การเพิ่มทุน คืออะไร กระทบกับนักลงทุนอย่างไร ?

การเพิ่มทุน คืออะไร กระทบกับนักลงทุนอย่างไร ?

13 มิ.ย. 2022
การเพิ่มทุน คืออะไร กระทบกับนักลงทุนอย่างไร ? /โดย ลงทุนแมน
เมื่อบริษัทดำเนินธุรกิจไปถึงจุดหนึ่งและต้องการขยายกิจการ
เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ “เงินทุน”
ซึ่งหากว่าเงินทุนนั้นถูกขอมาจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม เราจะเรียกว่า “การเพิ่มทุน”
วันนี้ เรามาดูกันว่าการเพิ่มทุน กระทบกับนักลงทุนอย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าพูดถึงแหล่งเงินทุนของบริษัท ก็จะมาจาก 2 แหล่งหลัก คือ
- แหล่งเงินทุนภายนอก
บางครั้งจะเรียกว่า “Debt Financing” ตัวอย่างเงินทุนจากแหล่งนี้ เช่น การกู้เงินจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ โดยบริษัทมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้แก่เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด
- แหล่งเงินทุนภายใน
เกิดจากการใช้เงินที่มีอยู่ภายในบริษัท เช่น กระแสเงินสดที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัท
รวมไปถึงกำไรสะสมในอดีตที่ผ่านมาของบริษัท

แต่ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ บางบริษัทก็อาจจะขอเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม ซึ่งในกรณีนี้เรียกว่าการเพิ่มทุน หรือ “Equity Raising”
การเพิ่มทุน คือ การที่บริษัทระดมเงินทุนจากผู้ถือหุ้น ผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น เพื่อนำไปขยายกิจการ ใช้คืนหนี้ หรือแม้แต่ล้างขาดทุนสะสม
โดยหุ้นเพิ่มทุนนั้น อาจเสนอขายให้แก่ทั้งผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นใหม่
ผ่าน 3 ช่องทางหลัก แบ่งออกเป็น

1. การออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม หรือ “Right Offering (RO)”
เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย ตามสัดส่วนการถือครองหุ้น
เช่น ถ้าบริษัทประกาศเพิ่มทุน 10 หุ้นเดิม ได้ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 10 บาท หมายความว่า ถ้าเราถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ 10,000 หุ้น เราจะได้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 10 บาท
ซึ่งการเพิ่มทุนในกรณีนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนในบริษัทมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เพิ่มตามสัดส่วนที่ได้รับสิทธิ์ ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลกระทบจาก Dilution Effect หรือการมีสัดส่วนหุ้นในบริษัทลดลง เพราะเราไม่ได้ถือหุ้นเพิ่มในขณะที่จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้น

2. การออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป หรือ “Public Offering (PO)”
เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หรือเป็นการทั่วไป วิธีเพิ่มทุนแบบนี้จะทำกันในบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป จะไม่สามารถระดมทุนจากสาธารณะได้
นอกจากนี้ สำหรับบริษัทที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วอยู่ในระหว่างการเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ขั้นตอนนี้จะถูกเรียกว่า Initial Public Offering หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “IPO” นั่นเอง
การเพิ่มทุนประเภทนี้ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับผลกระทบจาก Dilution Effect เช่นกัน
3. การออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด หรือ “Private Placement (PP)”
เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด ลักษณะการเสนอขายให้กับบุคคลในวงจำกัดคือ จำกัดจำนวนไม่เกิน 50 ราย หรือมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในรอบ 12 เดือน หรือเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน
ซึ่งการระดมทุนในลักษณะนี้ เหมาะกับบริษัทจดทะเบียนที่มองหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาร่วมถือหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับผลกระทบจาก Dilution Effect เช่นกัน
นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ยังมีความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า 2 กรณีแรกอีกด้วย
ทั้งนี้บางบริษัทก็อาจใช้วิธีการเพิ่มทุนมากกว่า 1 วิธีได้ อย่างกรณีของหุ้น MAKRO ที่ขายหุ้นเพิ่มทุน
โดยใช้วิธีการเพิ่มทุน ผ่านการขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม (RO) และขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (PO)
สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อตัดสินใจที่จะเพิ่มทุนแล้ว ก็ต้องมีการประกาศข่าวให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ โดยรูปแบบการเพิ่มทุนนั้นจะมี 2 รูปแบบ คือ
- การขออนุมัติเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์

บริษัทต้องระบุวัตถุประสงค์ในการใช้เงินทุน ระบุจำนวนหุ้นที่ออก และวิธีการจัดสรรไว้ให้ชัดเจน
- การขออนุมัติเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป
บริษัทยังไม่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการใช้เงินทุน เพียงแต่ขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเป็นกรอบของการระดมทุนไว้ก่อนล่วงหน้า
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้วการเพิ่มทุนกระทบกับเราในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างไรบ้าง
- กำไรต่อหุ้นลดลง
ผลของ Dilution Effect ยังส่งผลให้กำไรต่อหุ้นนั้นลดลง หากบริษัททำกำไรได้เท่าเดิม เพราะมีปริมาณหุ้นที่เพิ่มขึ้น
- ราคาหุ้นอาจปรับตัวลง หากราคาหุ้นเพิ่มทุนนั้นต่ำเกินไป
โดยปกติแล้วหากบริษัทได้เงินเพิ่มทุนในราคาที่เหมาะสมก็อาจจะรักษามูลค่าบริษัทต่อหุ้นให้อยู่ในระดับเดิมได้ แต่ถ้าหากบริษัทได้เงินเพิ่มทุนมาไม่มากพอที่จะรักษามูลค่าบริษัทต่อหุ้นให้อยู่ในระเดิมได้ ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นนั้นปรับตัวลดลงได้เช่นกัน
โดยปกติแล้ว เมื่อบริษัทประกาศเพิ่มทุน นักลงทุนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกเชิงลบ และมักจะขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่ออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า การเพิ่มทุนนั้นไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป
ซึ่งก็มีบางครั้ง เมื่อบริษัทประกาศเพิ่มทุน ราคาหุ้นในตลาดก็ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน
หากนักลงทุนเชื่อว่า เงินเพิ่มทุนที่ได้จากผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนนั้น
บริษัทจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
สุดท้ายแล้ว นักลงทุนก็อาจไม่จำเป็นต้องขายหุ้น แถมยังควรซื้อหุ้นเพิ่มอีกด้วย เมื่อมีการประกาศเพิ่มทุน
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทำ เมื่อบริษัทประกาศเพิ่มทุนคือ
ศึกษาและทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ว่า
บริษัทจะนำเงินไปทำอะไร และเราเชื่อว่าสิ่งที่บริษัทจะทำนั้นมันจะเพิ่มมูลค่าหรือไม่
หากมันน่าสนใจ การเพิ่มทุนก็อาจเป็นสิ่งที่ดี
แต่หากมันดูแล้วไม่มีเหตุผล การเพิ่มทุนในครั้งนั้น ก็อาจจะทำร้ายผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
- https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2563/130763.pdf
- https://portal.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/increase_capital_p1.html
- https://www.investopedia.com/terms/e/equityfinancing.asp
- https://classic.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16369269989971&sequence=2021125735
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.