ROIC คืออะไร ?

ROIC คืออะไร ?

30 พ.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ]​ ROIC เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกความสามารถในการสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุนของกิจการ โดยนำกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษีหารด้วยเงินลงทุน ซึ่งค่าที่ได้นั้น จะอยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์
ROIC ย่อมาจาก Return On Invested Capital เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนของเงินลงทุน
โดยคำนวณด้วยการนำกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษีหารด้วยเงินลงทุน และนำไปคูณกับ 100
ซึ่งค่าที่ได้นั้น จะอยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์
โดยกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี เท่ากับ EBIT * (1-T)
ขณะที่ T คืออัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ Tax Rate ซึ่งประเทศไทยมีอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20%
และเงินลงทุนของบริษัท เท่ากับ ส่วนผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ บริษัท A มีกำไรจากการดำเนินงาน 55 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 300 ล้านบาท มีหนี้สินระยะยาว 100 ล้านบาท
ROIC ของบริษัท A จะเท่ากับ 55 * (1-20%) / (300 + 100) = 0.11 หรือ 11%
แปลว่า บริษัทลงทุนไป 100 บาท ได้ผลตอบแทนกลับมา 11 บาท
ถ้าค่า ROIC สูง แปลว่า บริษัทนำเงินไปลงทุน สร้างผลตอบแทนได้สูง
ในทางกลับกัน ถ้าค่า ROIC ต่ำ แปลว่า บริษัทนำเงินไปลงทุน สร้างผลตอบแทนได้ต่ำ
ถึงตรงนี้ ก็พอสรุปได้ว่า บริษัทยิ่งมีค่า ROIC สูง จะยิ่งดี
แต่อย่างไรก็ตาม การดูว่า ROIC มีค่าสูงอย่างเดียวคงไม่พอ
ซึ่ง ROIC มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนของเงินที่นำมาลงทุนด้วย
หรือที่เรียกกันว่า WACC (Weighted Average Cost of Capital)
หรือต้นทุนของเงินทุนที่มาจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น และกู้ยืมมานั่นเอง

โดยหากค่า ROIC มีค่าสูงกว่า WACC แสดงว่า บริษัทสร้างผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนทางการเงิน
สะท้อนว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน
ในทางกลับกัน ถ้าค่า ROIC นั้นต่ำกว่า WACC แสดงว่า บริษัทสร้างผลตอบแทนต่ำกว่าต้นทุนทางการเงิน
สะท้อนว่า บริษัทไม่มีความสามารถในการทำกำไรให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน
สุดท้ายแล้ว บริษัทที่มีค่า ROIC ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นว่านำเงินไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนที่สูง
แต่ผลตอบแทนที่ว่าก็ต้องมากกว่าต้นทุนเงินทุนของบริษัทด้วย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.