Five Forces Model คืออะไร ?

Five Forces Model คืออะไร ?

31 มี.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] Five Forces Model คือการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการแข่งขันของธุรกิ
Five Forces Model ถูกคิดค้นโดย Michael E. Porter อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งเครื่องมือนี้เป็นแนวคิด เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ ประกอบไปด้วย 5 ส่วน
1. การแข่งขันของผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม (Competition)
เป็นการวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมนั้น ๆ มีสภาพการแข่งขันเป็นอย่างไร
ถ้าจำนวนคู่แข่งในอุตสาหกรรมมีมาก
ผู้เล่นในอุตสาหกรรม ก็มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้น้อย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตเร็วหรือถดถอย
หากเป็นกรณีหลัง การแข่งขันก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรง
เพราะผู้เล่นแต่ละรายจะพยายามหาทาง เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอด
เช่น การใช้กลยุทธ์การตัดราคา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรม
2. การคุกคามของคู่แข่งหน้าใหม่ (Threat of New Entrants)
อุตสาหกรรมที่คู่แข่งเข้ามาลำบาก จะทำให้ผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม มีแนวโน้มที่จะเจอการแข่งขันน้อย และมีโอกาสที่จะทำกำไร มากกว่าอุตสาหกรรมที่คู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ง่าย
ซึ่งความยากง่ายนี้ เกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น เงินลงทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เทคโนโลยีในการผลิต ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตร ความเชี่ยวชาญ การประหยัดจากขนาด หรือสัมปทานจากภาครัฐ
3. การคุกคามจากสินค้าหรือการบริการทดแทน (Threat of Substitutes)
เป็นการวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมนั้น มีสินค้าหรือการบริการใดทดแทนได้บ้าง
เพราะถ้ามี อาจทำให้ลูกค้าเลือกหันไปซื้อสินค้าและบริการอื่นทดแทนได้
เช่นธุรกิจเช่าวิดีโอหรือแผ่นซีดี ที่เจอกับบริการอย่างวิดีโอสตรีมมิงเข้ามาทดแทนอย่างสมบูรณ์
4. อำนาจการต่อรองของลูกค้า (Bargaining Power of Customers)
อุตสาหกรรมที่ลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองสูง
หมายถึงว่า ลูกค้าหรือผู้ซื้อมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและบริการ
กรณีนี้ทำให้ลูกค้าอาจขอซื้อสินค้าในราคาต่ำลงได้ง่าย และผู้ขายก็ต้องยอม ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ลดลง หรือการขอเพิ่มคุณภาพสินค้ามากขึ้น ทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
ในทางกลับกัน สินค้าและบริการที่ลูกค้ามีทางเลือกน้อย อำนาจการต่อรองของลูกค้าจะต่ำ ซึ่งแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคา ลูกค้าก็ยอมจ่ายเพิ่มอยู่ดี เช่น BTS ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า เป็นต้น
5. อำนาจต่อรองจากซัปพลายเออร์ (Bargaining Power of Suppliers)
หากซัปพลายเออร์มีอำนาจต่อรองที่สูง จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของเราสูง
เพราะสามารถขอขึ้นราคาสินค้าได้ตามที่ต้องการ
ดังนั้นทางที่ดีควรลดอำนาจซัปพลายเออร์ให้น้อยลง เช่น การกระจายการซื้อสินค้าไปหลายแหล่งที่มาไม่พึ่งพารายใหญ่เพียงรายเดียว
สำหรับใครที่กำลังทำธุรกิจ หรือวางแผนกำลังจะทำธุรกิจ ลองใช้ Five Forces Model เป็นหนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจกันได้ ซึ่งเครื่องมือนี้ ก็คงช่วยให้เรารอบคอบขึ้น เห็นภาพรวมและเทรนด์ของธุรกิจเรา ได้ชัดขึ้นกว่าเดิม..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.