กองทุนช่วยเหลือต้มยำกุ้ง ต่างจากวิกฤติธนาคารสหรัฐปีนี้ อย่างไร ?

กองทุนช่วยเหลือต้มยำกุ้ง ต่างจากวิกฤติธนาคารสหรัฐปีนี้ อย่างไร ?

15 มี.ค. 2023
กองทุนช่วยเหลือต้มยำกุ้ง ต่างจากวิกฤติธนาคารสหรัฐปีนี้ อย่างไร ? /โดย ลงทุนแมน
จากเหตุการณ์ Silicon Valley Bank หรือ SVB
ถูกสั่งปิดไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดการเงิน และตลาดทุนทั่วโลก
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่หุ้นธนาคาร ต่างถูกกระหน่ำเทขายกันยกแผง
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็ใหญ่ถึงขนาดที่ FED ต้องจัดประชุมด่วน และได้ตัดสินใจจัดตั้ง Bank Term Funding Program เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ ไม่ให้ลุกลามเป็นลูกโซ่ ภายใน 2 วัน
เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธนาคารกลางตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง โดยประเทศไทยเอง ก็เคยมีกองทุนช่วยเหลือด้านสภาพคล่องมาแล้วเหมือนกัน ในปี 2540 หรือที่เรารู้จักกันดีว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง
แล้วการแก้ปัญหาของเรา กับสหรัฐอเมริกา เหมือนหรือต่างกันในมุมไหนบ้าง ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
“ต้มยำกุ้ง” กลายเป็นคำอธิบายวิกฤติ ปี 2540 ของไทย ที่ภาวะเศรษฐกิจเจอกับความล้มเหลวอย่างเผ็ดร้อน จากการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล
จากวิกฤติในครั้งนั้น ประเทศไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ถึง 480,000 ล้านบาท เพื่อมาเป็นทุนสำรองในคลัง
แถมยังมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ที่ต้องไปกู้ยืมมาอีก 1,140,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพยุงกลุ่มสถาบันการเงินไม่ให้ล้ม
โดยกองทุนนี้ จะเข้าไป “ค้ำประกันทั้งเงินฝากและหนี้ของสถาบันการเงินทุกแห่ง”
ซึ่งก็ต้องบอกว่า กว่าจะมีการออกมาตรการเพื่อมาแก้ไขวิกฤติ เราก็ใช้เวลาเป็นปี..
ในขณะที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กองทุนช่วยเหลือ SVB ของสหรัฐอเมริกา ผ่านการประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วัน หลังจากข่าวการถูกสั่งปิดตัวลงของธนาคาร ก่อนที่ทางการคลังจะอนุมัติให้กองทุนประกันเงินฝากทั้งหมด
ซึ่งการประกันทั้งหมด จะให้ความคุ้มครอง ทั้งเงินฝากใน SVB ที่เปรียบเสมือนเป็นธนาคารของสตาร์ตอัปจำนวนมาก รวมไปถึง Signature Bank ธนาคารแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี
จากทั้ง 2 เหตุการณ์จะเห็นได้ว่า นโยบายในการแก้ปัญหามีเป้าหมายเหมือนกัน คือ “ความคุ้มครองต่อผู้ฝากเงิน”
แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนที่สุด ก็น่าจะเป็น “ความรวดเร็วของมาตรการช่วยเหลือ”
เนื่องจากโลกทุกวันนี้มีกรณีศึกษาในอดีตเกิดขึ้นมากมาย และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าแต่ก่อน
จึงทำให้ทางการสหรัฐอเมริกา และ FED ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ปล่อยให้บาดแผลเล็ก ๆ ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องใหญ่เหมือนวิกฤติในอดีต
ตัวอย่างเช่น การเกิด Bank Run ในปี 2472
ช่วงนั้น ชาวอเมริกัน พากันถอนเงิน เพราะกลัวว่าเงินฝากของตัวเองจะไม่ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือ คนในเมือง Nashville รัฐ Tennessee ต้องการถอนเงิน แต่ธนาคารมีเงินไม่พอ เพราะนำเงินไปปล่อยกู้ และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากเกินไป
พอเคยมีบทเรียนราคาแพงแล้ว มารอบนี้ FED เลือกที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยออกนโยบายแทบจะในทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ผู้ฝากเงินที่ได้รับผลกระทบทุกคนว่าเรายังคุ้มครองอยู่ และผลกระทบที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจมีจำกัด ไม่ได้ลามเป็นโดมิโน
สำหรับอีกเรื่องที่แตกต่างกัน
ก็คือ “แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา”
สำหรับมาตรการของ FED นั้น เป็นการนำเงินทุนจากกองทุนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมรับฝากเงิน และการออกตราสารหนี้ภายในประเทศ เข้ามาแก้ไขวิกฤติ
หรือก็คือ นำเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่มีอยู่แล้ว เข้ามาแก้ไขปัญหา
จุดนี้ก็ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งของไทย ที่แม้รัฐบาลจะเป็นผู้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เงินทุนที่นำมาแก้ไขวิกฤตินั้น มาจากหนี้ที่ก่อขึ้นจากทั้ง IMF และ FIDF
ผลที่ตามมาก็คือ ผู้รับผิดชอบในการชำระหนี้
ซึ่งแม้ว่าหนี้ IMF เราจะชำระหมดไปแล้ว
แต่ทุกวันนี้ FIDF ยังไม่หมด และเราในฐานะผู้ฝากเงินก็ยังต้องช่วยกันชำระหนี้ให้กับ FIDF อยู่ในอัตรา 0.46% ต่อปีของเงินทุก ๆ บาทที่เราฝากเงินในธนาคาร..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.