สงคราม อาจทำให้ “ดอลลาร์สหรัฐ” ได้รับความนิยม ลดลง

สงคราม อาจทำให้ “ดอลลาร์สหรัฐ” ได้รับความนิยม ลดลง

23 มี.ค. 2022
สงคราม อาจทำให้ “ดอลลาร์สหรัฐ” ได้รับความนิยม ลดลง /โดย ลงทุนแมน
ที่ผ่านมา การที่ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินของโลก ทำให้นโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกา
รวมถึงการคว่ำบาตรต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ต่างอะไรไปจากขีปนาวุธในระบบเศรษฐกิจ
แต่จากการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาแทรกแซงในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ก็อาจนำไปสู่ความนิยมในตัวดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มลดน้อยลงไป
ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
โรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ เปิดรับสมัครเรียนคอร์สภาษาอังกฤษช่วงเสาร์ – อาทิตย์
นักเรียนอายุ 3-5 ปี ทดลองเรียนฟรี และอายุ 6-15 ปี ทดสอบภาษาอังกฤษฟรี
สอบถามโทร. 02-5130270-1 ต่อ 244 หรือ www.facebook.com/weekendschool.sis
╚═══════════╝
ปัจจุบัน ดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงิน ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ และการค้าขายระหว่างประเทศทั่วทุกมุมโลก
หากเรามาดูข้อมูลจาก SWIFT หรือสมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก
ในปี 2021 จะพบว่า ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ถูกใช้อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
มากถึง 4 ใน 10 ของธุรกรรมทั้งหมด
ที่เหลือก็จะเป็น
- ยูโร 36.7%
- ปอนด์สเตอร์ลิง 5.9%
- หยวน 2.7%
แต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปีนี้ อาจจะทำให้สัดส่วนการใช้สกุลเงินเปลี่ยนไป
จากเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซง ในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
โดยอายัดและจำกัดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตัวเองได้นั้น
ก็มีส่วนทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงการกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขั้วตรงข้าม
เริ่มลดสัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และหันไปเพิ่มการถือครองเงินสกุลอื่นมากขึ้น
โดยข้อมูลจาก IMF พบว่า ขณะนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลก
นอกเหนือจากทองคำแล้ว ก็จะอยู่ในรูปของ 5 สกุลเงินหลัก ดังนี้
- ดอลลาร์สหรัฐ 59.1%
- ยูโร 20.5%
- เยน 5.8%
- ปอนด์สเตอร์ลิง 4.8%
- หยวน 2.7%
แต่ด้วยสถานการณ์ของอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน ที่ทั้งสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร รวมถึงสหภาพยุโรป มีนโยบายลดการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติใหญ่สุดในโลก
กลายมาเป็นข้อสังเกตที่ว่า หากธุรกรรมระหว่างรัสเซียกับประเทศคู่ค้าตะวันตกลดลงอย่างต่อเนื่อง และกินระยะเวลานาน
เงินหยวนของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดในโลก และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรง จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเข้ามากินส่วนแบ่งการทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์สหรัฐได้
เพราะก่อนหน้านี้ บริษัท Gazprom ของรัสเซีย และ China National Petroleum Corporation ของจีน
ก็ได้มีการลงนามในสัญญาระยะยาวฉบับที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลค่า 3.9 ล้านล้านบาท
เป็นสัญญาว่าด้วยเรื่องของการจัดหาก๊าซธรรมชาติปีละ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี
โดยสัญญาดังกล่าวจะซื้อขายกันในสกุลเงินยูโรแทน เพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่ทั้งสองประเทศพยายามแยกตัวออกจากดอลลาร์สหรัฐด้วย
รวมถึงล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย ก็เตรียมตั้งราคาน้ำมันดิบในส่วนที่ขายให้กับจีน
ให้เป็นสกุลเงินหยวนแทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกใช้มากว่า 40 ปีอีกด้วย
โดยจีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย
และจีนก็นำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากที่สุดถึง 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รองลงมา ก็เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย 1.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากเรื่องการเป็นลูกค้ารายใหญ่แล้ว จีนก็ยังช่วยซาอุดีอาระเบียในเรื่องของเทคโนโลยีขีปนาวุธ, การทหาร รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ เช่นกัน
ในขณะที่ลูกค้ารายใหญ่คนเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา ก็กลับมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียลดลงอย่างมาก
ในช่วงทศวรรษ 1990 สหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แต่ล่าสุดในเดือนธันวาคม ปี 2021 ปริมาณการนำเข้าเหลือไม่ถึง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น
เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงหลังสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน
ที่เรียกว่า Shale Oil จนผันตัวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
จากเหตุการณ์เหล่านี้ จะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ต่างอะไรไปจากตัวเร่งที่ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมามองทั้งความมั่งคงทางเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงพลังงาน ในประเทศของตัวเอง
และจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความนิยมของดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะลดลง
ในทางกลับกัน เงินหยวน แม้จะยังมีสัดส่วนการนำมาใช้ทำธุรกรรมที่น้อย แต่ความต้องการก็ดูจะเพิ่มขึ้น
หากดูจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2020
ประเทศจีน จะเป็นอันดับ 1 ของโลก
โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 170 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็นการนำเข้า 80 ล้านล้านบาท และส่งออก 90 ล้านล้านบาท
มากกว่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นอันดับ 2 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 163 ล้านล้านบาท
เมื่อเงินหยวนมีความต้องการมากขึ้น ค่าเงินหยวนก็จะแข็งขึ้นตามหลักของอุปสงค์อุปทาน
และมีโอกาสที่หลายประเทศ จะมีการเพิ่มสัดส่วนเงินหยวน ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
แล้วเงินหยวนจะขึ้นมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ จนกลายเป็นสกุลเงินหลัก ได้หรือไม่ ?
ในเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นไปได้ยากหรืออาจจะไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เพราะการเป็นสกุลเงินหลักของโลก ไม่ได้วัดกันที่มูลค่าการค้าขายเพียงอย่างเดียว
สิ่งสำคัญคือ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ที่จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ
รวมถึงต้องมีความโปร่งใสของตลาดการเงิน และความมั่นคงของนโยบายการเงินด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นการเติบโตขึ้นมาของเศรษฐกิจจีน
ซึ่งควบคู่ไปกับการที่เงินหยวนถูกใช้งานมากขึ้น
แต่ถ้าถามว่าเงินหยวนจะขึ้นมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลกได้หรือไม่
ก็คงสรุปได้ว่ายังห่างไกลกันอีกมาก..
╔═══════════╗
โรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ เปิดรับสมัครเรียนคอร์สภาษาอังกฤษช่วงเสาร์ – อาทิตย์
สำหรับเด็กเล็กเน้นฝึกการใช้ภาษาอังกฤษ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านกิจกรรมในชั้นเรียน
และเด็กโตเน้นสอนคำศัพท์ และการ Presentation ด้วยความมั่นใจ
นักเรียนอายุ 3-5 ปี ทดลองเรียนฟรี และอายุ 6-15 ปี ทดสอบภาษาอังกฤษฟรี
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.