เหตุผลที่ กฟผ. ต้อง Disrupt ตัวเอง แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

เหตุผลที่ กฟผ. ต้อง Disrupt ตัวเอง แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

1 ส.ค. 2022
เหตุผลที่ กฟผ. ต้อง Disrupt ตัวเอง แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
กฟผ. X ลงทุนแมน
หลายคนอาจจะไม่สังเกตว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ส่วนในปีนี้ อัตราการใช้ไฟฟ้าก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
รวมถึง ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับมา หลังสถานการณ์โควิด 19
ที่น่าสนใจก็คือ ต่อจากนี้ไปจนถึงอนาคต ประเทศไทยจะมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้า
สูงขึ้นเรื่อย ๆ
เหตุผลมาจากการค่อย ๆ เปลี่ยนถ่ายอุตสาหกรรมรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาป มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
อีกทั้งหลาย ๆ เมืองใหญ่ในประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่ “เมืองอัจฉริยะ” ที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน
ปรากฏการณ์นี้ จะทำให้อัตราการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่สูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
และในเวลาเดียวกัน เราคงได้ยินข่าวที่หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติราคาพลังงานที่แพงขึ้น
จนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกต้องเผชิญ
เรื่องนี้จึงกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สุดของ กฟผ. ในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับ กฟน. และ กฟภ.
เส้นทางที่ กฟผ. เลือก คือการ Disrupt การผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบเดิม ๆ
พร้อม Transform ตัวเองด้วยการผสมผสานพลังงานหมุนเวียน เข้ามาในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายคือ “ต้องสร้างพลังงานไฟฟ้าให้ยั่งยืน”
แล้ว กฟผ. มีแผนอะไรบ้าง เพื่อทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง ?
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าโดยใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักสูงถึง 54.51%
รองลงมาก็คือถ่านหิน มีสัดส่วน 21.50% (ข้อมูล ณ เดือน พฤษภาคม 2565)
โดยที่ผ่านมา กฟผ. พยายามลดสัดส่วนเชื้อเพลิงเหล่านี้ลง
เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลังงานหมุนเวียน
ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มาจาก น้ำ, ลม, แสงอาทิตย์ และอื่น ๆ
ที่เวลานี้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 18.05% (ข้อมูล ณ เดือน พฤษภาคม 2565)
ข้อดีของการผลิตไฟฟ้าในระบบนี้คือ เป็นแหล่งพลังงานที่มาจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตรงนี้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน กฟผ. ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปกว่า 42 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน ก็วางเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutrality..
ด้วยการวางแผนระยะยาวที่ในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือในปี ค.ศ. 2050
จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ, พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
หลายคนน่าจะเกิดคำถามว่า ในเมื่อพลังงานหมุนเวียนสามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทำไม กฟผ. ไม่ Disrupt การผลิตไฟฟ้าแบบเก่า แล้วผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด
เพราะความจริงแล้ว เรื่องนี้ยังต้องคำนึงถึง 2 เรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต และระบบเศรษฐกิจโดยตรง
นั่นคือ ความมั่นคงด้านพลังงาน และราคา
ลองมาดูเหตุผลข้อแรกกันก่อน คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน..
ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานี้คือ “จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่าน” จากการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบเดิม ๆ
มาสู่พลังงานหมุนเวียน แน่นอนว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจยังไม่พร้อมเต็มที่
อีกทั้ง หากเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก
กับประเทศไทยที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันค่อนข้างสูง
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ พลังงานไฟฟ้า จะไม่เพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละวัน
ทำให้การผลิตไฟฟ้ายังต้องเป็นรูปแบบ Hybrid หรือก็คือแบบผสมผสานกระบวนการผลิตจากเชื้อเพลิง
ควบคู่ไปกับการผลิตในรูปแบบพลังงานหมุนเวียน
เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละวันให้เกิดความเสถียรสูงสุด
ส่วนเหตุผลต่อมา คือเรื่องของ ราคา
จริงอยู่ที่ข้อดีของพลังงานหมุนเวียน คือเป็นเชื้อเพลิงที่มีไม่จำกัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่ข้อจำกัดก็มีอยู่เช่นกัน เพราะหากผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ของแต่ละวัน
ตรงนี้ก็รวมไปถึงพลังงานไฟฟ้าที่มาจากลม และน้ำ ด้วยเช่นกัน
แปลว่า หากจะเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้า มาเป็นพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก
ก็จะต้องพึ่งพาระบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่น ๆ มาผสมผสานร่วมกัน
และก็ใช่ว่าปริมาณพลังงานไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการใช้งาน จะต้องมีระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาเสริม
และปัญหาใหญ่สุด มันอยู่ที่ตรงนี้ต่างหาก เมื่อระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
และระบบกักเก็บพลังงานนั้นยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง นั่นแปลว่าจะส่งผลกระทบต่อ “ค่าไฟฟ้า” ที่จะสูงขึ้นตามมาด้วย
ถึงตรงนี้ สรุปง่าย ๆ ก็คือ การผสมผสานกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายของ กฟผ.
นอกจากที่เพื่อจะให้เพียงพอต่อการใช้งานของคนในประเทศ
ยังต้องควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้ไม่สูงจนเกินไป และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
โดยคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในเรื่องนี้ก็คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ นั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ กฟผ. ยังนำ Grid Modernization ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสุด ๆ ที่ทำให้ การผลิต, การส่ง มีความรวดเร็วสูง แต่ก็มีความยืดหยุ่น ช่วยให้การควบคุมระบบต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จะเห็นได้ว่า กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้
ทั้งระบบการจัดการต่าง ๆ จนถึงการหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร (Firm) เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นต้นแบบของพลังงานหมุนเวียนในประเทศ เช่น โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด ที่ กฟผ. ได้นำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และโครงการอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา
ส่วนในอนาคต พลังงานหมุนเวียน จะกลายเป็นระบบการผลิตไฟฟ้าหลักหรือไม่นั้น
ยังไม่มีใครตอบได้..
แต่ที่แน่ ๆ พลังงานหมุนเวียนในพอร์ตการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย ที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ทั้งหมดนี้ จึงสร้างสมดุลทั้ง 2 เรื่องที่ต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน
คือ เสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้า ที่เพียงพอต่อการใช้งานของคนทั้งประเทศ
และสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ตลอดไป..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.