แรงงานต่างด้าว กระดูกสันหลัง ของเศรษฐกิจไทย

แรงงานต่างด้าว กระดูกสันหลัง ของเศรษฐกิจไทย

17 ธ.ค. 2022
แรงงานต่างด้าว กระดูกสันหลัง ของเศรษฐกิจไทย /โดย ลงทุนแมน
ปัญหาต่าง ๆ จากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย คงเป็นข่าวที่หลายคนได้ยินกันมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะสิ่งที่หลายคนเป็นกังวลกัน ก็คือการที่แรงงานต่างด้าวอาจจะเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ
คำถามที่ตามมาคือ แล้วทำไมเราถึงต้องเปิดรับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จำเป็นต่อประเทศไทยมากแค่ไหน ทำไมไทยถึงขาดไม่ได้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า ณ เดือนตุลาคม ปี 2565 ไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศ มากถึง 2.7 ล้านคน โดยเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ถึง 2.4 ล้านคน หรือคิดเป็นถึง 90% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด
ซึ่งจากการวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ เป็นแรงงานทักษะต่ำ และตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเป็นการเข้ามาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ ซึ่งเรียกว่าเป็นงาน 3D ได้แก่
งานหนัก (Difficult)
งานสกปรก (Dirty)
และงานอันตราย (Dangerous)
ทั้งนี้บริษัทที่มีอัตราการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง มักจะเป็นบริษัทที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า SMEs โดยสำหรับบริษัทขนาดเล็ก ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากถึงครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่ต่ำกว่าบริษัทขนาดเล็กมาก
จากโครงสร้างของตลาดแรงงาน ก็จะเห็นว่าหากประเทศไทยไม่มีแรงงานต่างด้าว จะทำให้อุปทานแรงงานขาดแคลน และทำให้หลายบริษัทต้องแบกรับต้นทุนค่าจ้างแรงงานมากกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจจะหาลูกจ้างไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการประหยัดต่อขนาด มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตแทนแรงงาน หรือมีอัตราการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวต่ำ ก็คงสามารถที่จะปรับตัวได้ไม่ยาก
ตรงกันข้ามกับบริษัทขนาดเล็ก ที่มักมีต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากมีการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และมีอัตราการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง การปรับตัวจะเป็นไปได้ยาก และส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของบริษัท
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันกิจการประเภท SMEs ของไทย ที่มีสัดส่วนเป็น 95% ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานคิดเป็นกว่า 50% ของธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นความอยู่รอดของธุรกิจ SMEs จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
และไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว เพราะผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน
เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า หากไม่มีแรงงานต่างด้าว ต้นทุนของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตาม
ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่มากขึ้น และอาจทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลงตาม
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในความจำเป็นของแรงงานต่างด้าวคือ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำนั่นเอง
และยิ่งประกอบกับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนกำลังแรงงานที่ลดลง จากอัตราการเกิดที่ต่ำลง ก็ยิ่งทำให้แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น
แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ เพราะเมื่อมองอีกมุมหนึ่ง แรงงานต่างด้าวก็อาจเข้ามาสร้างปัญหาให้ประเทศไทยได้เหมือนกัน เนื่องจากเข้ามาแย่งงานจากคนไทย และทำให้แรงงานไทยมีโอกาสว่างงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ โดยให้ทำเฉพาะงานในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อไม่ให้กระทบกับโอกาสในการทำงานของคนไทย
โดยสำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดงานที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำไว้ทั้งสิ้น 40 งาน ทั้งแบบห้ามทำเด็ดขาด เช่น งานเร่ขายสินค้า งานนายหน้า งานตัดผม และแบบทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น งานกสิกรรม งานช่างก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างอาคาร เป็นต้น
แต่ที่น่าเป็นกังวล คือ ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน เพราะจะไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของรัฐ ซึ่งนอกจากความเสี่ยงที่จะเข้ามาทำงานต้องห้ามแล้ว ยังเป็นที่มาของปัญหาการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ปัญหาขบวนการนายหน้า และปัญหาการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ ด้วยการตรวจสอบดูแลที่ทำได้ยาก ยังอาจทำให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาสาธารณสุขตามมาอีกด้วย
ยิ่งเมื่อรัฐมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนไม่ไหว อาจหันไปพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างแรงงาน ตามค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่าง ๆ รุนแรงยิ่งขึ้น
จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยการออกกฎระเบียบที่ครอบคลุมและเข้มงวด รวมไปถึงการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัญหาต่าง ๆ ของแรงงานต่างด้าวจะสามารถแก้ไขได้ แต่การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากเกินไป ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่ดี เพราะทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพของจำนวนแรงงาน
อย่างเช่น ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ที่ทำให้แรงงานต่างด้าวในไทยทยอยเดินทางกลับประเทศ และแม้ว่าภาคการผลิตและการบริการเริ่มกลับมาดำเนินการได้
แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเข้าเมือง และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงการตรวจร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในไทยได้ จนทำให้ไทยต้องเจอภาวะขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากถึง 500,000 คน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ฟื้นฟูได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ การยึดติดกับความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่แสวงหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มความได้เปรียบ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวลดลง
ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวลง เพื่อสร้างเสถียรภาพของจำนวนแรงงาน โดยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ SMEs ที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระดับสูง รวมไปถึงภาคเกษตรกรรม ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในระดับโลกให้กับธุรกิจต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ในวันนี้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงจำเป็นสำหรับประเทศไทยมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ
ซึ่งสิ่งที่เราต้องมี คือ กฎระเบียบ และกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา
และสิ่งที่สำคัญก็คือ การพัฒนาแรงงานคนไทยให้มีความสามารถ และผลักดันแรงงานเหล่านี้ให้อยู่ในระบบงานที่ใช้ทักษะสูงนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.pier.or.th/abridged/2020/14/
-https://www.tcg.or.th/news_inside.php?news_id=37
-https://www.bangkokbanksme.com/en/labor-cost-smes
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256402TheKnowledge_MigrantWorkers-.aspx
-https://www.nsc.go.th
-https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/5f1647a6a36ab3623b114f9fb1236859.pdf
-https://www.doe.go.th/prd/alien/news/param/site/152/cat/7/sub/0/pull/detail/view/detail/object
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Documents/PhraSiam0264/BOT_Issue_2-64.pdf#page=36
-https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/04/wb101.pdf
-https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20180202091205.pdf
-https://www.thairath.co.th/business/economics/2443300
-https://so02.tci-thaijo.org › jam › article › download
-https://www.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/2/2022/09/PrakadWageMOL2565-11-for20Sep2565.pdf
-https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/legal_th/68c9bf9be8ce0073681f327e8455e35f.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.