ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย คืออะไร ?

ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย คืออะไร ?

13 พ.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization) เกิดจากการนำสินทรัพย์ไปใช้ประโยชน์ แล้วมีการเสื่อมลงตามกาลเวลาเกิดขึ้น ซึ่งจะถูกทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายเป็นงวด ๆ ส่งผลให้สินทรัพย์มีมูลค่าลดลง
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization) เกิดจากการที่สินทรัพย์ถาวร ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี เมื่อเวลาผ่านไป สินทรัพย์เหล่านั้นก็จะต้องเสื่อมค่าลง
“ค่าเสื่อมราคา” จะใช้กับสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน เช่น โรงงาน อาคาร เครื่องจักร หรือยานพาหนะ เป็นต้น
แต่สำหรับ ที่ดิน จะไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคา เพราะมูลค่าของที่ดินมักจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคา ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมวิธีคำนวณแบบเส้นตรง
โดยมีสูตรคำนวณดังนี้
ค่าเสื่อมราคา = (ราคาทุน – มูลค่าซาก) / อายุการใช้งาน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทซื้อรถบรรทุกมาในราคา 1,000,000 บาท
โดยประเมินว่า รถบรรทุกจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี
หลังจากครบ 5 ปีแล้ว จะเหลือมูลค่าซากเท่ากับ 100,000 บาท
ค่าเสื่อมราคาของรถบรรทุกจะได้ (1,000,000 - 100,000) / 5 = 180,000 บาท ต่อปี
โดยค่าเสื่อมราคาจะถูกทยอยตัดไปเรื่อย ๆ ปีละ 180,000 บาท
กลายเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทในแต่ละปี จนครบเวลา 5 ปี
ในส่วนของ “ค่าตัดจำหน่าย” จะมีลักษณะเหมือนกับค่าเสื่อมราคา เพียงแต่จะใช้กับสินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ หรือสิทธิ์การเช่าซื้อ เป็นต้น

ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นในทางบัญชี ซึ่งอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับเงินสดที่จ่ายออกไป เช่น เราจ่ายเงินสดซื้อรถบรรทุกไปตั้งแต่วันแรก แต่ค่อยทยอยตัดค่าเสื่อมราคาทีละงวด เป็นเวลา 5 ปี

โดยธุรกิจที่ใช้สินทรัพย์ถาวรในการประกอบธุรกิจมาก ก็จะมีค่าเสื่อมราคาสูงด้วย เช่น
- ธุรกิจสายการบิน ที่ต้องมีเครื่องบินจำนวนมาก
- ธุรกิจโรงแรม ที่ต้องมี อาคาร เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ภายในห้องพัก

ไม่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะมีผู้ใช้บริการหรือไม่ ค่าเสื่อมราคาก็จะเกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชีอยู่ดี
เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทมีรายได้จากการทำธุรกิจเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ยังต้องมีอยู่ ธุรกิจก็มีโอกาสขาดทุนทางบัญชีได้ เช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.