กรณีศึกษา รายได้จังหวัดชุมพร เติบโต 10% ต่อปี เพราะปลูกทุเรียน

กรณีศึกษา รายได้จังหวัดชุมพร เติบโต 10% ต่อปี เพราะปลูกทุเรียน

14 พ.ค. 2022
กรณีศึกษา รายได้จังหวัดชุมพร เติบโต 10% ต่อปี เพราะปลูกทุเรียน /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่าปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนระดับ “แสนล้านบาท”
เฉลี่ยแล้วเติบโต 44% ต่อปี จาก 17,500 ล้านบาทในปี 2559 สู่ 109,200 ล้านบาทในปี 2564
เม็ดเงินจากการส่งออก ไหลไปยังหลายภาคส่วน ทั้งผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง และท้ายที่สุดคือเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน ซึ่งจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกทุเรียน ก็มีรายได้จากภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้น คือ “จังหวัดชุมพร” จังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย
ด้วยพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตแล้วกว่า 230,000 ไร่ ใกล้เคียงกับ จังหวัดจันทบุรีที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 240,000 ไร่
เรามาดูกันว่าทุเรียน ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดชุมพรเปลี่ยนไปอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในปี 2559 ชาวชุมพร 500,000 คน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP ต่อหัว อยู่ที่ 169,042 บาท
ผ่านไป 4 ปี มาสู่ปี 2563 ถึงแม้จะเกิดวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายจังหวัด
แต่ GPP ของจังหวัดชุมพรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ GPP ต่อหัวในปี 2563 เพิ่มมาอยู่ที่ 250,823 บาท
ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโตถึงปีละ 10.3% ตลอด 4 ปี
ทำให้จังหวัดชุมพร ก้าวขึ้นมาเป็นจังหวัดที่มี GPP ต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 12 ของประเทศไทย..
ทั้งที่จังหวัดนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม
ไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
และไม่ได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
พูดง่าย ๆ คือเป็นจังหวัดที่รวยติดอันดับ Top 12 ของประเทศได้ ด้วยภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก..
แล้วภาคเกษตรกรรม สำคัญกับจังหวัดชุมพรมากน้อยแค่ไหน ?
ในปี 2563 ภาคการเกษตร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้จังหวัดชุมพร
คิดเป็นสัดส่วน 56% ของ GPP จังหวัด ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด
ปี 2559 ภาคเกษตรกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 37,881 ล้านบาท
ปี 2563 ภาคเกษตรกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 69,601 ล้านบาท
สาเหตุสำคัญมีที่มาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ด้วยพื้นที่ของจังหวัดชุมพร 6,000 ตารางกิโลเมตร
มีฝั่งตะวันตกเป็นภูเขา แล้วค่อย ๆ ลาดลงมา เป็นที่ราบกว้าง ทางด้านตะวันออกติดกับอ่าวไทย
ซึ่งกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก ที่มีสัดส่วนถึง 50% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด
ด้วยพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ราบ ไม่มีภูเขากั้น ทำให้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านในช่วงฤดูหนาวอย่างเต็มที่ ในขณะที่ช่วงฤดูฝน ก็มีร่องมรสุมจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ชุมพรจึงเป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี พื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดชุมพร จึงเหมาะกับพืชผลที่ชอบน้ำ
โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ มะพร้าว สับปะรด และไม้ผลต่าง ๆ
สำหรับผลผลิตที่โดดเด่นของจังหวัดชุมพรก็คือ ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ
ผลผลิตที่โดดเด่นอย่างแรก คือ ปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมันถือเป็นผลผลิตที่สำคัญของจังหวัดชุมพรมายาวนาน
โดยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันราว ๆ 1,000,000 ไร่ และให้ผลผลิตอยู่ที่ 3,000,000 ตันต่อปี
ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่
การปลูกปาล์มน้ำมันยังทำให้จังหวัดชุมพร มีอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง คือการกลั่นน้ำมันปาล์ม โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นและตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร คือบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI
ผลผลิตที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาแฟ
ชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 104,000 ไร่
ซึ่งสายพันธุ์หลักคือโรบัสตา เป็นสายพันธุ์ที่ต้องการความชื้นสูง และไม่ต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงมากนัก เหมือนสายพันธุ์อะราบิกา
กาแฟสายพันธุ์โรบัสตา เป็นกาแฟที่มีปริมาณกาเฟอีนสูง ประมาณ 1.8-4%
จึงนิยมนำมาทำเป็นกาแฟสำเร็จรูป ไร่กาแฟของจังหวัดชุมพร ส่วนมากจะตั้งอยู่แถบอำเภอสวี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกาแฟชื่อดังของจังหวัดชุมพร คือ กาแฟเขาทะลุ
แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตของพืชผลทางการเกษตรทั้ง 2 ชนิด
ก็มีแนวโน้มลดลง จากช่วงปี 2561 ถึงปี 2563

ปาล์มน้ำมัน จากราว ๆ 3,008,000 ตัน ลดลงมาอยู่ที่ 2,878,000 ตัน
กาแฟ ลดลงจาก 8,800 ตัน มาอยู่ที่ 6,900 ตัน
รวมไปถึงผลผลิตอื่น ๆ ที่ถ้าไม่ลดลงก็ค่อนข้างคงที่ ทั้งยางพารา มะพร้าว และสับปะรด
หนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือความผันผวนของราคาผลิตผลทางการเกษตร ที่ทำให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกพืชชนิดนั้น ๆ ลง และไม่มีเกษตรกรหน้าใหม่เข้ามาปลูกเพิ่ม
แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ “การเข้ามาของทุเรียน”
อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มียอดการส่งออกพุ่งสูงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจาก ความต้องการของลูกค้าชาวจีนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และถูกคาดการณ์ว่ายังมีแนวโน้มเติบโตอีกพอสมควรในอนาคต
ทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก จึงเติบโตได้ดีในจังหวัดที่มีฝนตกชุกอย่างจังหวัดชุมพร และปลูกได้ในทุกอำเภอ ด้วยราคาที่สูงกว่าผลิตผลทางการเกษตรทั่วไป
ให้มูลค่าเยอะ ในขณะที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า
ทำให้เกษตรกรชาวชุมพรหลายคน ได้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก จากพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ
หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปี 2561 ชุมพรมีผลผลิตทุเรียน 154,800 ตัน
ปี 2562 ชุมพรมีผลผลิตทุเรียน 277,700 ตัน
ปี 2563 ชุมพรมีผลผลิตทุเรียน 315,600 ตัน
การเพิ่มขึ้นของผลผลิตทุเรียน นอกจากจะทำให้รายได้จากภาคเกษตรกรรมของจังหวัดชุมพรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลไปสู่ภาคบริการต่าง ๆ ในตัวจังหวัดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการค้าปลีก และค้าส่ง
ที่เพิ่มจาก 14,068 ล้านบาทในปี 2560 กลายเป็น 20,868 ล้านบาทในปี 2563
และผลักดันให้ GPP ต่อหัวของชาวชุมพร เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมกว่า 300,000 ไร่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ
ซึ่งหากเติบโตจนให้ผลผลิตทั้งหมด ก็จะทำให้ชุมพรกลายเป็นจังหวัดที่ให้ผลผลิตทุเรียนมากที่สุด
ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาทุเรียนเพียงอย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงหลายประการ
ทั้งความต้องการของตลาด ที่ทุกวันนี้กว่า 90% ของการส่งออกทุเรียน เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนเพียงประเทศเดียว
ในขณะที่เกษตรกรหลายจังหวัด ก็หันมาปลูกทุเรียนแทนพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นมากขึ้น จนกลายเป็นคู่แข่งกันเองกับอีกหลายจังหวัด
และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ก็หันมาเพิ่มการปลูกทุเรียนเช่นกัน ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว หรือแม้แต่จีน ซึ่งทุเรียนจากประเทศเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนไทยในอนาคต
ยังไม่รวมถึงความเปราะบางของต้นทุเรียน ที่ถึงแม้จะชอบน้ำ แต่หากน้ำท่วมมากเกินไป ก็อาจเกิดเชื้อราลุกลามได้ง่าย ๆ ซึ่งชุมพรเป็นจังหวัดที่ต้องเผชิญพายุจากฝั่งอ่าวไทยบ่อยที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า เศรษฐกิจของจังหวัดชุมพรที่พึ่งพาทุเรียนมากขึ้น จะเติบโตต่อไปอย่างไร
การส่งออกทุเรียนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนสร้างรายได้มหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทำให้มีการเปรียบเปรยว่าสวนทุเรียนไม่ต่างอะไรกับเหมืองทองคำ
ซึ่งสำหรับชาวชุมพร ที่ GPP ต่อหัวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงเวลา 4 ปี
เกษตรกร ก็คือนักขุดทอง
และทุเรียน ก็คือทองคำ ในมุมของเกษตรกร..
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-http://osthailand.nic.go.th/masterplan_area/userfiles/file%20Download/Report%20Analysis%20Province/รายงานวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดชุมพร.pdf
-https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=12387&filename=gross_regional
-https://www.oae.go.th/assets/portals/1/fileups/prcaidata/files/oilpalm%20old%2062.pdf
-http://climate.tmd.go.th/data/province/ใต้ฝั่งตะวันออก/ภูมิอากาศชุมพร.pdf
-http://mis-app.oae.go.th/area/ภูมิภาคทางการ/ภาคใต้/ชุมพร
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.