Bond Yield คืออะไร ?

Bond Yield คืออะไร ?

27 มิ.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ]
Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองพันธบัตร
โดย Bond Yield สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้ เมื่อมีการซื้อขายพันธบัตรกันในตลาดรอง
พันธบัตร คือ ตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งจะมีอายุของตราสารมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
โดยผู้ซื้อหรือนักลงทุน จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของหน่วยงานที่เป็นผู้ออกตราสาร โดยที่เจ้าหนี้ จะได้รับผลตอบแทนเป็นงวด ๆ โดยเรียกว่า “Bond Yield”
ถ้าเป็นของรัฐบาลจะเรียกว่า Government Bond แต่ถ้าเป็นของเอกชนจะเรียกว่า Corporate Bond

ซึ่งการจะดูว่า Bond Yield มีค่าเท่าไร
ก็ดูได้จากมูลค่าของผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองพันธบัตร

ตัวอย่างเช่น
ถ้ารัฐบาลออกพันธบัตรอายุ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้เท่ากับ 2%
และมีราคาที่ตราไว้ (Par Value) เท่ากับ 1,000 บาท

ถ้าเราลงทุนในพันธบัตรนี้และถือจนครบกำหนด 10 ปี
สิ่งที่เราจะได้คือ ดอกเบี้ยปีละ 2% คิดเป็นปีละ 20 บาท
ถ้ารวมดอกเบี้ยตลอด 10 ปี ก็จะรวมได้เป็น 200 บาท

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ปีละ 2% ก็คือ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
หรือที่เรียกว่า “Bond Yield” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม พันธบัตรรัฐบาล สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดรอง
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ราคาพันธบัตรจึงสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้

โดยถ้ามี Demand ต้องการพันธบัตรในช่วงนั้น
ราคาของพันธบัตรก็จะเพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่ตราไว้ได้ ซึ่งเมื่อราคาสูงขึ้น
Yield หรือผลตอบแทนของพันธบัตร เมื่อเทียบกับราคา ก็จะลดลงสวนทางกัน

เช่น ราคาพันธบัตรสูงขึ้นจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท
พันธบัตรให้ดอกเบี้ยปีละ 20 บาทเท่าเดิม
ดังนั้น Yield ก็จะลดลงจาก 2% เหลือ 1%

แต่ถ้าพันธบัตรที่นักลงทุนถือกันอยู่ มีความน่าดึงดูดลดลง
เช่น ผลตอบแทนที่แท้จริง จากการถือครองพันธบัตรนั้นลดลง

นักลงทุนก็จะเริ่มเทขายพันธบัตรออกมามากขึ้น
เมื่อถูกเทขายมาก Bond Yield ก็จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม
เมื่อ Bond Yield เพิ่มขึ้น มูลค่าพันธบัตรจะลดลง
และเมื่อ Bond Yield ลดลง มูลค่าพันธบัตรจะเพิ่มขึ้น นั่นเอง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.