Stagflation คืออะไร ?

Stagflation คืออะไร ?

6 พ.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] Stagflation คือภาวะที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้น
ปกติแล้วการเกิดภาวะเงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ หรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายถึงเศรษฐกิจกำลังมีการขยายตัว
แต่หากภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นตาม นั่นจะหมายถึง การเข้าสู่ภาวะ Stagflation
Stagflation เกิดจากการรวมคำกัน ระหว่าง
- Stagnation ที่หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเติบโตน้อย (ซึ่งโดยทั่วไปจะน้อยกว่า 2% ต่อปี)
- Inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ
[ซึ่งคำว่า Stagnation จะต่างจาก Recession ตรงที่
Stagnation คือสภาพเศรษฐกิจเติบโตน้อยไปจนถึงไม่เติบโต
ส่วน Recession คือสภาพเศรษฐกิจถดถอย หรือติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส]
โดย Stagflation ต้องมี 3 องค์ประกอบนี้ เข้าด้วยกัน
1. ภาวะเงินเฟ้อ
จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรม และผลักดันให้มีการปรับราคาสินค้าตามมา ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
2. เศรษฐกิจเติบโตน้อย
โดยสามารถวัดได้จากอัตราการเติบโตของ GDP ที่ลดต่ำลง ซึ่งการที่เศรษฐกิจเติบโตน้อย ก็จะส่งผลให้รายได้และการบริโภคของประชาชน รายได้ของผู้ประกอบการ และการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจ ชะลอตัวลงตามไปด้วย
3. อัตราการว่างงานสูงขึ้น
เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดการเลิกจ้างในระบบเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานจึงสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนที่ชะลอตัวลง
สิ่งที่ทำให้ Stagflation เป็นภาวะเศรษฐกิจที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะความยากในการแก้ปัญหาและระยะเวลาในการฟื้นตัว
โดยปกติแล้ว อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน มักจะเป็นตัวเลขที่สวนทางกันเสมอ
เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น สินค้ามีราคาแพงขึ้น มักจะเกิดจากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมาก เศรษฐกิจเติบโต จึงทำให้มีอัตราการว่างงานที่ต่ำ
ถ้าหากธนาคารกลางมองว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป
ก็อาจจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย (Recession) และมีอัตราการว่างงานสูง
ความต้องการของผู้บริโภคก็จะไม่มาก อัตราเงินเฟ้อก็จะยังอยู่ในระดับต่ำ
ถ้าหากธนาคารกลางมองว่า อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่สูงเกินไป
ก็อาจจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
แต่ Stagflation คือภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่เติบโต อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง
แต่สินค้าและบริการกลับมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงด้วย
โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในภาวะ Stagflation ไม่ได้เกิดจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น
แต่มักเกิดจาก Cost-Push Inflation หรือก็คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้น อันมีสาเหตุมาจากต้นทุนที่แพงขึ้น
เช่น ราคาน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน หรือเกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทานการผลิต
หากธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ สินค้ายิ่งมีราคาแพงขึ้น ประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้น ผู้ประกอบการชะลอการผลิต เพราะไม่มั่นใจว่าการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ จะยังมีผู้บริโภคซื้อหรือไม่
แต่ถ้าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ต้นทุนด้านการเงินของผู้ประกอบการมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเลิกจ้าง ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางจะแก้ปัญหาได้ยาก ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation
การจะหลุดพ้นออกจากภาวะ Stagflation นั้น ต้องรอเวลาให้ต้นทุนที่แพงขึ้น ค่อย ๆ ปรับตัวลดลง เพื่อทำให้ราคาสินค้ากลับลงมาอยู่ในภาวะปกติและไม่ผันผวน ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างกลับมาผลิตและจับจ่ายใช้สอยกันเป็นปกติ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.