งบประมาณฐานศูนย์ ใน MOU ก้าวไกล คืออะไร ?

งบประมาณฐานศูนย์ ใน MOU ก้าวไกล คืออะไร ?

23 พ.ค. 2023
งบประมาณฐานศูนย์ ใน MOU ก้าวไกล คืออะไร ? /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งใน MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล คือ การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting
ซึ่งวิธีการจัดทำงบประมาณแบบนี้ ก็เป็น 1 ใน 216 นโยบาย ของกรุงเทพมหานคร ในสมัยของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เช่นกัน
งบประมาณฐานศูนย์ คืออะไร
แตกต่างจากแบบปัจจุบันอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
โดยทั่วไปแล้ว การจัดทำงบประมาณประจำปี ของทั้งภาครัฐและเอกชน มักจะใช้วิธีที่เรียกว่า “Incremental Budgeting” หรือการพิจารณา “เฉพาะงบประมาณส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา”
ยกตัวอย่างเช่น ปี 2565 ได้รับงบประมาณ ดังนี้
- รายการ A 100 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2566 มีการของบประมาณ ดังนี้
- รายการ A 110 ล้านบาท
- รายการ B 50 ล้านบาท
ในการพิจารณางบประมาณปี 2566 ก็จะพิจารณาเพียงแค่ รายการ A ที่เพิ่มขึ้นมา 10 ล้านบาท และ รายการ B 50 ล้านบาท
ตามแนวคิดที่ว่า งบประมาณรายการเดิมได้ถูกพิจารณาไปแล้ว จึงพิจารณาเฉพาะส่วนเพิ่มเติมใหม่ ที่ยังไม่เคยขอมาก่อน
สิ่งที่มักจะเกิดขึ้น ในการจัดทำงบประมาณแบบนี้ ก็คือ
- เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณ หน่วยงานก็จะพยายามเบิกงบที่เหลือมาใช้ให้หมด หรือที่เรียกว่า งบล้างท่อ
เพราะกลัวว่าปีหน้าจะถูกตัดงบลง
- สำหรับการของบประมาณในปีต่อไป ก็มักจะใช้รายการเดิมเป็นฐาน และบวกเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ หรืออาจบวกเพิ่มตามปริมาณงาน เช่น 5 ถึง 10%
ซึ่งข้อเสียของวิธี Incremental Budgeting ที่เห็นได้ชัด ก็คือ
- รายการเก่าที่ไม่จำเป็น อาจจะยังคงได้รับงบประมาณในปีต่อไป
- งบประมาณจะบวมขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นการเอาฐานเก่า มาปรับขึ้น
- ขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพราะไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากไม่ว่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพหรือไม่ หน่วยงานนั้นก็จะได้รับงบประมาณมากกว่าเดิมอยู่ดี
เมื่อเป็นแบบนี้ จึงมีการพัฒนาแนวคิด “Zero-Based Budgeting” หรือ การตั้งงบประมาณฐานศูนย์ ขึ้นมา
งบประมาณฐานศูนย์ ถูกพัฒนาขึ้นโดย Peter Pyhrr ผู้จัดการในบริษัท Texas Instruments ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1960
ต่อมาในปี 1973 อดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย เห็นชอบกับแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์นี้ และได้แต่งตั้ง Peter Phyrr ให้เป็นผู้บริหารกระบวนการงบประมาณของรัฐจอร์เจีย ในเวลาต่อมา
งบประมาณฐานศูนย์ อธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนเป็นการ “Set Zero” หรือ ยกเครื่องร่างงบประมาณขึ้นมาใหม่ จากฐานที่เป็นศูนย์
โดยไม่ได้อิงว่า หน่วยงานหรือรายการเดิมที่เคยได้รับงบประมาณ จะต้องได้รับเหมือนเดิม
โดยงบประมาณฐานศูนย์ มีขั้นตอนในการจัดทำ ดังนี้
1. กำหนดแผนยุทธศาสตร์, วัตถุประสงค์ และผลลัพธ์ที่ต้องการ
2. จัดลำดับความสำคัญของงาน
3. ระบุความจำเป็นของงาน, ข้อมูลสนับสนุน และอาจรวมถึงทางเลือกหรือวิธีการอื่น ในการดำเนินงานนั้น ๆ
4. สร้างงบประมาณออกมาทีละรายการ
และเมื่อจัดทำงบประมาณออกมาแล้ว ก็ต้องมีการควบคุมและติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจได้ว่า งบประมาณที่จัดสรรเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
จะเห็นได้ว่า การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้ จะตรงตามวัตถุประสงค์มากกว่า
- ได้ทบทวน และปรับลดงบประมาณสำหรับงานที่ไม่เกิดประโยชน์
- สามารถปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น ไปตามยุทธศาสตร์หรือสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่า
- กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้งบประมาณเท่าเดิมหรือน้อยลง
ในขณะที่ข้อเสียของ งบประมาณแบบฐานศูนย์ ก็มีเช่นกัน
- ผู้บริหารและผู้อนุมัติงบประมาณ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในการพิจารณาแต่ละรายการ
และอาจจะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมากในการพิจารณา
- มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเยอะ ทำให้ใช้เวลามาก
สรุปแล้ว Zero-Based Budgeting ถือเป็นแนวคิดที่ทำให้งบประมาณถูกจัดสรรได้อย่างตรงเป้า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยบุคคลากร, เวลา และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
รวมถึงถ้ามีการ Set Zero งบประมาณ ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็อาจทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทำได้ไม่ต่อเนื่อง ถ้าเปลี่ยนรัฐบาล ได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Pyhrr
-https://drpiyanan.com/2019/04/22/0-based-budgeting-zbb/
-https://webportal.bangkok.go.th/sed/page/main/5537
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.