DE Ratio คืออะไร ?

DE Ratio คืออะไร ?

[ประเด็นสำคัญ] DE Ratio คือ อัตราส่วนที่บอกว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัท

DE Ratio หรือ Debt to Equity Ratio คือ อัตราส่วนที่บอกว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
มีสูตรว่า DE Ratio = Debt/Equity
โดยที่
D คือ Debt หรือ หนี้สินรวมของบริษัท
E คือ Equity หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีหนี้สิน 300 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 200 ล้านบาท
จะได้ว่า DE Ratio เท่ากับ 300/200 = 1.5 เท่า
หรือพูดได้ว่า บริษัท A มีหนี้สินเป็น 1.5 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งวิธีดูค่า DE Ratio มีดังนี้
- มากกว่า 1 เท่า แปลว่า บริษัทมีหนี้มากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
- เท่ากับ 1 เท่า แปลว่า บริษัทมีหนี้เท่ากับส่วนของผู้ถือหุ้น
- น้อยกว่า 1 เท่า แปลว่า บริษัทมีหนี้น้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
จะเห็นได้ว่า DE Ratio เป็นตัวสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
บริษัทอาศัยแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมหนี้ หรือเงินทุนของตัวเองมาใช้ในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน
ค่า DE Ratio ยิ่งสูง แสดงว่า บริษัทนั้นยิ่งมีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย
จากการที่มีหนี้สินสูงเกินไป ซึ่งทำให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงตามไปด้วย
จนอาจส่งผลต่อฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทได้
ถึงตรงนี้ ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า บริษัทมีค่า DE Ratio สูง แสดงว่า บริษัทอาศัยแหล่งเงินทุนจากหนี้มาก
กลับกัน หากค่า DE Ratio ต่ำ แสดงว่า บริษัทอาศัยแหล่งเงินทุนจากหนี้น้อย
อย่างไรก็ตาม DE Ratio สามารถติดลบได้เช่นกัน หากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ
ซึ่งก็ทำให้ DE Ratio ไม่สามารถบอกว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นได้
แต่นั่นก็หมายความว่า บริษัทนั้นมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ของบริษัท มีความเสี่ยงล้มละลายสูงมาก
ทั้งนี้ DE Ratio จะมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละธุรกิจอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ธนาคารอาศัยการระดมทุนจากเงินฝาก มาปล่อยสินเชื่ออีกที
ซึ่งเงินฝากจะถูกนับเป็นส่วนหนี้สิน ทำให้ธนาคารมักจะมี DE Ratio ที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทก็อาจจะมีหนี้สินที่สูงมาจากส่วนของเจ้าหนี้การค้า ซึ่งเป็นหนี้สินที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย และเป็นผลดีต่อธุรกิจ เช่นธุรกิจค้าปลีก ที่ขายสินค้าเป็นเงินสด แต่จ่ายหนี้ในระยะเวลาหลายเดือนข้างหน้า
ดังนั้น การดูเพียง DE Ratio อย่างเดียวยังคงไม่พอ แต่ควรดูรูปแบบการทำธุรกิจประกอบด้วย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon