รู้จัก “ปั๊มช้างแดง” ที่ ซีพี กับ ปตท. เคยร่วมลงทุน

รู้จัก “ปั๊มช้างแดง” ที่ ซีพี กับ ปตท. เคยร่วมลงทุน

18 ต.ค. 2022
รู้จัก “ปั๊มช้างแดง” ที่ ซีพี กับ ปตท. เคยร่วมลงทุน /โดย ลงทุนแมน
มาวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซีพี”
หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีธุรกิจแทบจะครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม
ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น ธุรกิจอาหารและการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ซีพีเคยเข้าไปทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันด้วย
โดยปั๊มนั้นมีชื่อว่า “ปิโตรเอเชีย” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ปั๊มช้างแดง”
แล้วเรื่องราวของปั๊มช้างแดงเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เราลองมาดูภาพรวมธุรกิจคร่าว ๆ ของซีพีกันก่อน
- ธุรกิจการเกษตร ผ่านบริษัท CPF
- ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ผ่านแบรนด์ร้าน 7-Eleven, ห้างค้าส่ง Makro และห้างค้าปลีก Lotus's
- ธุรกิจสื่อสาร ผ่านแบรนด์ True
- ธุรกิจยานยนต์ ผ่านแบรนด์ MG
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านบริษัท CP Land
- ธุรกิจประกันภัย ผ่านบริษัท Ping An ในประเทศจีน
แต่ในอดีตเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ซีพีเองก็ได้เคยลงทุนทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันด้วย
โดยเป็นการลงทุนร่วมกับ ปตท. และซิโนเปค บริษัทพลังงานรายใหญ่ของจีน
ซึ่งทั้งสามราย ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน โดยใช้ชื่อว่า ปิโตรเอเชีย ขึ้นมา เพื่อประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น ซีพี 35% ปตท. 35% และซิโนเปค 30%
โดยในปี 2537 ปั๊มช้างแดงได้เริ่มเปิดให้บริการปั๊ม 37 แห่ง และจุดจ่ายน้ำมันขนาดเล็กอีก 450 แห่งทั่วประเทศ
ซึ่งจุดเด่นของทางปั๊มปิโตรเอเชีย จะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรสีแดง P และ A เรียงติดกันคล้ายกับรูปช้าง จึงทำให้หลายคนเรียกกันติดปากว่า ปั๊มช้างแดง
นอกจากนี้ ปั๊มช้างแดงได้มีการนำร้าน 7-Eleven เข้ามาเปิดให้บริการภายในปั๊มด้วย
ซึ่งน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ซีพีรุกเข้าสู่ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ก็เพื่อมาต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ปั๊มช้างแดงกลับประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปี 2540 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ส่งผลให้ซีพีและซิโนเปคต้องการถอนทุนออก ในเวลาต่อมาจึงได้ยื่นข้อเสนอให้ ปตท. รับปั๊มช้างแดงไปดูแลทั้งหมด
แต่ทาง ปตท. ก็ได้ปฏิเสธไปในตอนแรก
เพราะตัวเองก็ได้รับผลกระทบ จากวิกฤติเศรษฐกิจไม่ต่างกัน
ณ ขณะนั้น ปตท. ขาดสภาพคล่องกว่า 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องประคับประคองสถานีบริการน้ำมันของตัวเองกว่า 1,500 แห่ง ให้รอดพ้นจากวิกฤติดังกล่าวเช่นกัน
รวมไปถึง สถานีบริการน้ำมันของ ปตท. กับปั๊มช้างแดงหลายแห่ง ก็ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
ทำให้ ปตท. มองว่าจะเกิดการแข่งขันกันเอง
แต่ท้ายที่สุด ในปี 2541 หลังจากเจรจาต่อรองกัน ปตท. จึงยอมซื้อปั๊มช้างแดงจำนวน 17 แห่ง ด้วยเงินราว 200 ล้านบาท และส่วนที่เหลือที่ดูแลโดยตัวแทน หากมีการดำเนินกิจการต่อ ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อของ ปตท.
ส่งผลให้ ปั๊มช้างแดงมีทั้งถูกเปลี่ยนไปใช้ชื่อของ ปตท. แทน และบางส่วนก็ได้เลิกกิจการไป
ทำให้ปั๊มช้างแดงค่อย ๆ เลือนหายไปจากประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมา
ถือเป็นการปิดฉากปั๊มช้างแดง
หลังจากเปิดให้บริการมาเพียง 5 ปีเท่านั้นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ในปี 2540 ปตท. ได้ร่วมทุนกับทิพยประกันภัย และเอเอ็มพีเอ็ม เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อ เพื่อทำร้านค้าสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ภายใต้แบรนด์ “am pm”
อย่างไรก็ตาม am pm ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก
ทำให้ ปตท. ตัดสินใจปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2545
โดยหันไปจับมือกับร้าน 7-Eleven ให้เข้ามาทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน แทนที่ร้าน am pm นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
- https://th.wikipedia.org/wiki
- https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000086487
- https://viratts.com/2012/11/12/ptt/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Charoen_Pokphand
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.