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ถือหุ้น 10%
เริ่มแรก บริษัทจะเข้าไปซื้อกิจการสโมสรขนาดกลางหรือเล็ก ที่มูลค่าไม่สูงมากนัก ในประเทศที่ตลาดฟุตบอลเติบโต
แล้วทำการปรับภาพลักษณ์ให้คล้ายแมนเชสเตอร์ ซิตี ตามความเหมาะสม เช่น เพิ่มคำว่า “ซิตี” ในชื่อ หรือใช้ “สีฟ้า” เป็นสีประจำทีม
จากนั้น ก็จะลงทุนพัฒนาสโมสร ให้ก้าวขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของประเทศตนเอง
ด้วยแนวทางและองค์ความรู้จากแมนเชสเตอร์ ซิตี ซึ่งบริษัทมองว่า หากประสบความสำเร็จ น่าจะทำให้แฟนบอลท้องถิ่น หันมาติดตามสโมสรแม่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบัน สโมสรในเครือ City Football Group มีอยู่ทั้งหมด 10 สโมสร ประกอบด้วย
- แมนเชสเตอร์ ซิตี ในประเทศอังกฤษ (ถือหุ้น 100%)
- เมลเบิร์น ซิตี ในประเทศออสเตรเลีย (ถือหุ้น 100%)
- มอนเตวิเดโอ ซิตี ทอร์เก ในประเทศอุรุกวัย (ถือหุ้น 100%)
- ทรัวส์ ในประเทศฝรั่งเศส (ถือหุ้น 100%)
- ลอมเมล ในประเทศเบลเยียม (ถือหุ้น 99%)
- นิวยอร์ก ซิตี ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ถือหุ้น 80%)
- มุมไบ ซิตี ในประเทศอินเดีย (ถือหุ้น 65%)
- คิโรนา ในประเทศสเปน (ถือหุ้น 47%)
- เสฉวน จิวหนิว ในประเทศจีน (ถือหุ้น 29%)
- โยโกฮามา เอฟ มารินอส ในประเทศญี่ปุ่น (ถือหุ้น 20%)
นอกจากนั้น ประโยชน์อีกข้อหนึ่งที่ City Football Group เล็งเอาไว้
คือ การสร้างฐานข้อมูลนักเตะทั่วโลก ภายใต้สโมสรในเครือ ซึ่งจะทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี สามารถค้นหาดาวรุ่งมาร่วมทีม เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายซื้อตัวนักเตะลงได้ในระยะยาว
หากนักเตะคนไหน ยังไม่อยู่ในทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี ก็อาจส่งให้สโมสรลูกยืมตัวก่อน เพื่อพัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่องจากการลงสนามแข่งขันจริง และช่วยสร้างผลงานที่ดีให้กับสโมสรในเครือ
หรือถ้านักเตะไม่อยู่ในแผนการทำทีมแล้ว แมนเชสเตอร์ ซิตี หรือสโมสรลูก ก็อาจพิจารณาขายเพื่อทำกำไร
ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์ว่า การที่นักเตะมีประสบการณ์ลงสนามแข่งขันจริงตั้งแต่อายุยังน้อย จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีค่าตัวสูง ต่างจากดาวรุ่งของสโมสรอื่น ที่ส่วนใหญ่มักได้ลงแข่งขันเฉพาะในทีมชุดเล็กเท่านั้น
ทั้งนี้ City Football Group ยังได้เจรจาเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ระดับโลก เช่น SAP เพื่อใช้ซอฟต์แวร์พิเศษ มาวิเคราะห์ผลงานและติดตามพัฒนาการของผู้เล่น
และยังเป็นพาร์ตเนอร์กับ Cisco เพื่อสร้างระบบแพลตฟอร์มติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพภายในเครืออีกด้วย
แล้วปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่เป็นตัวหลัก มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ?
ฤดูกาล 2018-2019 รายได้ 23,900 ล้านบาท กำไร 450 ล้านบาท
ฤดูกาล 2019-2020 รายได้ 21,400 ล้านบาท ขาดทุน 5,600 ล้านบาท
ฤดูกาล 2020-2021 รายได้ 25,500 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท
แม้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้รายได้จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันในสนามหายไป จนกระทั่งขาดทุนหนัก
แต่แมนเชสเตอร์ ซิตี ก็กลับมาเติบโตสูงกว่าเดิม และมีกำไร เนื่องจากทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก และเข้ารอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในฤดูกาล 2020-2021
ซึ่งรายได้ระดับดังกล่าว แซงหน้าคู่แข่งร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้เป็นครั้งแรก โดยเมื่อฤดูกาลก่อน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ล่าสุด แมนเชสเตอร์ ซิตี ถูกประเมินมูลค่าสโมสรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขึ้นมาใกล้เคียงกับสโมสรที่เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ ไม่ว่าจะเป็น เรอัลมาดริด, บาร์เซโลนา
หรือแม้แต่คู่ปรับร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด..
จากการจัดอันดับมูลค่าสโมสรฟุตบอล ประจำปี 2021 โดยเว็บไซต์ Brand Finance
อันดับ 1 เรอัลมาดริด มูลค่า 49,500 ล้านบาท
อันดับ 2 บาร์เซโลนา มูลค่า 49,000 ล้านบาท
อันดับ 3 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มูลค่า 43,700 ล้านบาท
อันดับ 4 แมนเชสเตอร์ ซิตี มูลค่า 43,300 ล้านบาท
ซึ่งหากแมนเชสเตอร์ ซิตี ยังทำผลงานในสนามฟุตบอลได้ดี และคว้าแชมป์รายการสำคัญต่อเนื่อง
ประกอบกับ การเจาะตลาดผ่านเครือข่ายสโมสรลูก ที่นับวันจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจมีโอกาสครองตำแหน่งสโมสรฟุตบอลมูลค่าสูงสุดในโลก ได้ในไม่ช้า
สิ่งที่เราเห็นจากเรื่องนี้คือ เจ้าของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี กำลังเอาความสำเร็จในอังกฤษ ไปใช้เป็นต้นแบบในการขยายตลาดในต่างประเทศ
ลักษณะการทำแบบนี้ ก็คล้าย ๆ กับการเอาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในตลาดประเทศหนึ่ง ไปทำซ้ำในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเติบโต คล้าย ๆ การขยายแฟรนไชส์ของธุรกิจ
ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ที่ก็มีคนคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลไม่น้อยหน้าชาติอื่น
ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจเห็น City Football Group ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลในบ้านเรา
แล้วสร้างเป็น “แมนเชสเตอร์ ซิตี สาขาประเทศไทย” ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.linkedin.com/pulse/city-football-group-strategy-industry-manolo-obaya
-https://medium.com/the-buildup-play/city-football-group-the-building-of-an-empire-3cbba09e948f
-https://en.wikipedia.org/wiki/City_Football_Group
-https://sqaf.club/how-much-have-man-city-spent-since-2008/
-https://www.cityfootballgroup.com/umbraco/surface/MediaDownload/Download?file=508a15f498db4be9a8d8d800106454df
-https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/man-city-manchester-united-revenue-22745689
-https://brandirectory.com/rankings/football/table
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.