กรณีศึกษา ภาษีลดโลกร้อน ของยุโรป

กรณีศึกษา ภาษีลดโลกร้อน ของยุโรป

3 ส.ค. 2021
กรณีศึกษา ภาษีลดโลกร้อน ของยุโรป /โดย ลงทุนแมน
สหภาพยุโรปหรือ EU ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณที่ปล่อยในปี 1990
นั่นจึงทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่ม EU ได้ลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเครื่องมือที่ EU ใช้ผลักดันบริษัทเอกชน ก็คือ ETS และ CBAM ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ภาษีที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด
แล้วทั้ง ETS และ CBAM มีหลักการทำงานอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ETS หรือ EU Emissions Trading System เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2005
ETS เป็นโครงการซื้อขายเครดิตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศโครงการแรกของโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายในสหภาพยุโรป หรือ EU ด้วยกันเอง
โดยหลักการก็คือ ผู้ประกอบการแต่ละคน จะถูกกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่สามารถปล่อยได้ ซึ่งเกณฑ์ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม
หากบริษัทไหนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าปริมาณเครดิตที่ได้รับ
บริษัทแห่งนั้นก็จำเป็นต้องไปหาซื้อ “เครดิตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” จากผู้ประกอบการรายอื่น
ที่มีเครดิตเหลือมากพอที่จะขายต่อได้ หรือหากหาซื้อเครดิตไม่ได้ก็ต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก
ซึ่งโครงการนี้ได้บังคับใช้กับธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างเช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงหลอมเหล็ก รวมไปถึงสายการบิน
นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ก็จะถูกปรับลดจำนวนเครดิตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะได้รับในแต่ละปี
นั่นจึงทำให้ราคาเครดิตที่มีขายในตลาดกลางเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายแย่งกันซื้อเนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงค่าปรับที่มีมูลค่าสูงกว่ามาก
เมื่อทั้งค่าปรับและเครดิตที่มีขายต่างมีราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจึงต้องหาวิธีลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ไม่ว่าจะด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ตาม
แต่ในอีกมุมหนึ่ง โครงการนี้ก็กระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรปไม่น้อย เพราะค่าใช้จ่ายในการควบคุมก๊าซเรือนกระจกทำให้สินค้าที่ผลิตภายในยุโรปมีต้นทุนสูง
จึงทำให้สินค้าในกลุ่มประเทศ EU เสียเปรียบสินค้าที่ผลิตจากประเทศนอกกลุ่มยุโรปที่มีราคาถูกกว่า และยังทำให้ผู้ประกอบการในประเทศย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่มีค่าปรับในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางกลุ่ม EU จึงแก้เกมด้วยการออกข้อกำหนดใหม่ที่มีชื่อว่า “Carbon Border Adjustment Mechanism” หรือ “CBAM” ที่จะบังคับใช้ในปี 2026 กับผู้ที่นำเข้าสินค้าจากภายนอกมาขายในกลุ่ม EU
โดยหลักการของ CBAM คือ ผู้นำเข้าต้องซื้อใบอนุญาตรับรองเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้าตามที่กำหนด ซึ่งราคาของใบอนุญาตจะสัมพันธ์กับราคาของค่าปรับและราคาเครดิตที่ซื้อขายในระบบของ ETS
และในขั้นแรกจะเริ่มใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจเหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และกิจการผลิตไฟฟ้า
ซึ่งระบบที่คล้ายกับ CBAM เริ่มมีการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและแคนาดาเพื่อพิจารณาประกาศใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 ของโลกก็กำลังพิจารณากฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน
แล้วโครงการ CBAM จะส่งผลกระทบกับใคร ?
ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก CBAM ก็คือผู้ประกอบการในยุโรปที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นจากราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวสอดคล้องกับต้นทุนที่ผู้ประกอบการในประเทศต้องจ่ายไปในระบบ ETS
ในทางกลับกัน ผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แล้วนำมาขายในยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเหล็ก อย่างเช่น ประเทศรัสเซียและตุรกี
แล้วถ้ากลับมาดูสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไป EU จะพบว่า เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย และซีเมนต์ มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทำให้ไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ CBAM เลย
แต่ทว่าเป้าหมายของ EU คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 0 ภายในปี 2050 และวิธีเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในหลายประเทศ
นั่นหมายความว่าต่อให้เป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหรือไม่ได้ส่งออกไปยัง EU
แต่ในอนาคตก็อาจจะได้รับผลกระทบจากข้อบังคับดังกล่าวอยู่ดี
แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ก็มีภาคเอกชนรวมตัวกันจัดตั้ง “Carbon Markets Club” เพื่อเป็นตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต และยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย
และนี่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ในบ้านเราเริ่มตื่นตัวไปกับเทรนด์ของภาวะโลกร้อน
เพราะสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ ไม่ได้ส่งอีเมลหรือลงโฆษณาในโซเชียลมีเดียเพื่อให้เรารู้ตัว
แต่มักจะมาในรูปของภัยพิบัติต่าง ๆ
อย่างเช่นที่ประเทศจีนตอนนี้ ที่กำลังพบเจอกับฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี
ก็เป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/qanda_21_3661
-https://ec.europa.eu/clima/policies/ets_en
-https://www.statista.com/statistics/1129472/leading-exporters-of-finished-steel-to-the-eu/
-https://www.longtunman.com/30943
-https://world101.cfr.org/global-era-issues/climate-change/who-releases-most-greenhouse-gases
-http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx
-https://www.thansettakij.com/economy/488659
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.