ROE คืออะไร ?

ROE คืออะไร ?

20 เม.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ] ROE (Return on Equity) เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้น โดยคำนวณจากการนำกำไรสุทธิของบริษัท มาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งค่าที่เราได้นั้น จะออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์
ROE ย่อมาจาก Return on Equity เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
โดยคำนวณจากการนำกำไรสุทธิของบริษัท มาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นนำไปคูณกับ 100
ซึ่งค่าที่ได้นั้น จะอยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์
โดย ROE จะเป็นการบอกว่าเงิน 100 บาทของผู้ถือหุ้น บริษัทสามารถนำไปสร้างกำไรได้กี่บาท
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัท A มีกำไร 100 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 500 ล้านบาท
จะได้ว่า บริษัท A จะมีค่า ROE = 100 / 500 = 20%
แปลง่าย ๆ ว่า บริษัท A ใช้ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ในการสร้างกำไร 20 บาท
โดยปกติแล้ว เรามักจะนำค่า ROE มาเปรียบเทียบกับค่า ROE ในอดีตของบริษัท
เพื่อดูแนวโน้มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่า ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่ผ่านมาอย่างไร
นอกจากนี้เรายังสามารถนำ ROE มาเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือค่าเฉลี่ย ROE ของทั้งอุตสาหกรรม เพื่อดูว่าบริษัทไหนมีความสามารถในการทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่ากันอีกด้วย
ซึ่งจากสูตรก็จะสรุปได้ว่า
- บริษัทที่มีค่า ROE สูง แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูง
- บริษัทที่มีค่า ROE ต่ำ แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำ
ดังนั้น บริษัทที่ดีควรมีค่า ROE ที่สูง และมีการเติบโตของ ROE
เพราะว่า สะท้อนถึงการที่บริษัทนำเงินของผู้ถือหุ้น ไปลงทุนทำธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนได้สูง
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรระมัดระวังเช่นกัน เช่น
- ความสม่ำเสมอของกำไร
บริษัทควรมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ ถ้าหากบริษัทขาดทุนติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี แต่อยู่ ๆ บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรจำนวนมากในปีนี้ ก็อาจจะทำให้ค่า ROE สูงเกินจริงได้เช่นกัน
- กำไรจากรายการพิเศษ
ซึ่งโดยปกติแล้ว กำไรที่ว่ามักเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทออกไป, กำไรจากการขายบริษัทย่อย ซึ่งจะทำให้ค่า ROE สูงผิดปกติในปีที่มีกำไรพิเศษได้
- การสร้างหนี้ของบริษัท
ค่า ROE ที่สูงผิดปกติก็อาจมาจากกรณีที่บริษัทก่อหนี้สินจำนวนมาก มากกว่าพึ่งพาส่วนของผู้ถือหุ้น แปลว่าบริษัทต้องรับความเสี่ยงทางด้านการเงินมากขึ้นตามนั่นเอง
สุดท้าย นอกจากการลงทุนในบริษัทที่มีค่า ROE ที่สูงแล้ว เราควรวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มาเพิ่มเติม
รวมถึงการดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบ และต้องทำความเข้าใจในธุรกิจนั้น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.