ปตท. ออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต

ปตท. ออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต

12 พ.ค. 2022
ปตท. ออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต
ปตท. x ลงทุนแมน
ปตท. ได้มีการเสนอขายหุ้นกู้ สำหรับผู้ถือหุ้นกู้เดิมของ ปตท. (รุ่น PTTC20NA, PTTC21NA, PTTC21NB) รวมถึงผู้ลงทุนทั่วไป โดยหุ้นกู้จะมีอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ AAA (tha) โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดสำหรับตราสารหนี้ที่ออกในประเทศไทย
ปัจจุบัน ปตท. เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าบริษัท 1.1 ล้านล้านบาท
อีกทั้งยังเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร และมีกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคง
ธุรกิจของ ปตท. ในวันนี้ ใหญ่ขนาดไหน
แล้วบริษัท กำลังจะลงทุนในธุรกิจอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จากจุดเริ่มต้นของ “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ ปตท. ที่ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย ภายหลังจากวิกฤติน้ำมันโลกครั้งที่ 2
ปัจจุบัน ปตท. ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทเป็นธุรกิจ Operating Holding Company ที่กระจายเงินลงทุนและเข้าไปถือหุ้นอยู่ในหลายบริษัท แต่ยังคงมีธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจก๊าซฯ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และ ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน
หากแบ่งตามลักษณะการประกอบธุรกิจ และโครงสร้างรายได้ของบริษัท ปตท. แล้ว จะแบ่งได้เป็น
- กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ เช่น ธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ธุรกิจตลาดพาณิชย์ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ และธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการลงทุนใน PTTEP เป็นต้น
- กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เช่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก ผ่านการลงทุนใน GC Thai Oil IRPC และ OR เป็นต้น
- กลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล เป็นต้น โดยลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึง ธุรกิจไฟฟ้า ผ่านการลงทุนใน GPSC เป็นต้น
นอกจากธุรกิจ 3 กลุ่มใหญ่นี้แล้ว ปตท. ยังมีการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น บริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTTTCC) เป็นต้น
โดยในปีที่ผ่านมา ปตท. มีรายได้ทั้งปีรวม 2,258,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 108,363 ล้านบาท
หากแบ่งกำไรตามสัดส่วนธุรกิจ ประกอบด้วย
- ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ ปตท. ดำเนินการเอง 31%
- ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 24%
- ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 21%
- ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก 8%
- ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน (โดยหลักจากธุรกิจไฟฟ้า) 3%
- อื่น ๆ (โดยหลักจากบริษัทในเครือ เช่น PTTLNG, PTTNGD, PTTT, PTTGM) 13%
จะเห็นได้ว่า ปตท. มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งที่ดำเนินการเองและดำเนินการผ่านการลงทุนในบริษัทในกลุ่ม ทำให้มีข้อได้เปรียบในการจัดหาวัตถุดิบ การบริหารการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการต่อยอดทางธุรกิจ (synergy) ระหว่างกันในกลุ่ม ปตท.
แต่ด้วยความที่โลกของเรา กำลังเข้าสู่ “ยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน” ปตท. จึงต้องมองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต
วันนี้ เรามาดูกันว่า ปตท. วางแผนการลงทุนในธุรกิจอะไร เอาไว้บ้าง ?
เริ่มตั้งแต่วิสัยทัศน์ใหม่ ที่บริษัทได้วางเอาไว้ว่า จะเป็นธุรกิจที่ “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” (Powering Life with Future Energy and Beyond)
ความหมายในที่นี้ก็คือการวางตัวเองไว้ ไม่เพียงแต่การเป็นฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจพลังงานของประเทศ
แต่ยังเป็นกำลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ปัจจุบัน ปตท. ได้เดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตตามกลยุทธ์ Future Energy and Beyond ประกอบด้วย
- ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ผ่านการลงทุนในบริษัท GPSC และบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) (ปตท. ลงทุนร่วมกับ GPSC) เพื่อขยายและเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573
- ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage & System Related) โดย ปตท. ได้ร่วมลงทุนกับ GPSC เพื่อจัดตั้งนูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery Value Chain) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานซึ่งเป็นระบบที่สนับสนุนให้สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
- ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (EV Value Chain) ผ่านการลงทุนในบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) และ บริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร สร้างระบบนิเวศสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่น
• ธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำอย่าง Foxconn โดยได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท Horizon Plus
• ธุรกิจจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ On-Ion ครอบคลุมทำเลศักยภาพ
• ธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลสถานีอัดประจุไฟฟ้า ไปจนถึงสถานีซ่อมแซมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการลงทุนในบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS)
• ธุรกิจแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ภายใต้แบรนด์สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go) เป็นต้น
- และการศึกษาโอกาสในธุรกิจ Hydrogen
ที่น่าสนใจก็คือเป้าหมายการเติบโตของ ปตท. ได้มองไปไกลกว่าธุรกิจพลังงานแล้ว
หนึ่งในนั้น ก็คือการรุกเข้าสู่ธุรกิจ Life Science หรือ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต โดยได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด Innobic (Asia) เพื่อรองรับการลงทุนใน ธุรกิจยา ธุรกิจอาหารและโภชนาการ ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมสาธารณสุขของคนไทยให้มั่นคง พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท. ในด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่อื่น ๆ อาทิ ธุรกิจเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ Mobility & Lifestyle รวมถึงเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล เช่น บริษัท พีทีที เรส จำกัด (PTT RAISE) เพื่อให้บริการจำหน่ายและติดตั้งงานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม บริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด (Mekha Tech) เพื่อลงทุนในธุรกิจให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (Public Cloud) เป็นต้น
ด้วยการลงทุนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ของ ปตท. ครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปลงทุนในการโครงการต่าง ๆ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท หรือทดแทนหนี้ที่ครบกำหนดชำระ
โดยหุ้นกู้ของ ปตท. ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
มีอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
โดยมีอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ ระดับ AAA (tha) โดย บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565
สำหรับกำหนดการจองซื้อ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
- รอบแรก วันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 สำหรับผู้ถือหุ้นกู้เดิมของ ปตท.
(รุ่น PTTC20NA, PTTC21NA, PTTC21NB)
โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่ https://pttdebenturegw.pttplc.com/bondrightchecking
ระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2565 - 20 พฤษภาคม 2565
- รอบผู้ลงทุนทั่วไป วันที่ 24-26 พฤษภาคม 2565
โดยการจองซื้อทั้ง 2 ช่วง ไม่มีการจำกัดมูลค่าการจองซื้อของผู้ลงทุนแต่ละราย (ยกเว้นยอดจองซื้อเต็มตามวงเงินที่บริษัทต้องการออก) จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนการเสนอขายได้ที่ www.sec.or.th หรือสอบถามข้อมูลผ่านสถาบันการเงิน 5 แห่ง ที่เป็นผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร. 1333
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1111
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โทร. 1572
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-888-8888 ต่อ 819
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-777-6784
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.