รู้จัก “Dexter Shoe” การลงทุนแย่ที่สุด ของบัฟเฟตต์

รู้จัก “Dexter Shoe” การลงทุนแย่ที่สุด ของบัฟเฟตต์

16 ต.ค. 2022
รู้จัก “Dexter Shoe” การลงทุนแย่ที่สุด ของบัฟเฟตต์ /โดย ลงทุนแมน
“นี่เป็นดีลการลงทุนที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยลงทุนมา”
นี่คือคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลก
ที่ปัจจุบันมีทรัพย์สินกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
โดยดีลที่เขาพูดถึงก็คือ การเข้าซื้อหุ้น “Dexter Shoe”
ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้าสัญชาติอเมริกัน ด้วยมูลค่าสูงเกือบ 130,000 ล้านบาท
แล้วดีลในครั้งนั้น กลายเป็นความผิดพลาดของ บัฟเฟตต์ ได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Dexter Shoe ก่อตั้งขึ้นในปี 1956 โดยแฮโรลด์ อัลฟอนด์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน
โดยแรกเริ่ม Dexter Shoe ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตรองเท้าเท่านั้น
แต่พอธุรกิจไปได้สวย ในเวลาต่อมาจึงหันมาผลิตรองเท้าแบรนด์ตนเอง ที่มีชื่อว่า “Dexter”
หลังจากนั้น Dexter Shoe ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
ทำให้หลายบริษัทได้ติดต่อเข้ามา เพื่อขอร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวอัลฟอนด์ ก็ยังไม่ได้ตอบตกลงที่จะร่วมธุรกิจกับบริษัทรายไหน
เหตุผลก็เพราะว่า ข้อเสนอของบริษัทเหล่านั้น เป็นการขอเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร Dexter Shoe ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวอัลฟอนด์ไม่เห็นด้วย
จนกระทั่งมาในปี 1993 “Berkshire Hathaway” ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ติดต่อขอซื้อหุ้น Dexter Shoe พร้อมกับข้อตกลงที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร ครอบครัวอัลฟอนด์จึงได้ตอบตกลงที่จะขายหุ้นให้ในที่สุด
โดยบัฟเฟตต์ซื้อหุ้นของ Dexter Shoe ด้วยการใช้วิธีแลกกับหุ้น Berkshire Hathaway จำนวน 25,203 หุ้น มูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาทในขณะนั้น
ซึ่งบัฟเฟตต์ให้เหตุผลในการเข้าซื้อหุ้น Dexter Shoe ไว้ว่า “มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเหนือคู่แข่ง”
แต่หลังจากนั้นไม่นาน Dexter Shoe ก็เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
เพราะรูปแบบสินค้าต่าง ๆ ได้รับความนิยมน้อยลง
ประกอบกับเจอคู่แข่งจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาตีตลาดในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า เนื่องจากผลิตจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำ
เรียกได้ว่า คู่แข่งจากต่างประเทศก็ได้รุกหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนในปี 1999 คู่แข่งจากต่างประเทศก็สามารถครองส่วนแบ่งกว่า 90% ของรองเท้าที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดได้สำเร็จ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ผลประกอบการของ Dexter Shoe ย่ำแย่ลงเป็นอย่างมาก
ส่งผลให้ในปี 2001 มูลค่าหุ้นที่บัฟเฟตต์ถืออยู่นั้น ลดลงเหลือเพียง 8,700 ล้านบาท
หรือพูดได้ว่า ในระยะเวลา 8 ปี ที่ลงทุนในหุ้น Dexter Shoe บัฟเฟตต์ขาดทุนราว 7,300 ล้านบาท
ถึงแม้ว่า เมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมดของ Berkshire Hathaway อาจเป็นเม็ดเงินที่ไม่ได้มากนัก
แต่รู้ไหมว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 8 เท่า
ซึ่งหากคิดออกมาเป็นมูลค่าหุ้นที่ Berkshire Hathaway เอาไปแลกมานั้น กลายเป็นว่า จริง ๆ แล้ว บัฟเฟตต์ต้องเสียหุ้น Berkshire Hathaway มูลค่าเกือบ 130,000 ล้านบาท เพื่อไปแลกกับหุ้น Dexter Shoe
ถึงขนาดที่บัฟเฟตต์ออกมาพูดถึงความผิดพลาดครั้งนี้เอาไว้ว่า “นี่เป็นดีลการลงทุนที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยลงทุนมา” เลยทีเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า ในโลกการลงทุน คงไม่มีนักลงทุนคนไหนที่คิดถูกทุกครั้ง
ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังเคยผิดพลาด
แต่ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ หากมันผิดพลาดไปแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้นบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้ตัวเราผิดพลาดแบบเดิม ๆ ในอนาคต..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/profile/warren-buffett/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Harold_Alfond
-https://markets.businessinsider.com/news/stocks/warren-buffett
-https://www.reuters.com/article/us-berkshire-buffett-failure
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.