กรณีศึกษา ChargePoint ครองตลาดตู้ชาร์จ EV โดยไม่มีตู้ชาร์จ เป็นของตัวเอง

กรณีศึกษา ChargePoint ครองตลาดตู้ชาร์จ EV โดยไม่มีตู้ชาร์จ เป็นของตัวเอง

20 มี.ค. 2023
กรณีศึกษา ChargePoint ครองตลาดตู้ชาร์จ EV โดยไม่มีตู้ชาร์จ เป็นของตัวเอง /โดย ลงทุนแมน
ปกติแล้ว การแข่งขันในตลาดสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ผู้ชนะหรือรายใหญ่ ก็ควรจะเป็นแบรนด์ปั๊มน้ำมันที่คุ้นเคยกับธุรกิจพลังงาน และมีความพร้อมด้านสถานีบริการเดิม
แต่รู้หรือไม่ว่า ในตลาดอเมริกาเหนือ
ChargePoint สตาร์ตอัปตู้ชาร์จ EV กลับครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 73%
ซึ่งสูงกว่า Shell บริษัทพลังงานที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่กลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3% เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ ChargePoint แทบไม่ได้เป็นเจ้าของตู้ชาร์จ และไม่มีปั๊มน้ำมันเป็นของตัวเองแม้สักที่เดียว
เพราะอะไร ChargePoint จึงสามารถยึดครองตลาดสถานีชาร์จ EV ได้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ChargePoint คือบริษัทที่ให้บริการสถานีชาร์จ EV ทั้งในส่วนของตู้ชาร์จ ซอฟต์แวร์ระบบ ไปจนถึงบริการซ่อมบำรุง
โดยจุดเด่นของบริษัทก็คือ การทำธุรกิจแบบ Asset Light หรือธุรกิจที่ไม่ใช้สินทรัพย์มากมายนักในการสร้างรายได้
ซึ่ง ChargePoint แทบไม่ได้เป็นเจ้าของตู้ชาร์จ EV เลย
ต่างจากธุรกิจยอดฮิตอย่าง ร้านกาแฟ ที่ต้องมีที่ดิน หน้าร้าน อุปกรณ์ และวัตถุดิบอีกมาก
เพราะการขายตู้ชาร์จของ ChargePoint เป็นการขายขาด และไม่มีการเก็บส่วนต่างจากค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่จะมีรายได้มาจากค่าสมาชิกซอฟต์แวร์ระบบ และงานบริการอื่น ๆ เป็นรายปี
ซึ่งซอฟต์แวร์นี้เอง ที่ทำให้ตู้ชาร์จของ ChargePoint ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่ ChargePoint ให้บริการ ก็เช่น
- ระบบคลาวด์ ช่วยจัดการข้อมูลหลังบ้าน รวมถึงช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า
- ฟีเชอร์ กำหนดการเติมให้ลูกค้าแต่ละหมวด ซึ่งสามารถแยกเก็บค่าบริการ รวมถึงปริมาณไฟฟ้าได้แตกต่างกัน อย่างเช่น กำหนดค่าบริการโดยแยกระหว่างลูกค้าทั่วไป และพนักงานในองค์กร
รวมถึงบริการอื่น ๆ เช่น แอปพลิเคชันสำหรับดูตำแหน่งที่ตั้งของตู้ชาร์จ ประกันดูแลตู้ชาร์จ และบริการตรวจสอบและซ่อมอัตโนมัติ
จะเห็นว่าบริการของ ChargePoint คือการให้บริการที่คู่ค้าไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพียงแค่ จัดหาทำเลที่ตั้ง ลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ และรอรับเงิน
โดยผลประกอบการของ ChargePoint 3 ปีล่าสุด คือ
ปี 2020 รายได้ 5,000 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 5,100 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 8,300 ล้านบาท
บริษัท มีรายได้เติบโตกว่า 66% ใน 3 ปี
โดยสัดส่วนรายได้ของ ChargePoint มาจาก
- 49% มาจากค่าซอฟต์แวร์ และบริการหลังการขาย เช่น ซอฟต์แวร์ ประกัน
- 51% มาจากการจำหน่ายตู้ชาร์จ
จะเห็นว่า ChargePoint มีรายได้ค่าซอฟต์แวร์ และบริการหลังการขายแทบจะเท่ากับรายได้จากการจำหน่ายตู้ชาร์จ
อีกทั้งรายได้ในส่วนนี้ยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งรายได้ส่วนนี้ เป็นรายได้ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องแทบจะตลอดการใช้งานตู้ชาร์จ เพราะลูกค้าที่ซื้อไป ก็ต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์ระบบพื้นฐานของตู้ รวมถึงหากต้องการฟีเชอร์อื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ต้องจ่ายค่าเช่าซอฟต์แวร์เพิ่ม
คล้ายกับธุรกิจประเภท Subscription อื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น Netflix และ Spotify ที่มีระบบการนำเสนอคอนเทนต์ตรงใจลูกค้า
นอกจากนี้ ด้วยการใช้งานที่สะดวก ทั้งฝั่งผู้ประกอบการเจ้าของตู้ชาร์จ ที่มีระบบหลังบ้านคอยช่วยเหลือ และฝั่งลูกค้า ที่ใช้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่านแอปพลิเคชันของ ChargePoint
จึงเกิดเป็น Ecosystem เชื่อมโยงกันที่ทำให้ลูกค้าและผู้ประกอบการติดใจ และยากที่จะเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์จากค่ายอื่น
อย่างเช่น Apple ที่มี Ecosystem เป็นของตัวเองด้วยการเชื่อมโยงหลากหลายอุปกรณ์เข้าด้วยกันทั้ง iPhone, MacBook หรือ Apple Watch
อีกข้อได้เปรียบของ ChargePoint ก็คือ การลดข้อจำกัดเรื่องจุดให้บริการ
เนื่องจากปกติแล้ว การชาร์จแบตเตอรี่รถ EV 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที ดังนั้นการเข้าชาร์จแบตเตอรี่ในปั๊มน้ำมันแล้วต้องเสียเวลารอ จึงไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
เจ้าของรถส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะชาร์จแบตเตอรี่ โดยการจอดรถทิ้งไว้ แล้วทำกิจกรรมอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย อย่างเช่น เข้าศูนย์การค้า หรือร้านอาหาร
ทำให้ ChargePoint ที่สามารถติดตั้งได้หลากหลายสถานที่ จึงกลายเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของผู้ประกอบการที่ต้องการตู้ชาร์จ
แตกต่างจาก Shell ที่ใช้กลยุทธ์ติดตั้งผ่านเครือข่ายปั๊มน้ำมันของตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยากกว่า และไม่ดึงดูดมากเท่ากับการชาร์จในศูนย์การค้า หรือปล่อยทิ้งไว้ในร้านอาหาร
จะเห็นว่า โมเดลของ ChargePoint ที่ติดตั้งได้หลากหลายสถานที่ กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่น่าสนใจ
และก็น่าจะสรุปได้ว่า ทิศทางการเติมพลังงานให้รถในอนาคต ศูนย์การค้าจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งจากปั๊มน้ำมันมากขึ้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตรถอาจไม่จำเป็นต้องเข้าปั๊มน้ำมันแล้ว แต่เข้าศูนย์การค้า และชาร์จรถไประหว่างการใช้บริการในศูนย์การค้านั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bnnbloomberg.ca/shell-bp-face-obstacles-to-gaining-wider-share-of-ev-charging-market-1.1760549
-https://companiesmarketcap.com/oil-gas/largest-oil-and-gas-companies-by-market-cap/
-https://s22.q4cdn.com/779683160/files/doc_presentation/2023/ChargePoint-Investor-Presentation_March2023.pdf
-https://thestrategystory.com/2022/06/07/chargepoint-business-model/
-https://www.chargepoint.com/en-ca/why-chargepoint
-https://finance.yahoo.com/quote/CHPT/financials/
-https://www.investing.com/analysis/chargepoint-worth-investing-200573461
-https://www.shell.com/energy-and-innovation/mobility/mobility-news/shells-growing-public-ev-charging-network.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.