ปัญหารถติด กระทบเศรษฐกิจไทย ปีละ 10,000 ล้านบาท

ปัญหารถติด กระทบเศรษฐกิจไทย ปีละ 10,000 ล้านบาท

29 ธ.ค. 2022
ปัญหารถติด กระทบเศรษฐกิจไทย ปีละ 10,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนแมน
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรติดขัดมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก โดยข้อมูลจาก TomTom ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันการเดินทาง ระบุว่า
ในปี 2018 และปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการล็อกดาวน์ กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีรถติดเป็นอันดับ 8 และ 11 ตามลำดับ จากผลสำรวจกว่า 400 เมืองใน 56 ประเทศทั่วโลก

แล้วรู้หรือไม่ว่า ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากจะทำให้หลายคนหงุดหงิดอารมณ์เสียแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงิน นับหมื่นล้านบาทต่อปี
ทำไมแค่รถติด ถึงทำให้ไทยเสียเงินได้มากขนาดนั้น
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คงเจอกับปัญหาการจราจรจนเคยชิน ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก
- มีปริมาณรถยนต์มากจนเกินไป
โดยจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ สูงถึง 11.6 ล้านคัน โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ยังไม่นับรวมรถยนต์ ที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่น แต่เข้ามาวิ่งในเขตกรุงเทพฯ
- ระบบขนส่งสาธารณะหลักอย่างรถไฟฟ้า ยังไม่ครอบคลุมย่านที่อยู่อาศัยสำคัญ ๆ และมีค่าโดยสารที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่ระบบขนส่งอื่น ๆ ยังขาดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
- ศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำให้ประชากรจากทั่วประเทศ เลือกที่จะเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ
ซึ่งปัญหาการจราจร นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ยังส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ ในแง่ของค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสอีกด้วย
โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปัญหาการจราจรติดขัดนั้น ทำให้ชาวกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาเดินทางนานขึ้นเฉลี่ย 35 นาทีต่อรอบการเดินทาง
ซึ่งถ้าหากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ผู้คนจะใช้เวลาไปทำงาน หรือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งความสูญเสียนี้ เราเรียกว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจที่หายไป โดยไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ หรือ Unrecoverable Loss เป็นความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ ในแง่ประสิทธิภาพของการสร้างผลผลิตของประเทศ
นอกจากนี้ การจราจรที่ติดขัดยังส่งผลให้มีการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งรายจ่ายในด้านต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี
การที่ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ส่งผลให้ผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจอื่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยังไม่รวมปัญหาด้านมลพิษ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ของการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพตามมา
นอกจากนี้ปัญหาการจราจร ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกอยากออกจากบ้านน้อยลง ส่งผลให้การใช้จ่าย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดลงด้วย
แล้วปัญหานี้ควรแก้ไขอย่างไร ?
หากสังเกตหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกง ซึ่งประเทศเหล่านี้ ต่างก็เคยประสบกับปัญหาการจราจรมาก่อน
โดยเกือบทุกประเทศ ก็ใช้วิธีแก้ปัญหาที่เหมือนกัน คือการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพฯ ก็มีรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือยังเป็นเพียงโครงการ ก็นับเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีในระยะยาว
แต่นอกจากจะสร้างเส้นทางเดินรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง หรือ Feeder อย่างเช่นรถเมล์ ให้มีคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ที่รถไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเดินทาง
สุดท้ายคือเรื่องของค่าโดยสาร จะต้องมีความสมเหตุสมผล เพื่อจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้บริการ
เพราะถ้าหากค่าโดยสารสูงเกินไป อาจทำให้หลายคน เลือกที่จะซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้แทน ซึ่งจะทำให้ปัญหารถติด ก็ยังคงอยู่คู่กรุงเทพมหานครต่อไป..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/35675.aspx
-https://www.bangkokbiznews.com/social/951156
-กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก
-https://www.tomtom.com/traffic-index/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.