จากติดลบสู่เจ้าของ JD.COM คู่แข่ง Alibaba

จากติดลบสู่เจ้าของ JD.COM คู่แข่ง Alibaba

12 ม.ค. 2018
จากติดลบสู่เจ้าของ JD.COM คู่แข่ง Alibaba / โดย ลงทุนแมน
ทุกคนรู้จัก Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนที่ก่อตั้งโดย แจ็ค หม่า บุคคลผู้ที่มีชีวิตที่ยากลำบาก ในวัยเด็ก
แต่รู้ไหมว่า ในเมืองจีนยังมีบุคคลที่มีชีวิตในช่วงต้นลำบากไม่ต่างกัน เขาคนนี้คือ หลิวเฉียงตง ผู้สร้าง JD.com ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของจีน ให้มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ที่มาที่ไปเป็นยังไง ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หลิวเฉียงตง หรือ มีอีกชื่อว่า ริชาร์ด หลิว เกิดเมื่อปีค.ศ. 1974 ปัจจุบันอายุ 44 ปี โดยครอบครัวของหลิวทำอาชีพขนส่งถ่านหินจากทางจีนตอนเหนือไปยังจีนตอนใต้
ส่วนตัวเขานั้น มีความสนใจเรื่องการเมือง ทำให้เขาเลือกวิชาสังคมวิทยา แต่เขามองว่าถ้าเรียนจบสาขานี้มาก็อาจจะไม่มีงานที่ดีทำ จึงตัดสินใจลงเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปด้วย
ระหว่างเรียน หลิวก็รับงานเขียนโปรแกรมไปด้วย ทำให้เมื่อมีรายได้ส่วนหนึ่ง รวมกับเงินที่ยืมมาจากครอบครัว หลิวจึงตัดสินใจไปเปิดธุรกิจร้านอาหาร แต่ทำไปไม่กี่เดือนธุรกิจล้มเหลว เนื่องจากพนักงานในร้านได้โกงเงินไป
ในช่วงปีค.ศ. 1996 นั้นเขาได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น โดยทำหน้าที่รับเขียนโปรแกรมให้ ซึ่งเขาทำอยู่ประมาณ 2 ปี จึงตัดสินใจลาออกแล้วมาเปิดบริษัทเองชื่อ Jingdong Century โดยเป็นร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 60,000 บาท
ภายใน 5 ปีธุรกิจร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาสร้างรายได้กว่า 50 ล้านบาท
บททดสอบในชีวิตเขาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อโรคซาร์สซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง เกิดระบาดขึ้นในปี ค.ศ. 2003 และได้ฆ่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ทำให้ลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้าน แม้แต่พนักงานของเขาก็ไม่มาทำงาน ส่งผลให้ยอดขายของร้านลดลงจนเหลือศูนย์
ในช่วงนั้น เขาต้องคาดหน้ากากอนามัยไปส่งสินค้าให้ลูกค้าด้วยตนเอง หลิวกลับมานั่งคิดว่า มีวิธีไหนที่จะสามารถขายสินค้าให้ลูกค้าได้
ซึ่งในช่วงนั้นเขาได้เริ่มศึกษาทำการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์และเว็บบอร์ด ในปี ค.ศ. 2004 และพบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะในการขายสินค้าของเขา
หลังจากนั้น 1 ปีหลิวเริ่มเปิดตัว เว็บไซต์ JD.com (เป็นชื่อย่อของ Jingdong) โดยคำว่า Jing มาจากชื่อของแฟนสาวของเขา และ Dong มาจากชื่อสุดท้ายของตัวเขาเอง
ธุรกิจของ JD.com เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ ในปี ค.ศ. 2014 หลิวตัดสินใจนำ JD.com เข้า IPO ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นในช่วงที่ JD.com ยังไม่มีกำไรด้วยซ้ำ แต่หลิวได้กล่าวด้วยวลีสุดคลาสสิคว่า Growth First, Profit Second
หลังจากที่ JD.com เข้าตลาดหุ้น บริษัทติดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำของโลกด้วย โดยที่ปัจจุบัน JD.com มีมูลค่าบริษัท 2 ล้านล้านบาท มีลูกค้าใช้บริการกว่า 258 ล้านคน
หลิวมองว่าความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะแข่งกันที่ความเร็วในการส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ทำให้ JD.com เพิ่มบริการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวใน 43 เมืองใหญ่ รวมไปถึงการสร้างสถานีขนส่งสินค้ากว่า 6,900 แห่งทั่วประเทศจีน
JD.com มีการพัฒนารูปแบบการส่งสินค้าเพื่อลดต้นทุนไม่ว่าจะการเริ่มส่งสินค้าด้วยรถส่งของอัตโนมัติเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ หลิวประกาศว่าจะสร้างโดรนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว สำหรับส่งสินค้า โดยบริษัทกำลังทดสอบโดรนที่บินด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รับน้ำหนักได้ 5-30 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า
รายได้และกำไรของ JD.com
ปี 2015 รายได้ 951,000 ล้านบาท ขาดทุน 47,700 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 1,289,000 ล้านบาท ขาดทุน 18,800 ล้านบาท
9 เดือนแรกของปีค.ศ. 2017 รายได้ 1,227,000 ล้านบาท กำไร 4,800 ล้านบาท
ในช่วงระหว่างปี 2014-2016 ส่วนแบ่งทางการตลาดของ JD.com เพิ่มขึ้นจาก 14% ไปเป็น 25%
ขณะที่ Tmall ของ Alibaba ครองส่วนแบ่งลดลงจาก 78% เหลือ 57% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้นายหลิวถือหุ้นใน JD.com 16.2% แต่ยังมีอีกผู้ถือหุ้นที่ใหญ่กว่านายหลิว ก็คือ บริษัท Tencent คู่แข่งของ Alibaba นั่นเอง โดย Tencent ถือหุ้นใน JD.com อยู่ 21.25%
แม้กลุ่ม Alibaba ยังครองส่วนแบ่งกว่าครึ่ง แต่เชื่อว่าเมื่อแจ็ค หม่า เห็นการเติบโตของคู่แข่งรายนี้แล้วละก็ คงต้องมีเสียวกันบ้างว่าคู่แข่งจะตามมาทันเมื่อไร..
———————-
<ad> อ่านเรื่อง JD.com แล้วสนใจประเทศจีน อยากทำความรู้จักประเทศนี้มากขึ้น
“หลักสูตรระยะสั้น EoC (Expert on China) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”
เป็นหลักสูตรดีๆ ที่รวบรวมแนวคิดและกลยุทธ์การทำธุรกิจในจีนหรือกับชาวจีนให้ประสบความสำเร็จ อบรมโดยเหล่ากูรูที่มีประสบการณ์เชิงลึกในด้านต่างๆ เกี่ยวกับจีน
เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 19 ม.ค.61
เริ่มอบรม 8 มี.ค. – 21 มิ.ย. 61 ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-17.30
สมัครและรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://eoc.dpu.ac.th หรือ โทร. 065-594-9955
———————-
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.