ประโยชน์ที่โลกได้รับ เมื่อ “ขาแท่นปิโตรเลียม” กลายเป็นปะการังเทียม

ประโยชน์ที่โลกได้รับ เมื่อ “ขาแท่นปิโตรเลียม” กลายเป็นปะการังเทียม

9 ส.ค. 2022
ประโยชน์ที่โลกได้รับ เมื่อ “ขาแท่นปิโตรเลียม” กลายเป็นปะการังเทียม
เชฟรอน X ลงทุนแมน
หากเปรียบโลกใบนี้เป็นแอปเปิล 1 ลูก และผ่าแบ่งออกเป็น 4 ชิ้น
รู้หรือไม่ว่าจะมีแค่ 1 ชิ้นที่เป็นพื้นดิน ส่วนอีก 3 ชิ้นที่เหลือคือพื้นผิวน้ำ เช่น มหาสมุทร ทะเล และแม่น้ำต่าง ๆ
หนึ่งในพื้นน้ำที่มีความสำคัญต่อโลกใบนี้ก็คือ ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่มีสิ่งมีชีวิตนับล้านอาศัยอยู่
และสิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนบ้านแสนสุขของสัตว์น้ำ ก็คือ ปะการัง
เพียงแต่วันนี้ ปะการังทั่วโลกจนถึงใต้ท้องทะเลไทย กำลังเผชิญกับปัญหารอบด้าน
เมื่อสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล เผยว่าปะการังในเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 มีความเสียหายระดับสูงถึง 50% จากจำนวนปะการังทั้งหมด
และไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ท้องทะเลในหลายประเทศ ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้
เหตุผลหลัก ๆ มาจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น และการใช้ประโยชน์เกินควรของมนุษย์
ผลกระทบนี้ ไม่ได้จำกัดแค่ระบบนิเวศใต้ท้องทะเล แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์บนพื้นดิน
เพราะเมื่อปะการังเสียหาย จำนวนสัตว์น้ำที่มีชีวิตก็จะลดน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร
อีกทั้ง ยังทำให้ความสวยงามตามธรรมชาติของท้องทะเลค่อย ๆ หายไป
นักท่องเที่ยวก็ลดลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลระบบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชน
สิ่งที่เกิดขึ้น หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG
จึงทุ่มงบวิจัยหลายล้านบาท เพื่อนำวัสดุเหลือใช้ มาสร้างปะการังเทียม หวังให้สุขภาพของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทยแข็งแรงขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ทำงานร่วมกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาและวิจัย นำขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว มาจัดวางเป็นปะการังเทียมจำนวน 7 ขาแท่น บนพื้นท้องทะเลบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อว่า โครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs
ที่น่าสนใจคือกว่าจะมาเป็นโครงการนี้ ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี
เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลลัพธ์ของโครงการนี้จะสามารถช่วยให้สัตว์น้ำในท้องทะเล มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2551 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ PTIT
ได้เริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ ในการนำขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว มาสร้างเป็นปะการังเทียม
โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ส่วนทางฝั่งภาคเอกชนก็มี เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จนถึงผู้ประกอบการปิโตรเลียมรายอื่น ๆ ที่ได้ร่วมมือในการศึกษาและวิจัย โดยใช้เวลานานกว่าสิบปี ก่อนจะดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง
เมื่อผ่านการทดลองและวิจัยอย่างเข้มข้น จนได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง
เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมประมง, กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่า
โดยทาง เชฟรอน ได้นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม
ที่พื้นท้องทะเลของเกาะพะงัน ในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563
โดยขาแท่นเหล่านี้ เป็นขาแท่นที่สิ้นสุดการใช้งานในกิจการปิโตรเลียม แต่ยังคงมีความแข็งแรงและมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์อื่น เนื่องจากวัสดุทำจากเหล็กกล้าที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในทะเลโดยตรง
คำถามคือ แล้วเมื่อขาแท่นปิโตรเลียมเหล่านี้ ถูกเปลี่ยนมาเป็น ปะการังเทียม จะสามารถทำหน้าที่ในการเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลอย่างไร ?
ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อใต้ท้องทะเลในหลายประเทศ มีการนำขาแท่นปิโตรเลียม มาทำเป็นปะการังเทียม จนทำให้ระบบนิเวศของสัตว์ใต้น้ำดีขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น
และบางแห่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักดำน้ำชื่นชมชีวิตใต้ท้องทะเล ตัวอย่างเช่นที่ อ่าวเม็กซิโก หรืออย่างที่ใกล้บ้านเราก็มี มาเลเซีย และ บรูไน
ทีนี้หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการทำโครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs คือเพื่อนำมาถอดบทเรียนให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ จึงมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีทางศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาเรื่องนี้
ซึ่งผ่านไป 1 ปีกว่า ผลลัพธ์ที่ได้ ก็สร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายอย่างน่าเหลือเชื่อ
เริ่มต้นจาก สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล..
รู้หรือไม่ จากการเฝ้าติดตามและวิจัยพบว่า หลังจากจัดวางปะการังเทียมลงสู่ใต้ท้องทะเลนาน 1 ปี
มีจำนวนปลาเข้ามาอยู่อาศัยสูงถึง 215 ตัว/พื้นที่ปะการังเทียม 100 ตารางเมตร
และหากเทียบกับช่วง 1-3 วันแรก ที่เพิ่งจัดวางปะการังเทียม จะมีปลาเพียงแค่ 97 ตัว/100 ตารางเมตร
สรุปคือ มีจำนวนปลาเพิ่มมากขึ้นถึง 121.6% เลยทีเดียว
ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ มีปลากว่า 47 สายพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกองปะการังเทียมจากขาแท่น
และโดยส่วนใหญ่นั้น เป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาในครอบครัวปลากะพง (Lutjanidae) ปลาผีเสื้อ (Chaetodontidae)
อีกทั้งยังพบว่า มีปลาหลายชนิดที่หายไปจากพื้นที่เป็นเวลานาน ก็ได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในกองปะการังเทียม เช่น ปลาโฉมงาม ปลาริวกิว ปลาหางแข็ง
ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกเราว่า ปลาต่าง ๆ รู้สึกว่ากองปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมเป็นเหมือนปะการังจริง ๆ ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านแสนสุขของตัวเองในโลกใต้ทะเล
โดยทางศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าใน 1-2 ปีต่อจากนี้ ใต้ท้องทะเลบริเวณกองปะการังเทียมจากขาแท่น จะมีระบบนิเวศที่แข็งแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วเคยคิดบ้างไหมว่า.. สิ่งที่เกิดขึ้นกับกองปะการังเทียมใต้ท้องทะเล ก็ส่งผลต่อมนุษย์บนโลกใบนี้เช่นกัน
คิดง่าย ๆ ให้เห็นภาพ ถ้าปลาและสัตว์ใต้น้ำมีชีวิตที่ดี และสืบพันธุ์ได้จำนวนมาก ๆ
ก็ย่อมส่งผลให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำเหล่านี้ได้มากขึ้น เราก็จะได้ทานอาหารทะเลสด ๆ ในราคาที่เข้าถึงง่าย
ที่สำคัญ เมื่อใต้ท้องทะเลเต็มไปด้วยสัตว์น้ำมากมาย ที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียมจากขาแท่น
ก็จะทำให้ท้องทะเลนั้น เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาดำน้ำ หรือชมความงามของปะการังและปลาต่าง ๆ
ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านและคนในชุมชน ก็จะมีรายได้สารพัดรูปแบบจากการท่องเที่ยว พร้อมกับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เรื่องราวของโครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ทำให้เราเห็นภาพความจริงว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้
เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อกัน โครงการนี้ก็เช่นกัน
เมื่อขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วตามหน้าที่ที่ถูกสร้างมา แต่ยังคงสภาพที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์อื่น ถูกขนย้ายจากแปลงสัมปทานต่าง ๆ ในอ่าวไทยเพื่อนำไปทำลายบนฝั่ง ก็คงจะไม่สร้างให้เกิดประโยชน์ใด
แต่เมื่อนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียม สารพัดชีวิตใต้ท้องทะเลก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
มนุษย์ที่อยู่บนพื้นดินก็ได้ประโยชน์ ทั้งด้านอาหาร และมีรายได้มาหล่อเลี้ยงชีวิตของตัวเอง
คงพูดได้ว่าเป็นวงจรการเชื่อมต่อ ธุรกิจ - สิ่งแวดล้อม - ชีวิตผู้คนบนโลก ที่จะต้องเติบโตไปพร้อมกัน จึงจะเป็นโลกที่น่าอยู่ของทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตได้อย่างยั่งยืน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.