SPAC คืออะไร ?

SPAC คืออะไร ?

15 ก.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] SPAC คือ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้น แล้วระดมทุนผ่านการ IPO จากนั้นจึงนำเงินที่ระดมทุนได้ ไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์
ทำให้บริษัทที่ควบรวมหรือถูกซื้อโดยบริษัท SPAC ก็จะกลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้อง IPO
SPAC หรือ Special Purpose Acquisition Companies
คือ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้น แล้วระดมทุนผ่านการ IPO
จากนั้นจึงนำเงินที่ระดมทุนได้ ไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งนักลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัท SPAC อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า SPAC จะนำเงินที่ได้ไปซื้ออะไร หรืออาจจะรู้เพียงคร่าว ๆ ว่าเป้าหมายที่บริษัทจะเข้าไปซื้อกิจการนั้น อยู่ในอุตสาหกรรมไหน
โดยหลังจากการระดมทุนเสร็จสิ้น โดยทั่วไปแล้วบริษัท SPAC จะมีเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อมองหากิจการที่น่าสนใจ และเจรจาเพื่อเข้าซื้อหรือควบรวมกับกิจการนั้น
และหากถึงกำหนดเวลาแล้ว ยังดำเนินการไม่สำเร็จ
บริษัท SPAC ก็จะต้องปิดตัวลง และคืนเงินที่ระดมทุนมาได้ กลับไปให้กับนักลงทุน
แต่ถ้าบริษัท SPAC สามารถเจรจาขอซื้อหุ้นของบริษัท A ได้สำเร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ
1. บริษัท SPAC จะควบรวมตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท A
2. ผู้ถือหุ้นบริษัท SPAC จะได้ถือหุ้นในบริษัท A ตามสัดส่วนโครงสร้างใหม่
3. หุ้นของบริษัท SPAC ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท A แทน
สรุปง่าย ๆ คือ บริษัท A ก็จะกลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้อง IPO โดยผ่านการขายหุ้นให้กับบริษัท SPAC ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก่อนแล้วนั่นเอง
แล้วข้อดีของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผ่านการขายหุ้นให้บริษัท SPAC คืออะไร ?
1. การขายกิจการให้กับบริษัท SPAC ใช้เวลาสั้นกว่า และมีการเจรจาต่อรองราคากับผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยโยนภาระหน้าที่การระดมทุนที่มาซื้อให้แก่ SPAC
ขณะที่การเสนอขายหุ้น IPO จะต้องผ่านขั้นตอนในการตรวจสอบของหลายฝ่าย และต้องสำรวจความต้องการของนักลงทุนมากมาย เพื่อมากำหนดช่วงราคา IPO
2. ความไม่แน่นอนของตลาด อาจทำให้ในบางครั้ง การ IPO มีความไม่แน่นอน เช่น ภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ดีอาจทำให้จำนวนผู้ที่สนใจซื้อหุ้น IPO มีน้อยลง ซึ่ก็อาจทำให้ราคาหุ้น IPO นั้นต่ำกว่าที่คาดการณ์ในตอนแรก
ซึ่งการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัท SPAC อาจมีความแน่นอนมากกว่า ทั้งในเรื่องจำนวนเงินระดมทุน และการประเมินมูลค่าบริษัท รวมไปถึงการมีผู้ซื้อรายใหญ่ที่เป็นคนเจรจากับผู้ขายอย่างชัดเจน
แต่ข้อจำกัดของบริษัท SPAC ก็มีเช่นกัน คือ

1. บริษัท SPAC ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้มีอายุเพียง 2 ปี

ซึ่งอาจทำให้ค้นหาดีลได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสตาร์ตอัปบางแห่งยังไม่รีบร้อนที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะไม่อยากให้นโยบายของบริษัทได้รับผลกระทบจากการมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลภายนอก

2. เจ้าของบริษัท SPAC จะต้องมีเครดิตและชื่อเสียงพอสมควร เพราะบริษัทที่ตกเป็นเป้าหมาย คงไม่ยอมปล่อยให้บริษัทที่ไม่มีชื่อเสียงเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

3. บริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัท SPAC อาจมีมูลค่าที่สูงเกินจริงไปมาก เพราะว่าผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่น้อยกว่า และไม่ได้ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเหมือนขั้นตอนในการ IPO
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.