DeFi คืออะไร ?

DeFi คืออะไร ?

30 มี.ค. 2022
[ประเด็นที่สำคัญ] DeFi คือระบบการเงินแบบใหม่ ที่ตัดตัวกลางในขั้นตอนทำธุรกรรมออกไป โดยแทนที่ด้วยคำสั่งโปรแกรมที่เรียกว่า Smart Contract ในการทำธุรกรรมแทน
โดยปัจจุบัน DeFi มีบริการด้านการเงินครอบคลุม ตั้งแต่การใช้จ่าย ออมเงิน กู้ยืม ประกัน ไปจนถึงการลงทุน
ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่พึ่งพาสถาบันการเงินในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝากออมทรัพย์ การค้ำประกัน หรือการกู้ยืม
โดยสถาบันเหล่านี้ ถือเป็นบุคคลที่ 3 ที่มีอำนาจในการควบคุมบัญชีทั้งหมดของเรา และทำหน้าที่เป็นตัวกลางเวลาที่เราทำธุรกรรม
ข้อดีคือ มีความน่าเชื่อถือและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง
ทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า Centralized Finance หรือ CeFi หมายถึง ระบบการเงินแบบรวมศูนย์
อย่างไรก็ตาม “ตัวกลาง” ก็ได้เริ่มถูกละลายหายไปในหลายอุตสาหกรรมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนมาถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเราเรียกมันว่า Decentralized Finance หรือ DeFi
DeFi ได้เข้ามาตัดสถาบันการเงินหรือตัวกลางในขั้นตอนการทำธุรกรรมทั้งหมดออกไป
โดยแทนที่ด้วยการทำงานของ Code หรือรหัสคำสั่งโปรแกรมที่เรียกว่า Smart Contract
ซึ่งจะระบุว่าเราเท่านั้นที่สามารถทำธุรกรรมของตนเองได้
ทั้งนี้ DeFi ถูกพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีหน้าที่ประกาศธุรกรรมที่เราทำให้ทุกคนในระบบรับรู้ไปด้วยกัน แปลว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครสามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลของเราได้
นอกจากนี้ อีกข้อได้เปรียบของ DeFi ก็คือ ตัดค่าธรรมเนียมของบุคคลที่ 3 ทิ้งไป ทำให้เราทำธุรกรรมได้ถูกลง และธุรกรรมสามารถทำได้รวดเร็ว เพราะเป็นคำสั่งโปรแกรมอัตโนมัติที่ทำได้ทันที
ตัวอย่างบริการของ DeFi
- Compound แพลตฟอร์มสำหรับฝากและกู้ยืมเงิน
ทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารตรงที่รับฝากเงินและนำไปปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืม
จะต่างกันตรงที่เพราะ DeFi จะใช้คริปโทเคอร์เรนซี เป็นตัวค้ำประกัน ดังนั้นการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันบน DeFi ก็จะทำได้โดยอัตโนมัติ และสามารถบังคับขายได้ทันที
- Uniswap แพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนสกุลคริปโทเคอร์เรนซี
เปรียบเสมือน Superrich ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
- Synthetix ให้บริการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลที่เลียนแบบสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นหุ้น น้ำมัน ทองคำ ซึ่งทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากทั้งหมดนี้ พอสรุปได้ว่า ระบบ DeFi มีบริการด้านการเงินครอบคลุม ตั้งแต่การใช้จ่าย ออมเงิน กู้ยืม ประกัน ไปจนถึงการลงทุน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าระบบ DeFi เพิ่งจะเกิดขึ้นมาไม่นานเมื่อเทียบกับระบบการเงินหลัก
ซึ่งระหว่างนี้มันยังมีช่องว่างอีกมาก และกฎหมายในหลายประเทศ ก็ยังไม่ได้คุ้มครองเหล่าผู้ลงทุน
Tag: DeFi
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.