ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถของเรา อย่างไร ?

ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถของเรา อย่างไร ?

27 มี.ค. 2022
ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถของเรา อย่างไร ? /โดย ลงทุนแมน
ไม่นานมานี้ Fed หรือธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประกาศเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% และคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอีก 7 ครั้งภายในปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ซึ่งการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้สถาบันการเงิน ต่างปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทั้งสินเชื่อเงินกู้ต่าง ๆ ในระบบ รวมถึงการฝากเงิน จนทำให้ต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น
แล้วดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางประกาศออกมานั้น
ส่งผลกระทบถึงดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน หรือรถยนต์ ที่เราถืออยู่ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากพูดถึงเงินเฟ้อ
จริง ๆ แล้ว มันสามารถเกิดขึ้นได้ จาก 2 สาเหตุ
1. Cost-push Inflation
คือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น
2. Demand-pull Inflation
คือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น
ซึ่งเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมของทั้ง 2 อย่าง เข้าด้วยกัน
- Cost-push จากต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงานอย่างราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
- Demand-pull จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดประเทศกันอีกครั้ง
จนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้น 5.28% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นั่นจึงทำให้แนวโน้มของเงินเฟ้อตลอดปี 2565 อาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดกรอบของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปีอยู่ระหว่าง 1 ถึง 3%
ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ตัวเลขเงินเฟ้อมีค่าสูงเกินไป เครื่องมือที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้เพื่อลดเงินเฟ้อ ก็คือการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเพิ่มต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ เพื่อชะลอการบริโภค
โดยการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางนั้น จะส่งผลกระทบไปยัง 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ
1. อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
ซึ่งจะปรับตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับการปรับดอกเบี้ยนโยบาย
หากพันธบัตรรัฐบาล มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนบางส่วนก็จะหันมาให้ความสนใจและนำเงินมาซื้อพันธบัตร
นี่จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ธนาคารกลางใช้ดึงเงินสดหรือสภาพคล่องออกจากระบบ
เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง
2. อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
เริ่มจากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลาง จ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝากไว้
รวมถึงอัตราที่ธนาคารกลาง เก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน
จะมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย
อีกทั้ง ธนาคารพาณิชย์เอง ก็มีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยที่รับฝากเงิน หรือปล่อยกู้สินเชื่อ โดยอ้างอิงไปกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งดอกเบี้ยแต่ละประเภทก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน
หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น
ผู้คนก็จะนำเงินมาฝากและเก็บออมในสถาบันการเงินมากขึ้น
ซึ่งเป็นการลดปริมาณของเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ
และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ธุรกิจก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
มีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเวลาต่อมา
จุดนี้เองที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป รวมถึงเศรษฐกิจระดับฐานราก
ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หากจะให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เราก็ต้องดูเรื่องของดอกเบี้ยที่ธนาคารปล่อยกู้
ซึ่งสำหรับแต่ละธนาคารที่ปล่อยกู้ ก็จะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ 2 ประเภทคือ
1. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ (Fixed Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา เช่น สินเชื่อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
2. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนและกำไรของผู้ปล่อยกู้แต่ละแห่ง ซึ่งมักจะพบในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์
หากเราขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจากธนาคารแห่งหนึ่ง และได้รับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
เช่น MRR - 2 หรือ Minimum Retail Rate -2 หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี -2 ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี
นั่นหมายความว่า หาก MRR หรืออัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับลูกค้ารายย่อย มีค่าเท่ากับ 5 ดอกเบี้ยในแต่ละเดือน เราก็จะนำไปหักออก 2 โดยเราผ่อนบ้านเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี
แต่หากธนาคารมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งผลให้ MRR ปรับจาก 5 เป็น 7
อัตราดอกเบี้ยที่เราต้องผ่อน ก็จะลอยตัว ทำให้ยอดผ่อนชำระที่เราผ่อนต่อเดือนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ส่งผลให้ยอดผ่อนต่องวดสูงขึ้น
หรือในกรณีที่ยอดผ่อนชำระอาจจะเท่าเดิม แต่สินเชื่อที่เรามีเป็นสินเชื่อประเภทลดต้นลดดอกและไม่กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ
เราก็จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น คือเงินที่ผ่อนชำระนั้นถูกจ่ายเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น และเป็นส่วนของเงินต้นลดน้อยลง จึงทำให้ระยะเวลาผ่อนชำระถูกยืดออกไปอีก นั่นเอง
โดยเรื่องดังกล่าว ก็ยังส่งผลกระทบกับผู้ที่กำลังจะขอสินเชื่อใหม่อีกด้วย
เพราะดอกเบี้ยที่แพงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น
ทำให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่จะกู้เงินมาลงทุนก็อาจจะชะลอโครงการหรือลดขนาดการลงทุน
หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ก็อาจจะลดขนาดของสินเชื่อและกู้ยืมตามที่มีกำลังจ่าย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดการหดตัวของการจับจ่ายใช้สอยนี้เอง ที่ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง
แต่หากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นรุนแรงเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มจะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง จนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนได้ เช่นกัน
จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าสินเชื่อบ้าน รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเงินฝากในบัญชีธนาคารของเรา
ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น
ต่างกันที่ว่าเมื่อวันที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น เราอยู่ในสถานะใด
ระหว่างเจ้าหนี้ ซึ่งได้ประโยชน์เพราะรายได้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น
หรือลูกหนี้ ที่เงินผ่อนแต่ละงวด กลับต้องจ่ายเป็นดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าเดิม..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewPolicyRate.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyKnowledge/Pages/TransmissionMechanism.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/default.aspx
-https://www.longtunman.com/35086
-http://www.price.moc.go.th/price/cpi/index_new.asp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.