Monetary Policy คืออะไร ?

Monetary Policy คืออะไร ?

[ประเด็นสำคัญ] Monetary Policy หรือ นโยบายทางการเงิน
คือ นโยบายของธนาคารกลาง ที่ใช้ในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ
ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
Monetary Policy หรือ นโยบายทางการเงิน
คือ นโยบายของธนาคารกลาง ที่ใช้ในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ
ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือหลัก ๆ ที่ธนาคารกลาง ใช้ในการควบคุมปริมาณเงินในระบบก็จะมี
1. การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน
เช่น การทำ QE หรือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ, การทำ QT หรือการถอนเงินออกจากระบบ
2. การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง
3. การปรับ Reserve Requirement หรือเงินสำรองส่วนที่ธนาคารต้องมีไว้ โดยห้ามนำไปปล่อยกู้
ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ จะถูกปรับใช้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น
ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังร้อนแรงมากเกินไป เช่น เศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าระดับปกติ
ธนาคารกลางก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ ในการปรับลดความร้อนแรงนั้นลง เช่น การถอนสภาพคล่องออกจากระบบ, การขึ้นอัตราดอกเบี้ย, การปรับเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งเราจะเรียกนโยบายนี้ว่า Contractionary Monetary Policy หรือ “นโยบายการเงินแบบหดตัว”
ยกตัวอย่างการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว เช่น
- ธนาคารกลางทำการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องมี Reserve Requirement ในสัดส่วนที่สูงขึ้น
เพราะการมีสัดส่วนเงินสำรองที่มากขึ้น จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้ในปริมาณที่น้อยลง
โดยทั่วไปแล้วนโยบายเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้เงินในระบบมีปริมาณลดลง ซึ่งก็จะช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงได้
กลับกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย เช่น ในช่วงที่ GDP ติดลบติดต่อกันหลายไตรมาส
ธนาคารกลางก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ ในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ, การลดอัตราดอกเบี้ย, การปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งเราจะเรียกนโยบายนี้ว่า Expansion Policy หรือ “นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย”
ยกตัวอย่างการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น
- ธนาคารกลางทำการเข้าซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองที่สามารถนำไปปล่อยกู้ได้มากขึ้น
- ธนาคารกลางทำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยลดลงตาม
ดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง นั่นหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ทำให้เหล่าผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการกู้เงินไปลงทุนมากขึ้นนั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วนโยบายเหล่านี้ จะช่วยให้มีปริมาณเงินในระบบมากขึ้น
ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจ จะขยับไปในทิศทางใดนั้น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางแต่เพียงผู้เดียว
ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการคลังจากฝั่งรัฐบาล หรือ Fiscal Policy ก็มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon