ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร สำคัญต่อประเทศมากแค่ไหน

ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร สำคัญต่อประเทศมากแค่ไหน

31 มี.ค. 2022
ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร สำคัญต่อประเทศมากแค่ไหน /โดย ลงทุนแมน
- รัสเซียถูกคว่ำบาตรให้เอาเงินสำรองมาใช้ไม่ได้
- ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงิน ทุนสำรองหายเกลี้ยง จนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
- ศรีลังกา กำลังขาดแคลนทุนสำรอง ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันได้เพียงพอ จนนำไปสู่วิกฤติด้านพลังงาน
- ทุนสำรองระหว่างประเทศเวเนซุเอลาเหลือน้อย ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก
มาถึงตอนนี้ ทุกคนคงสงสัยแล้วว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร สำคัญต่อประเทศมากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่อยากลงทุนเอง?
เริ่มต้นลงทุนได้อย่างมั่นใจกับ Merkle Capital ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายแรกในไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
ให้คุณเลือกลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย
เริ่มต้นลงทุนผ่าน StockRadars ขั้นต่ำ 100,000 บาท ได้ที่นี่ https://bit.ly/3DmIFJL
รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3uBE82f
╚═══════════╝
ทุนสำรองระหว่างประเทศ อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ
เงินตราต่างประเทศที่ไม่ได้ถูกแลกกลับคืน หลังจากการที่มีคนนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ
คือพอมีคนนำเงินตราต่างประเทศมาแลก
ธนาคารกลางท้องถิ่นก็จะพิมพ์เงินตราท้องถิ่นออกมา เพื่อให้บุคคลนั้นแลกไปใช้ลงทุนหรือซื้อสินค้าและบริการในท้องถิ่น
เมื่อคนที่มาแลกเงิน นำเงินตราท้องถิ่นไปใช้จ่ายแล้วไม่แลกคืน หรือแลกคืนน้อยกว่าที่ขอแลกมา
เงินตราต่างประเทศที่อยู่ในธนาคารกลางนั้น ก็จะกลายเป็น “ทุนสำรอง” ไปนั่นเอง
ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นสินทรัพย์ที่ถือครองโดยธนาคารกลาง
ซึ่งจะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ หลากหลายรูปแบบ เช่น
- เงินตรา และสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ
- ทองคำ
- สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ซึ่งเป็นตะกร้าเงินตราต่างประเทศ ที่ประกอบด้วยสกุลเงินหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, หยวนจีน
โดยทุนสำรองระหว่างประเทศมีไว้เพื่อเป็นกันชน สำหรับรองรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศ และสามารถนํามาใช้ประโยชน์ได้ทันทีเมื่อจําเป็น
ยกตัวอย่างเช่น
- นำมาใช้ชดเชยการขาดดุลการชำระเงินของประเทศ
- ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศจำนวนมาก
- ตลาดการเงินขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศแบบฉับพลัน
โดยธนาคารกลาง ซึ่งในประเทศไทยก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและนักลงทุน
ยกตัวอย่าง กรณีการเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ไม่ว่าจะทั้งลงทุนโดยตรงหรือลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล
หากนักลงทุนต่างชาติเหล่านั้น ไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถแลกเงินบาทกลับเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ ก็อาจขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยได้
ย้อนกลับไปก่อนหน้า ในปี 2540 หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า ประเทศไทยถูกกองทุนต่างชาติโจมตีค่าเงินบาท
เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอ การส่งออกเริ่มชะลอตัว เริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด นักลงทุนต่างชาติเริ่มขาดความเชื่อมั่น
เรื่องนี้ทำให้เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่ลูกหนี้ ที่เป็นบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินของไทย ต้องการเงินกู้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐกลับคืน ส่งผลทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐในไทยนั้นสูงขึ้น
ซึ่งตามหลักแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐต่อเงินบาทนั้นต้องแข็งค่า และจะทำให้เงินบาทต้องอ่อนค่าลงในเชิงเปรียบเทียบ
แต่ด้วยความที่ประเทศไทยในตอนนั้น ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แบงก์ชาติต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐจากทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาขายเรื่อย ๆ
แต่การต่อสู้กับกองทุนเก็งกำไรที่โจมตีค่าเงินบาทในตอนนั้น ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยร่อยหรอลงเรื่อย ๆ
สุดท้ายแบงก์ชาติต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด จนเงินบาทนั้นอ่อนค่าทะลุไปมากกว่า 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในชั่วข้ามคืน และนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างที่หลายคนเคยได้ยินกัน..
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ
วันนี้ประเทศไทย มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากแค่ไหน เพียงพอจะรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศหรือไม่ ?
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เท่ากับ 276,772 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้ ทำให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และตัวเลข ณ ตอนนี้ ก็คิดเป็น 10 เท่า ของช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ทั้งนี้ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่น เกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่า
1. สัดส่วนของทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (หนี้ที่ต้องชำระคืนแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศภายใน 1 ปีข้างหน้า) ไม่ควรต่ำกว่า 1 เท่า
2. ควรมีทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่สามารถจ่ายมูลค่าสินค้านำเข้าได้ ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
แล้ววันนี้สัดส่วนดังกล่าวของประเทศไทยเป็นอย่างไร ?
คำตอบคือ ปัจจุบันประเทศไทย มีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น อยู่ที่ 3 เท่า
ขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าสินค้านำเข้า อยู่ที่ 11 เดือน
นั่นหมายความว่า ฐานะการเงินของประเทศไทยเมื่อวัดจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแรงมากพอสมควร
ทีนี้ถ้าเราไปดูประเทศอย่าง ศรีลังกา ที่กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้
รู้ไหมว่า ศรีลังกามีสัดส่วนของทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เพียงแค่ 0.2 เท่า
ขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่สามารถจ่ายมูลค่าสินค้านำเข้าได้อีกเพียง 1.2 เดือน เท่านั้น
จึงไม่แปลกที่ศรีลังกาจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน รัฐบาลมีเงินไม่พอนำเข้า จนกลายเป็นวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนเพื่อผลิตไฟฟ้า จนต้องดับไฟฟ้าทั่วประเทศเป็นบางเวลา
ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าให้กู้ยืมเพิ่มเติม รัฐบาลไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะนำเข้าสินค้า
เรื่องนี้ทำให้สินค้าหลายอย่างในประเทศขาดแคลน ราคาสินค้าหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก
โดยสาเหตุหลักของการขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาตอนนี้นั้น
ก็เนื่องจากการขาดรายได้จากการท่องเที่ยวที่หดหายไป นับตั้งแต่โดนวิกฤติโควิด 19 เล่นงานในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจความสำคัญของ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ไม่มากก็น้อย
สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าวันนี้ เราจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอสมควร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถนิ่งนอนใจกับสถานะในวันนี้ได้
เพราะถ้าวันหนึ่งรายได้ที่เป็นแหล่งเงินตราจากต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว หรือรายได้จากการส่งออกเกิดชะลอตัว จนทำให้ในอนาคตทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ก็อาจทำให้หลายฝ่ายขาดความเชื่อมั่นในประเทศไทยของเรา ได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
อยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่อยากลงทุนเอง?
เริ่มต้นลงทุนได้อย่างมั่นใจ มีผู้เชี่ยวชาญสินทรัพย์ดิจิทัลระดับประเทศดูแล
กับ Merkle Capital ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายแรกในไทย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Management) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ให้คุณเลือกลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกจากบริษัท
เริ่มต้นลงทุนผ่าน StockRadars ขั้นต่ำ 100,000 บาท ได้ที่นี่ https://bit.ly/3DmIFJL
รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3uBE82f
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Documents/InternationalReserve5Feb2018.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_foreign-exchange_reserves
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_17Mar2022.pdf
-https://thediplomat.com/2022/03/china-india-and-sri-lankas-unprecedented-economic-crisis/
-https://www.france24.com/en/tv-shows/focus/20220223-sri-lanka-on-the-brink-of-bankruptcy-consumers-hit-hard-by-soaring-inflation-food-shortages
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.