สงคราม กำลังเร่งให้โลก หันไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น

สงคราม กำลังเร่งให้โลก หันไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น

15 มี.ค. 2022
สงคราม กำลังเร่งให้โลก หันไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น /โดย ลงทุนแมน
ประเทศในสหภาพยุโรปต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่มีสัดส่วนมากถึง 40%
แต่ดูเหมือนว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กำลังผลักดันให้หลายประเทศ ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
จากเดิมสหภาพยุโรปมีแผนที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 0% ภายในปี 2050
แต่ดูเหมือนว่าสงครามในตอนนี้ กำลังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนเร็วขึ้นกว่าเดิม
แล้วสงครามที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานบนโลกอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศรัสเซีย เป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่กว่า 17 ล้านตารางกิโลเมตร

ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 8 ของโลก ทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่กุมทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ไว้มากมาย

โดยข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของรัสเซียระบุว่า ในปี 2019
ทรัพยากรที่รัสเซียมีทั้งหมด ตีเป็นมูลค่ากว่า 6 ใน 10 ของ GDP ทั้งประเทศ

จึงไม่แปลกเลย ที่ประเทศรัสเซีย จะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่

- ส่งออกก๊าซธรรมชาติ เป็นอันดับ 1 ของโลก
- ส่งออกน้ำมันดิบ เป็นอันดับ 2 ของโลก
- ส่งออกถ่านหิน เป็นอันดับ 3 ของโลก

นอกจากนั้น ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียครอบครองอยู่ ยังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
และคิดเป็นถึง 1 ใน 5 ของปริมาณสำรองทั้งหมดบนโลกเลยทีเดียว
โดยลูกค้าหลักของรัสเซีย ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากประเทศที่มีอากาศหนาวและอยู่ติดกันอย่าง “กลุ่มสหภาพยุโรป” ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า และให้ความอบอุ่นในบ้านเรือน
รู้หรือไม่ว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติกว่า 40% ที่ยุโรปใช้ทั้งหมด ถูกนำเข้ามาจากรัสเซียเพียงประเทศเดียว
ในขณะที่บางประเทศ ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 100% เต็ม เลยด้วยซ้ำ
จากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนนั้น ได้สร้างความกังวลให้เกิดขึ้นกับกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก
และแม้ว่าที่ผ่านมา สหภาพยุโรปจะมีความขัดแย้งกับรัสเซีย และมีข้อพิพาทระหว่างกันมาเป็นระยะ
แต่สหภาพยุโรปก็ไม่สามารถตอบโต้รัสเซียได้อย่างเต็มที่ เพราะก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย
คอยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและสร้างความอบอุ่นให้กับประชากรกว่า 450 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการของรัสเซียที่หยุดส่งก๊าซธรรมชาติชั่วคราว รวมถึงมาตรการแบนการส่งออกพลังงานจากรัสเซียของชาติตะวันตก
ก็ทำให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้น
อีกความหมายหนึ่งก็คือ ต้นทุนทางพลังงานในยุโรป ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยทันที
เรื่องดังกล่าว จึงผลักดันให้ยุโรปจำเป็นต้องหาวิธี ให้ยืนได้ด้วยตัวเอง
โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะจากคู่แข่งอย่างรัสเซีย
และแหล่งพลังงาน ที่จะเข้ามาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็คือ..
“พลังงานหมุนเวียน”
พลังงานหมุนเวียนนั้นสามารถหาได้ทั่วไปตามธรรมชาติ
หมายความว่าแต่ละประเทศ สามารถสร้างแหล่งพลังงานขึ้นมา เป็นของตัวเองได้
ประกอบกับกลุ่มสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 55% ภายในปี 2030 และ 0% ภายในปี 2050
ทำให้ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีการพัฒนาเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ หรือแม้แต่ความร้อนจากใต้พิภพ
นำโดยไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน ที่มีสัดส่วนการผลิตพลังงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว
และเมื่อถูกเร่งด้วยภาวะสงคราม การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลของหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้กลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางพลังงานอีกครั้ง
จึงมีการออกร่างมาตรการที่เรียกว่า “REPowerEU” ซึ่งมีเป้าหมายคือตัดขาดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และทำให้สหภาพยุโรปมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงภายในปี 2030
โดยร่างดังกล่าวครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า
การขยายความสามารถในการกักเก็บพลังงานให้มากขึ้น
การหาแหล่งนำเข้าพลังงานแห่งใหม่
รวมถึงเร่งเข้าสู่ประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ให้เร็วยิ่งขึ้น
แล้วทำไม การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน
ตามแผนเดิมมีระยะเวลาที่ยาวนานตั้งหลายสิบปี
แต่ตอนนี้ กลับดูเหมือนจะเร่งให้เร็วขึ้นได้ เมื่อมีสงคราม ?
ก็ต้องบอกว่าหัวใจสำคัญของเรื่องนี้เลยก็คือ “ราคา” และ “เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น”
โดยปกติแล้ว พลังงานหมุนเวียนที่เราคุ้นเคย คือ พลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์ ต่างก็มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
อย่างเช่น พลังงานลม ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ที่นิยมมากที่สุดในยุโรป
ก็เพราะตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ที่มีแรงลมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 8 เมตรต่อวินาที
ซึ่งถือว่า มีความเหมาะสมที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้า
ในขณะที่ในประเทศไทยมีแรงลมเฉลี่ยเพียง 4 เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ทำให้สถานที่สำหรับติดตั้งกังหันลมในประเทศไทยมีจำกัด และหาได้ยากกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ
ดังนั้นแต่ละประเทศที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน ต่างก็ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เงินลงทุนคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด

อีกทั้งเมื่อเทียบกันในเรื่องของราคาแล้ว
ด้วยต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานหมุนเวียน ยังคงมีราคาแพงกว่าพลังงานฟอสซิล
แต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ก็ได้ผลักดันให้ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้นอย่างมาก
จึงกลายเป็นตัวเร่งให้แต่ละประเทศวิ่งเข้าหาพลังงานหมุนเวียนไปเลย
เพราะไหน ๆ เชื้อเพลิงดั้งเดิมก็แพงแล้ว สู้เราไปลงทุนระยะยาวในพลังงานอนาคตไปเลยดีกว่า
หลายประเทศในยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด
และหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมากกว่าแต่ก่อน
ซึ่งเมื่อเกิดการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะถูกลง
ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน
ก็จะสามารถเข้าถึงพลังงานเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปยังคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะผลกระทบจากสงครามมีแนวโน้มจะทำให้ยุโรปขาดแคลนพลังงานสำหรับฤดูหนาวในปีนี้
หลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและอิตาลีที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่กว่าครึ่งถูกนำเข้ามาจากรัสเซีย จึงยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ไปก่อน
ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปเพิ่มปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกา และถ่านหินจากออสเตรเลีย
อีกหนึ่งทางเลือกก็เช่นในประเทศเยอรมนี ที่ได้กลับมาพิจารณาต่ออายุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
รวมถึงยังเปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่า ที่เคยหยุดดำเนินการไปแล้ว
ทั้ง ๆ ที่สาเหตุที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ก็เพราะกังวลเรื่องอุบัติเหตุและการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี
ถึงตรงนี้ ก็คงพอเห็นถึงผลกระทบอีกมุมหนึ่งที่เกิดจากสงคราม จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ซึ่งการที่โลกเราหันไปใช้แหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดีต่อทุกชีวิตบนโลก
แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ควรเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว
ไม่ใช่ต้องรอให้มีสงคราม ถึงจะคิดได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.dw.com/en/will-war-fast-track-the-energy-transition/a-61021440
-https://www.eea.europa.eu/ims/share-of-energy-consumption-from
-https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/IP_22_1511
-https://www.bloomberg.com/news/features/2022-03-08/can-europe-weaken-putin-s-power-over-global-energy
-https://www.theguardian.com/environment/2022/mar/04/ukraine-war-european-reappraisal-energy-supplies-coal-renewables
-https://www.nytimes.com/2022/03/04/climate/ukraine-russia-fossil-fuels.html
-https://theconversation.com/will-russias-invasion-of-ukraine-push-europe-towards-energy-independence-and-faster-decarbonisation-177914
-https://www.longtunman.com/35627
-https://www.longtunman.com/31410
-https://www.spglobal.com/commodity-insights/en/market-insights/latest-news/coal/031022-australias-record-high-thermal-coal-prices-here-to-stay-amid-sweeping-european-demand
-http://reca.or.th/wind/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.