ทำไม สนามบินของสิงคโปร์ ถึงดีสุดในโลก 8 ปีซ้อน

ทำไม สนามบินของสิงคโปร์ ถึงดีสุดในโลก 8 ปีซ้อน

19 ต.ค. 2022
ทำไม สนามบินของสิงคโปร์ ถึงดีสุดในโลก 8 ปีซ้อน /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงก่อนโควิด 19 มีผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินชางงีของสิงคโปร์กว่า 63 ล้านคน
ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของสิงคโปร์ถึง 10 เท่า
ที่น่าสนใจคือ สนามบินชางงี สามารถรองรับผู้โดยสาร และเที่ยวบินจำนวนมากได้อย่างไม่ติดขัด จนได้รับการจัดอันดับโดย SKYTRAX ยกให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกถึง 8 ปีซ้อน
ซึ่งในปีล่าสุด ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่มีการบริการดีที่สุดในโลกอีกด้วย
อะไรที่ทำให้สนามบินชางงี บนเกาะเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ กลายเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในอดีตนั้น สนามบินชางงีไม่ได้เป็นสนามบินหลักของสิงคโปร์
เพราะสนามบินหลักที่ให้บริการด้านการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศในตอนนั้น
ตั้งอยู่ที่ Paya Lebar ทางทิศตะวันออกของเกาะ
ส่วนสนามบินชางงี ถูกใช้ในด้านการบินทางทหาร เพื่อเป็นฐานทัพอากาศให้กับกองทัพสิงคโปร์
โดยถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของสนามบิน ก็ถูกใช้ไปเพื่อการทหารเป็นหลัก
ต่อมาเมื่อสิงคโปร์เริ่มเจริญขึ้น ความแออัดของผู้โดยสารของสนามบิน Paya Lebar ก็มากขึ้น
ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ ภายใต้การนำของนายลี กวน ยู มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง นั่นคือ

- ขยายสนามบินเดิมเพื่อรองรับการเติบโต
- ย้ายไปสร้างใหม่ในบริเวณที่มีพื้นที่กว้างมากขึ้น
รัฐบาลสิงคโปร์ จึงได้ตัดสินใจที่จะย้ายไปยังสนามบินแห่งใหม่ เนื่องจากสนามบินเก่าอยู่ใกล้เมือง ทำให้ขยายการเติบโตได้ลำบากในอนาคต และอาจทำให้เกิดมลพิษทางเสียงในเมืองได้
สนามบินชางงี จึงได้กลายมาเป็นสนามบินหลักของสิงคโปร์ โดยมีการย้ายฐานทัพอากาศไปไว้ที่สนามบิน Paya Lebar แทน ในขณะที่สนามบินชางงี มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม โดยสร้างพื้นที่ใหม่บนทะเลทางด้านทิศตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุมัติงบประมาณ เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งสิ้น 315,600 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและต่อเติมสนามบินชางงี เช่น การสร้าง Terminal แห่งใหม่ การวางระบบเรดาร์ให้ครอบคลุม และการย้ายระบบต่าง ๆ จากสนามบินเก่ามายังสนามบินใหม่
ในปี 1981 สนามบินชางงีจึงได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้สิงคโปร์สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสาร เที่ยวบิน และการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้
โดยหากไปดูสถิติย้อนหลัง จะพบว่า
- ในปี 1981 จำนวนผู้โดยสาร 8.1 ล้านคน จำนวนขนส่งทางอากาศ 193,000 ตัน
- ในปี 1990 จำนวนผู้โดยสาร 15.6 ล้านคน จำนวนขนส่งทางอากาศ 623,800 ตัน
จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ในขณะที่การขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
จึงดูเหมือนว่า รัฐบาลสิงคโปร์คิดถูกที่ย้ายสนามบินออกมา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง
แต่การย้ายสนามบินมายังที่แห่งใหม่ ก็ไม่อาจการันตีว่า สนามบินชางงีจะประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงคิดต่อยอดสนามบินแห่งนี้
แผนพัฒนาสนามบินชางงีจึงถูกสร้างขึ้น ซึ่งเป็นแผนที่มีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งเป้าว่าจะต้องกลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการบินของเอเชียให้ได้
แผนงาน Terminal 2 จึงได้เริ่มขึ้น และได้มีการวางแผนการก่อสร้างทันที หลัง Terminal 1 เริ่มเปิดให้บริการ
ซึ่ง Terminal 2 ของสนามบินชางงี ก็เปิดให้บริการได้สำเร็จในปี 1990
และยังได้วางแผนการก่อสร้าง Terminal 3 ต่อทันที
แต่ในช่วงเวลานั้น สนามบินหลายแห่งในเอเชียเริ่มแข่งขันกัน เพื่อแย่งเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ หรือสนามบินกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย
เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นสิงคโปร์ Terminal 3 จึงถูกออกแบบมาให้แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
ด้วยการใช้ต้นไม้และธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร มีความโปร่ง และต้องใช้พลังงานให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามารู้สึกว่ามาถึงสิงคโปร์จริง ๆ
ซึ่งเมื่อดูจากจำนวนผู้โดยสารหลังจากที่เปิดใช้งาน Terminal 3 ในปี 2008 ก็เรียกได้ว่าสนามบินชางงีทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ในปี 2010 มีจำนวนผู้โดยสาร 42 ล้านคน
- ในปี 2016 มีจำนวนผู้โดยสาร 58 ล้านคน
โดยมีการเชื่อมต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 380 เมือง มีเที่ยวบินมากกว่า 7,000 เที่ยวต่อสัปดาห์
ผ่านการจับมือกับสายการบินกว่า 100 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางบิน ทำให้สนามบินชางงีกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางของเส้นทางทั้งทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา
จึงมีสายการบินชื่อดังมาตั้งสำนักงานอยู่มากมาย เช่น Cathay Pacific รวมไปถึงผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศรายใหญ่ สัญชาติอเมริกัน อย่าง FedEx
เมื่อสนามบินมีการขยายตัวและมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น นอกจากจะขยายอาคารผู้โดยสารแล้ว
รัฐบาลสิงคโปร์ยังตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเฉพาะขึ้นมาบริหารในปี 2009 โดยมีชื่อว่า “Changi Airport Group” ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง และสามารถบริหารสนามบินได้ด้วยตัวเอง
การพัฒนาสนามบินดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนไปถึงการเปิดตัวห้างสรรพสินค้า Jewel Changi Airport ในปี 2019 ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในสนามบิน
โดยมีจุดเด่นคือ น้ำตกขนาดสูงกว่า 40 เมตร ที่อยู่ใจกลางของห้าง ก็กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญให้กับสนามบินสิงคโปร์ ทำให้กลายเป็นภาพจำ และสร้างความประทับใจให้กับนักเดินทาง
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการบริการภายในสนามบิน อย่างเช่น ระบบเช็กอินแบบไร้สัมผัส หุ่นยนต์แม่บ้าน และผนังสามมิติที่มีลูกเล่นต่าง ๆ
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้โดยสารแล้ว
ยังช่วยให้การจัดการขั้นตอนในสนามบินเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น การออกตั๋ว การให้บริการ
ทำให้ผู้โดยสารไม่แออัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสนามบินเป็นระยะเวลานาน
แล้วรายได้ของสนามบินชางงี มาจากที่ใดบ้าง ?
หากไปดูโครงสร้างรายได้ของ Changi Airport Group จะพบว่า
- 37% รายได้จากค่าเช่าและส่วนแบ่งผลประโยชน์
- 31% รายได้ค่าธรรมเนียมสนามบิน
- 27% รายได้อื่น ๆ เช่น บริการขนส่งสินค้า และที่จอดรถ
เห็นได้ว่า รายได้หลักของสนามบินชางงี ไม่ได้มาจากรายได้ที่เกี่ยวกับเครื่องบินเพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีรายได้จากด้านอื่น เช่น การให้เช่าแก่ร้านค้าปลอดภาษีอากร การขนส่งสินค้า และบริการอื่น ๆ
และทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกรวดเร็ว การรองรับผู้โดยสารจำนวนมากได้อย่างไม่ติดขัด รวมไปถึงบรรยากาศ และคุณภาพการให้บริการ ก็ได้ทำให้สนามบินชางงี กลายเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของทวีปเอเชีย และได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ถึง 8 ปีติดต่อกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.changiairport.com/corporate/about-us/our-story.html
-https://bit.ly/3rGFwj5
-https://www.reuters.com/article/us-singapore-plan-idUSBRE97H09B20130818
-https://bit.ly/3ViDtiE
-https://www.changiairport.com/corporate/about-us/our-belief.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Changi_Airport
-https://biblioasia.nlb.gov.sg/vol-17/issue-3/oct-dec-2021/changi-airport
-https://bit.ly/3MhQq8t
-https://www.youtube.com/watch?v=sjpWZ68lXso
-https://www.youtube.com/watch?v=qOLF8bRD9N0
-https://gallery.changiairport.com/media-centre/resources/archives.html
-https://youtu.be/4Zu_E1ZchnM
-https://biblioasia.nlb.gov.sg/vol-17/issue-3/oct-dec-2021/changi-airport-rsrc
-https://en.wikipedia.org/wiki/SATS_(company)
-https://www.changiairport.com/en/maps.html#14.04/1.3552/103.98732/-67
-https://bit.ly/3fVX9sH
-https://cnb.cx/3eheWKu
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.