สรุปวิธี ตกแต่งบัญชี ของ STARK 25,000 ล้าน โดยการสร้างยอดขายปลอม

สรุปวิธี ตกแต่งบัญชี ของ STARK 25,000 ล้าน โดยการสร้างยอดขายปลอม

17 มิ.ย. 2023
สรุปวิธี ตกแต่งบัญชี ของ STARK 25,000 ล้าน โดยการสร้างยอดขายปลอม และสร้างธุรกรรมอำพรางเพื่อสนับสนุนยอดขายปลอม /โดย ลงทุนแมน
เรื่องนี้น่าจะเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้ของวงการตลาดทุน บริษัท STARK บริษัทที่เคยเป็นบริษัทใหญ่สุด 100 บริษัทแรกในตลาดหลักทรัพย์ ได้ยอมรับว่ามีการตกแต่งบัญชีเกิดขึ้น โดยมีการตกแต่งบัญชีในหลายแง่มุม มูลค่ารวมกันมากถึง 25,000 ล้านบาท
และการตกแต่งบัญชีครั้งนี้กลับเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเอง ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คนนั้น เป็นบุคคลที่คาดไม่ถึงอีกด้วย..
มาถึงตอนนี้ ทุกคนคงสงสัยแล้วว่า การตกแต่งบัญชีมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ถ้ามีคนมาอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็น่าจะทำให้ป้องกันความเสี่ยงแบบนี้ได้
ถ้าพร้อมแล้วเริ่มเลย ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จากข้อมูลที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินสรุปได้ว่า บริษัท STARK ได้ตกแต่งบัญชีดังนี้
1. การสร้างยอดขายปลอม แบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง
วิธีการที่บริษัท STARK ทำก็คือ รายงานเอกสารขายเท็จ โดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง
และเมื่อบริษัทไม่ได้ขาย บริษัทก็ไม่ได้เงินสด ทำให้บริษัทก็ต้องตั้งยอดลูกหนี้การค้าที่เป็นเท็จจำนวนมาก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ บริษัทต้องแจ้งว่ามีลูกค้าติดเงินบริษัทอยู่จำนวนมาก
โดยยอดของการสร้างลูกหนี้การค้าปลอมนั้น สูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท ในปี 2565 และ 923 ล้านบาทในปี 2564 และ 97 ล้านบาท ก่อนปี 2564
สรุปก็คือ ปลอมมานานหลายปีแล้ว ปลอมตั้งแต่ก่อนปี 2564 ตอนแรกปลอมหลักสิบล้าน ปีต่อ ๆ ไป ปลอมหนักขึ้น และปีล่าสุด 5,005 ล้านบาท
เมื่อคำนวณแล้วยอดขายปลอม แบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง รวมเป็นเงิน 6,025 ล้านบาท..
2. การสร้างยอดขายปลอม แบบจ่ายเงินโดยพวกเดียวกันเอง
วิธีการที่บริษัท STARK ทำก็คือ ทำเอกสารการขายให้แก่คนในกลุ่มเดียวกัน แล้วก็ชำระเงินกันเอง โดยไม่มีการจัดส่งสินค้าจริง ในปี 2565 มียอดขายปลอมนี้จำนวน 1,890 ล้านบาท โดยบริษัทบอกว่า เป็นการรับชำระเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ
3. จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของยอดขายปลอม
ปกติแล้วการขายสินค้า บริษัทต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของรายได้ การที่ไม่ถูกกรมสรรพากรจับได้ก่อนหน้านี้ ก็แปลได้ว่า บริษัทยอมจ่าย VAT 7% เพื่อสร้างยอดขายปลอม จึงทำให้บริษัทต้องตัดจำหน่ายลูกหนี้ในส่วนภาษีของยอดขายปลอมนี้มูลค่า 611 ล้านบาท
4. การสร้างรายจ่ายปลอม ให้พวกเดียวกันเอง
วิธีการที่บริษัท STARK ทำก็คือ บริษัทแกล้งทำเป็นสั่งซื้อสินค้าเพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายให้กับบริษัท แต่ทีนี้บริษัทไม่ได้สินค้าจะทำอย่างไร ? คำตอบก็คือ ลงบัญชีเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อสินค้า โดยเงินสดออกจากบริษัท ในขณะที่อีกฝั่งตั้งรายการเป็นบริษัทอื่นติดหนี้ STARK ที่จะส่งสินค้าให้
คำถามต่อไปก็คือ แล้วเงินสดออกไปที่ไหน ?
ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า เงินสดไม่ได้ออกไปที่คู่ค้าของบริษัท แต่กลับวิ่งไปที่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก
ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดิมที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง โดยรายการจ่ายเงินปลอมนี้มีจำนวนมากถึง 10,451 ล้านบาท..
คุ้น ๆ มั้ย ชื่อบริษัทนี้เป็นชื่อเดียวกันกับบริษัทที่จ่ายเงินเพื่อสร้างยอดขายปลอม หรือก็อาจแปลได้ว่า STARK จ่ายเงินสดค่าสินค้าปลอมให้บริษัทนี้ แล้วบริษัทนี้ก็วนเงินส่วนหนึ่งกลับมาซื้อสินค้าปลอมจากบริษัท STARK
ที่พีกคือ ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่าเหตุการณ์สร้างรายจ่ายปลอมนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 หรือเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้เอง..
5. การล้างลูกหนี้ โดยสร้างรายการรับเงินปลอมจากต่างประเทศ
เมื่อบริษัทตั้งลูกหนี้เยอะ ๆ ในงบการเงินก็จะดูไม่ค่อยดี บริษัทจึงสร้างรายการชำระเงินปลอมจากต่างประเทศขึ้นมา เพื่อล้างลูกหนี้ในปีก่อน ๆ ให้มียอดน้อยลง มูลค่า 6,086 ล้านบาท และจากเส้นทางการรับชำระเงิน ได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (อีกแล้ว) พูดง่าย ๆ ก็คือบริษัทนี้เอาเงินสดที่บริษัทจ่ายค่าสินค้าปลอม นอกจากจะมาซื้อสินค้าปลอมแล้ว ยังวนกลับมากลับมาล้างลูกหนี้ในปีก่อนด้วย..
เรื่องราวทั้งหมดนี้ผู้บริหารของบริษัทได้ยอมรับแล้วว่าตกแต่งบัญชี และได้ปรับปรุงรายการบัญชีให้ถูกต้องแล้ว
คำถามก็คือ เมื่อปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้อง มันกระทบอะไรบ้าง ?
สรุปอีกที
1.สร้างยอดขายปลอม แบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง 6,025 ล้านบาท
2.สร้างยอดขายปลอม แบบจ่ายเงินโดยพวกเดียวกันเอง 1,890 ล้านบาท
3.จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของยอดขายปลอม 611 ล้านบาท ซึ่งต้องถูกตัดจำหน่าย
4.สร้างรายจ่ายปลอม ให้พวกเดียวกันเอง 10,451 ล้านบาท
5.ล้างลูกหนี้ปลอม 6,086 ล้านบาท
เมื่อรวมมูลค่าการปลอมแปลงทั้งหมดใน 5 ข้อที่กล่าวมา ก็จะได้เป็น “25,063 ล้านบาท”
ใช่แล้วอ่านไม่ผิด บริษัทนี้ตกแต่งบัญชีมูลค่ารวม 25,063 ล้านบาท..
พอเรื่องเป็นแบบนี้ บริษัทก็เลยต้องปรับงบการเงินให้เป็นไปตามความจริง ย้อนกลับไปตั้งแต่งบการเงินปี 2564
ลูกหนี้การค้า ปี 2564
-เดิม 15,571 ล้านบาท
-แก้ไขเป็น 6,306 ล้านบาท
ที่หายไปเกือบ 10,000 ล้านบาท แปลว่า การสร้างยอดขายปลอมของ STARK ทำให้ STARK ไม่ได้มีลูกหนี้ที่รอเก็บเงินมาก เหมือนที่เคยแจ้ง
รายได้จากการขาย ปี 2564
-เดิม 25,217 ล้านบาท
-แก้ไขเป็น 17,487 ล้านบาท
STARK สร้างยอดขายปลอมในปี 2564 ประมาณ 7,700 ล้านบาท
กำไรสุทธิ สำหรับปี 2564
-เดิม กำไร 2,795 ล้านบาท
-แก้ไขเป็น ขาดทุน 5,689 ล้านบาท..
และเพราะการขาดทุน ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2564 ลดลง
-เดิม 6,591 ล้านบาท
-แก้ไขเป็น 2,845 ล้านบาท
พอปรับข้อมูลในปี 2564 แล้ว บริษัทก็ได้รายงานผลประกอบการปี 2565
บริษัทมีรายได้ 25,213 ล้านบาท
ขาดทุน 6,651 ล้านบาท
นั่นแปลว่า ถ้ารวมปี 2564 และ 2565 เข้าด้วยกัน STARK จะขาดทุนมากถึง 12,340 ล้านบาท ใน 2 ปีนี้
ทำให้ล่าสุด STARK มีส่วนผู้ถือหุ้น -4,403 ล้านบาท จากการขาดทุนจากการดำเนินงาน และ การปรับปรุงรายการที่ผิดพลาด จนมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์..
ซึ่งขั้นตอนต่อไป STARK น่าจะต้องขอยื่นต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป..
สรุปแล้ว ที่ผ่านมา STARK มีการตกแต่งบัญชีมานานแล้ว และวันนี้ ทุกอย่างที่ซ่อนเอาไว้ ก็ได้ถูกเฉลยให้ทุกคนได้รับรู้ และที่น่าตกใจคือ การตกแต่งบัญชีครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK เอง
กรณีของ STARK เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับนักลงทุนที่เชื่อเพียงตัวเลขในงบการเงิน ไม่ว่างบการเงินนั้นจะถูกผ่านการตรวจสอบบัญชีจากบริษัทชื่อดังแค่ไหน
อย่างกรณีของ STARK บริษัทที่ตรวจสอบบัญชี STARK ในปีก่อนหน้าก็อยู่ใน BIG4
วิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ก็คือ
1. เมื่อเราลงทุน เราอย่ามั่นใจอะไรมากเกินไป เราต้องเผื่อโอกาสที่จะผิดพลาดไว้เสมอ
2. การกระจายการลงทุนนั้นสำคัญ ไม่เอาเงินทั้งหมดทุ่มไปกับหุ้นตัวเดียว เพราะอย่างในกรณี STARK ถ้าเราลงทุนแต่ STARK ตัวเดียว เงินจะหายไปเกือบหมดทั้งก้อน
3. ไม่กู้ยืมเงินคนอื่นมาลงทุน อย่างกรณี STARK ถ้าใครใช้มาร์จินกู้คนอื่นมาลงทุน นอกจากจะเงินหายหมด เรากลับต้องมีภาระชดใช้หนี้คนอื่นด้วย
4. มองข้อมูลให้รอบด้านเหนือไปกว่างบการเงิน ดูความไม่ปกติของบริษัทอย่างอื่นประกอบ นอกจากงบการเงินเพียงอย่างเดียว เช่น กรณีของ STARK มีความไม่ปกติคือ การยกเลิกดีลซื้อกิจการทั้งที่บริษัทได้เงินจากการเพิ่มทุน หรือแม้แต่ การที่บริษัทเลือกเข้าตลาดหุ้นด้วยวิธี Backdoor Listing
และท้ายที่สุด เมื่อเราเห็นสัญญาณความไม่ปกติแล้ว เราอย่าลำเอียง เข้าข้างตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าสัญญาณความผิดปกติเหล่านั้นมันไม่สำคัญ
การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการลงทุน
ตามที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนในตำนานได้กล่าวไว้
กฎข้อแรก คือ จงอย่าขาดทุน
กฎข้อสอง คือ อย่าลืมกฎข้อแรก..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.