Working Capital คืออะไร ?

Working Capital คืออะไร ?

1 มิ.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ] Working Capital หรือ เงินทุนหมุนเวียน คือ เงินทุนส่วนที่เหลือ ที่กิจการสามารถนำไปใช้หมุนเวียน สำหรับการดำเนินงานในแต่ละวัน
คำนวณได้จากเงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน
สำหรับเงินทุนหมุนเวียน เราจะมองเป็นกรอบระยะเวลา 1 ปี
โดยเงินทุนหมุนเวียนที่คำนวณได้ จะบอกว่ากิจการจะมีเงินเหลือ เพื่อนำไปดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลังเพิ่มเติม จ่ายเงินค่าจ้างพนักงาน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท A มีสินทรัพย์หมุนเวียน ดังนี้
- เงินสด 400,000 บาท
- สินค้าคงคลัง 800,000 บาท
- ลูกหนี้การค้า 2,000,000 บาท
และมีหนี้สินหมุนเวียน ดังนี้
- เจ้าหนี้การค้า 1,200,000 บาท
- หนี้ที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี 500,000 บาท
แปลว่าบริษัท A จะมีเงินทุนหมุนเวียน เท่ากับ 1,500,000 บาท
สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
โดยบริษัทก็มีทางเลือกที่จะนำไปลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มก็ได้ เช่นกัน
ถ้าเงินทุนหมุนเวียนมีค่าเป็นบวก
หมายความว่า กิจการมีสภาพคล่องที่ดี สามารถดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
ถ้ามีค่าเป็นลบ
หมายความว่า กิจการมีสภาพคล่องที่ย่ำแย่ ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม หรืออาจจะจำเป็นต้องขายทรัพย์สินบางส่วนของกิจการออกไป
เราจะเห็นได้ว่าทั้งสินค้าคงคลัง, ลูกหนี้การค้า และเจ้าหนี้การค้า
เป็น 3 สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง และต้องบริหารจัดการให้ดี
จึงมีอีกการคำนวณที่เฉพาะเจาะจงลงไป เพื่อใช้ดูเงินทุนหมุนเวียนได้อีกวิธี
นั่นก็คือ เงินทุนหมุนเวียนจะมีค่าเท่ากับ สินค้าคงคลัง + ลูกหนี้การค้า - เจ้าหนี้การค้า
จากตัวอย่างของบริษัท A สามารถคำนวณเงินทุนหมุนเวียน
ได้เป็น 800,000 + 2,000,000 - 1,200,000 = 1,600,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินทุนหมุนเวียนนั้นควรจะมีค่าเป็นบวก แต่การที่มีเงินทุนหมุนเวียนมากเกินไป ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะถือเป็นการเสียโอกาสในการนำทุนไปหาผลตอบแทนทางอื่น
ในขณะที่แต่ละธุรกิจ ก็ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในจำนวนที่ไม่เท่ากัน
ธุรกิจที่ขายบริการ เช่น ให้คำปรึกษา อาจจะไม่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาก
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องเติมสินค้าตามฤดูกาล หรือธุรกิจขนาดเล็กที่มีอำนาจต่อรองไม่มาก ก็อาจจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า
สุดท้ายแล้วเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีมากแค่ไหนถึงจะพอดี
ควรดูเปรียบเทียบกับในอดีต และแผนการขยายกิจการในอนาคต
รวมถึงการเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะทำให้เห็นภาพมากขึ้น
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.