โมเดลธุรกิจ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ใครเป็นเจ้าของ ?

โมเดลธุรกิจ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ใครเป็นเจ้าของ ?

17 ส.ค. 2022
โมเดลธุรกิจ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ใครเป็นเจ้าของ ? /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงรายการแข่งขันกีฬา ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
หนึ่งในนั้นก็คือ “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ”
รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน มีการประเมินกันว่าพรีเมียร์ลีก ถูกถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมกว่า 683 ล้านครัวเรือนทั่วโลก
ซึ่งทำให้การแข่งขันมีมูลค่าตลาดสูงมาก และดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลได้อย่างต่อเนื่อง
แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า เจ้าของธุรกิจพรีเมียร์ลีกตัวจริงคือใคร
แล้วสโมสรที่ร่วมแข่งขัน ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ระบบลีกการแข่งขันฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1888 หรือเมื่อ 134 ปีที่แล้ว
โดยลีกฟุตบอลที่เข้มแข็ง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อังกฤษ ประสบความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติ
เช่น การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ในปี 1966 หรือการคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ในช่วงทศวรรษ 1960s ถึง 1970s
อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ 1980s วงการฟุตบอลอังกฤษ ได้เข้าสู่ยุคตกต่ำ และมีปัญหาแฟนบอลฮูลิแกนอยู่บ่อยครั้ง
โดยสโมสรอังกฤษถูกยูฟ่าสั่งแบน ห้ามเล่นรายการยุโรปเป็นเวลา 5 ปี หลังเหตุการณ์แฟนบอลลิเวอร์พูล ไปทำร้ายแฟนบอลยูเวนตุส จากอิตาลี ที่สนามเฮย์เซล ประเทศเบลเยียม
ส่งผลให้ความนิยมของลีกดิวิชันหนึ่งอังกฤษ เริ่มเป็นรอง กัลโช เซเรียอา ของอิตาลี และ ลาลิกา ของสเปน จนนักฟุตบอลสนใจไปค้าแข้งในประเทศอื่นมากกว่า
ประกอบกับในปี 1989 เกิดโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้ผู้ชมเข้ามาแออัดในสนามมากเกินไป จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายให้สโมสร ปรับปรุงสนามเป็นแบบเก้าอี้นั่ง และเพิ่มมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้ หลายสโมสรจึงต้องพยายามหาวิธีสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสนาม รวมทั้งเพื่อซื้อตัวนักเตะ และพัฒนาทีมให้กลับมาแข็งแกร่งทัดเทียมชาติอื่นในยุโรป
ซึ่งต่อมา กลุ่มสโมสรยักษ์ใหญ่ ได้เกิดแนวคิดที่จะแยกตัว ออกมาตั้งเป็นลีกการแข่งขันใหม่ ที่บริหารงานอิสระจากสมาคมฟุตบอล เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอำนาจต่อรองค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกับสถานีโทรทัศน์ ได้ดีลที่มีมูลค่าสูงกว่าเดิมมาก
หลังจากได้รับอนุมัติจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในปี 1992 จึงมีการก่อตั้งบริษัทเอกชน ชื่อว่า The Football Association Premier League Limited ขึ้น เพื่อรับผิดชอบจัดการแข่งขันฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก” เป็นลีกสูงสุดของประเทศ แทนดิวิชันหนึ่ง
โดยบริษัทแห่งนี้ มีผู้ถือหุ้น คือ สโมสรที่ร่วมแข่งขันในแต่ละฤดูกาล จำนวน 20 ทีม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามทีมที่ตกชั้น หรือเลื่อนชั้น มาจากดิวิชันหนึ่ง
ซึ่งในฐานะผู้ถือหุ้น สโมสรจะมอบลิขสิทธิ์ให้บริษัท ไปดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ถ่ายทอดสดการแข่งขัน และจัดทำรายการเกี่ยวกับคอนเทนต์พรีเมียร์ลีก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในการประชุมสามัญประจำปี สโมสรจะสามารถเสนอนโยบาย หรือขอปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบมากกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุม หรือ 14 ทีม
พอเป็นเช่นนี้ บริษัท พรีเมียร์ลีก จึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่ดีขึ้น ทำให้สโมสรมีเงินทุนมาปรับปรุงสนามแข่งให้มีความทันสมัย และพัฒนาทีมตลอดเวลา จนการแข่งขันมีความสนุก เข้มข้น และมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
เรามาดูมูลค่าประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก ในประเทศอังกฤษ
รอบปี 1992-1997 อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท
รอบปี 1997-2001 อยู่ที่ 29,000 ล้านบาท
รอบปี 2001-2004 อยู่ที่ 51,000 ล้านบาท
รอบปี 2004-2007 อยู่ที่ 43,000 ล้านบาท
รอบปี 2007-2010 อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท
รอบปี 2010-2013 อยู่ที่ 77,000 ล้านบาท
รอบปี 2013-2016 อยู่ที่ 130,000 ล้านบาท
รอบปี 2016-2019 อยู่ที่ 220,000 ล้านบาท
รอบปี 2019-2022 อยู่ที่ 189,000 ล้านบาท
มูลค่าประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก ในต่างประเทศ
รอบปี 1992-1997 อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท
รอบปี 1997-2001 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท
รอบปี 2001-2004 อยู่ที่ 7,600 ล้านบาท
รอบปี 2004-2007 อยู่ที่ 14,000 ล้านบาท
รอบปี 2007-2010 อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท
รอบปี 2010-2013 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท
รอบปี 2013-2016 อยู่ที่ 94,000 ล้านบาท
รอบปี 2016-2019 อยู่ที่ 137,000 ล้านบาท
รอบปี 2019-2022 อยู่ที่ 180,000 ล้านบาท
และในการประมูลรอบปี 2022-2025 มีการประมาณการว่ามูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 217,000 ล้านบาท แซงหน้า มูลค่าลิขสิทธิ์ภายในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่ 215,000 ล้านบาท ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูล เช่น Sky Sports, BT Sport, Amazon Prime Video ในประเทศอังกฤษ หรือ TrueVisions ในประเทศไทย ก็จะไปคิดค่าบริการกับสมาชิก ให้ครอบคลุมต้นทุนการประมูลต่อไป
คำถามต่อมาคือ แล้ว พรีเมียร์ลีก จัดสรรเม็ดเงินดังกล่าวให้แก่สโมสรอย่างไร ?
จากข้อมูลในฤดูกาล 2020-2021 มูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในอังกฤษ ที่พรีเมียร์ลีกนำมาจัดสรรในฤดูกาล อยู่ที่ประมาณ 58,000 ล้านบาท ซึ่งมีหลักการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 คิดเป็นสัดส่วน 50% ของเงินทั้งหมด จะแบ่งจ่ายให้แต่ละสโมสรเท่า ๆ กัน
- ส่วนที่ 2 คิดเป็นสัดส่วน 25% ของเงินทั้งหมด จะจัดสรรให้ตามอันดับตารางคะแนน โดยแต่ละอันดับจะได้รับเงินต่างกันประมาณ 70 ล้านบาท
- ส่วนที่ 3 คิดเป็นสัดส่วน 25% ของเงินทั้งหมด จะคำนวณจากจำนวนโควตานัดที่สโมสรถูกเลือกไปถ่ายทอดสด ทำให้กลุ่มทีมยักษ์ใหญ่ มักได้รับเงินก้อนนี้มากกว่า
ขณะที่มูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศ ที่พรีเมียร์ลีกนำมาจัดสรรในฤดูกาล อยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท มีหลักการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของเงินทั้งหมด จะแบ่งจ่ายให้แต่ละสโมสรเท่า ๆ กัน
- ส่วนที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของเงินทั้งหมด จะจัดสรรให้ตามอันดับตารางคะแนน โดยแต่ละอันดับได้รับเงินต่างกันประมาณ 17 ล้านบาท
นอกจากนั้น พรีเมียร์ลีกยังมีรายได้จากการขายสินค้าอื่น ๆ
โดยในฤดูกาลก่อน ทำยอดขายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท
ซึ่งบริษัทนำมาแบ่งจ่าย ให้แต่ละสโมสรเท่ากัน
สรุปแล้วในปัจจุบัน ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ สามารถสร้างเม็ดเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในอังกฤษ และต่างประเทศ รวมทั้งค่าขายสินค้า รวมทั้งหมดได้มากถึง 108,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
แม้พรีเมียร์ลีก จะพยายามจัดสรรผลประโยชน์เหล่านี้ให้อย่างใกล้เคียงกัน
แต่สโมสรต่าง ๆ ก็จะมีช่องทางการหารายได้อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันในสนาม, ค่าสปอนเซอร์ และค่าขายสินค้าของตัวเอง
จากเรื่องราวนี้จะเห็นได้ว่า
การเกิดขึ้นของพรีเมียร์ลีก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ ก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้ อังกฤษต้องเผชิญกับปัญหาแฟนบอลและสนามแข่งขัน จนความนิยมถดถอยลง
แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบเดิมที่อยู่มากว่า 100 ปี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม และนำมาลงทุนต่อยอดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงสนามแข่งขัน หรือพัฒนาทีมให้แข็งแกร่ง
ซึ่งทำให้สามารถพลิกโฉมไปสู่การแข่งขันที่สนุก ตื่นเต้น มีความปลอดภัย และน่าติดตามชมในเวลาเดียวกัน จึงส่งผลให้พรีเมียร์ลีก ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าในอนาคต ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ จะยังคงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกต่อไป และอาจมีมูลค่าประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด พุ่งสูงขึ้นมากกว่านี้ อีกหลายแสนล้านบาท ก็เป็นไปได้เหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://startupsapience.medium.com/how-does-the-english-premier-league-make-money-d1d10e7963e0
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Premier_League
-https://historyofsoccer.info/premier-league-founded
-https://www.premierleague.com/about
-https://www.premierleague.com/news/2222377
-https://theathletic.com/news/premier-league-overseas-tv-rights-will-top-domestic-rights-for-first-time-in-next-cycle/PCVIj5mN8OBk/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.