สรุปสัมมนา KAsset Investment Forum ค้นหาโอกาสการลงทุน ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง

สรุปสัมมนา KAsset Investment Forum ค้นหาโอกาสการลงทุน ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง

8 ก.ย. 2023
สรุปสัมมนา KAsset Investment Forum
ค้นหาโอกาสการลงทุน ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง
KAsset x ลงทุนแมน
ในช่วงต้นปีหลายคนคงรู้สึกว่า โลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนเต็มไปหมด ทั้งในเชิงมิติเศรษฐกิจและการลงทุน
ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่มาแรง, ธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ที่มีหนี้สินสูง
นี่จึงเป็นที่มาของงานสัมมนา KAsset Investment Forum 2024 “ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024”
เมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน ต้องปรับพอร์ตอย่างไร ถึงจะรอด
ที่น่าสนใจคือ งานนี้เกิดจากความร่วมมือของ บลจ.กสิกรไทย หรือ KAsset กับ 2 บริษัทการเงินชั้นนำของโลก อย่าง BlackRock และ J.P. Morgan Asset Management
เราจะสามารถค้นหาโอกาส และเตรียมรับมือกับวิกฤติได้อย่างไร ?
และควรมีแนวทางจัดพอร์ตอย่างไร ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความผันผวนแบบนี้ ?
ลงทุนแมนจะสรุปงานสัมมนาครั้งนี้ให้ฟัง
เริ่มด้วย Economic Talk “A Bird’s eye view of global market” หรือมองเศรษฐกิจเมื่อโลกเปลี่ยนไป
โดยมี Speakers เด่น ๆ อย่าง
- ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก
- คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย
โดย ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา กล่าวว่า ในมุมมองของ World Bank แล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ผ่านจุดพีกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อในระยะหลังมีความหนืดมากขึ้น และยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่ตั้งเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2%
หรือก็คือ หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจโลกเป็นเรือ ตอนนี้เราได้ผ่านพายุหนักไปแล้ว
แต่ยังคงต้องเจอกับคลื่นลม และความท้าทายจากบาดแผลที่เกิดขึ้นกับเรือ
ทั้งจากหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน ที่สะสมมากขึ้น และปัญหาเศรษฐกิจของจีน ทำให้แต่ละประเทศใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยลง
ต่อมา ดร.เกียรติพงศ์ ได้ขยายภาพให้เห็นว่า เอเชียตะวันออก จะยังเป็นภูมิภาคหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต แต่เมื่อเข้าไปดูไส้ในแล้ว พบว่าการเติบโตจะมาจากจีนเป็นหลัก
แต่จากวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น และระดับหนี้ในประเทศที่ยังสูง ทำให้การหาเครื่องยนต์ตัวใหม่แทนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจไม่ง่ายนัก
อย่างไรก็ตาม จีนยังมีเครื่องมือทางการคลังเพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์ ยังกล่าวถึงเรื่อง Deglobalization ว่าการค้าการส่งออกไทยอาจจะลดลง จากการเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตของสหรัฐอเมริกากลับเข้าประเทศมากขึ้น
แต่เมื่อมองด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว ไทยและจีนมีความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันมากขึ้น จึงมองว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไทยสามารถเกาะเกี่ยวได้
ในส่วนของ Climate Global Heating ในเรื่องนี้ ประเทศในเอเชีย ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลก
อย่างประเทศไทยที่มีความถี่ของการเกิดอุทกภัยก็มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละครั้งเกิดค่าใช้จ่ายสูง และส่งผลต่อภาระทางการคลังของประเทศ
การเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบหรือปรับตัวจากภาวะโลกร้อน ก็จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และไทยเองที่ยังมีความแข็งแกร่งทางด้านการคลังสูง ก็อาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ด้วยนโยบายทางด้านการคลัง
แล้วปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างไรบ้าง ?
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กล่าวว่า
เมื่อมองผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะพบว่า แม้ในปีนี้ มูลค่าการเสนอขาย IPO และมูลค่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันจะลดลงจากปีก่อน
แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำในอาเซียน และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเอเชียและโลก อีกทั้งยังมีจำนวนของบริษัทจดทะเบียนที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่นกัน
และเมื่อมองไปที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาด จะพบว่าบริษัทจดทะเบียนในไทย มีการทำกำไรที่ฟื้นตัวกลับมาคล้ายช่วงก่อนโควิด

สรุปคือเมื่อดูจากสภาพเศรษฐกิจและการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนแล้ว เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การฟื้นตัวอาจไม่เท่าเทียมกันในแต่ละอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ดร.ภากร ยังให้ข้อมูลว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่ดี แต่ SET Index ก็ยังเติบโตประมาณ 2 เท่าของ GDP

สาเหตุสำคัญ มาจากบริษัทจดทะเบียนไทยส่วนใหญ่ เป็น Regional หรือ Global Company โดยมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 30% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่มีรายได้จากต่างประเทศมากถึง 81%

เรื่องต่อมาคือ Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดทุนบ้านเรา เพราะดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ยังคงสูงแต่หากดอกเบี้ยหยุดขึ้นและปรับตัวลดลง ก็จะมี Fund Flow ไหลกลับเข้าไทย อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องมองว่าอุตสาหกรรมใด จะได้ประโยชน์หาก Fund Flow ไหลกลับเข้าไทย และจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม

โดย ดร.ภากร ยังชี้ให้เห็นว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการลงทุนคือ การลงทุนในบริษัทที่มีแนวคิดการดำเนินงานแบบ ESG หรือ Sustainability ซึ่งอาจสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ

ซึ่งประเทศไทยเอง มีบริษัทจดทะเบียนมากถึง 12 บริษัท ที่อยู่ในระดับ Gold Class หรือก็คือเป็นที่ 1 ของอุตสาหกรรม ในดัชนีความยั่งยืนของ S&P Global ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก

และเมื่อรวมกับการทำผลตอบแทนได้ดีกว่าบริษัทจดทะเบียนทั่วไปทำให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงไม่ได้เป็นแค่ต้นทุน แต่ยังทำให้กำไรของกิจการดีขึ้นด้วย
ด้าน คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ กล่าวปิดท้ายว่า เงินเฟ้อในวันนี้เริ่มมีการขยับลงเล็กน้อย
แต่ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ รวมถึงเรื่องของ Supply Chain ที่ยังคงสะดุดอยู่บ้าง ทั้งจากสงครามเศรษฐกิจของจีน-สหรัฐอเมริกา และช่วงล็อกดาวน์ ยังส่งผลอยู่ ทำให้เงินเฟ้อยังลดลงช้ากว่าที่คิด
โดยทาง KAsset มองว่า เงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดไปแล้ว และในปีนี้ FED น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกแค่ 1 ครั้งเท่านั้น แต่จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ค่อย ๆ กดระดับเงินเฟ้อลงเรื่อย ๆ
ที่น่าสนใจคือ จากสถิติในอดีต เมื่อ FED หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประมาณ 3-6 เดือน ผลตอบแทนของ S&P 500 จะอยู่ที่ประมาณ 7-15% ซึ่งเป็นช่วงที่สูงที่สุด และเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้นต่อไป
เมื่อมองภาพรวม เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีความน่าสนใจ เพราะแม้จะโตช้า แต่ก็เป็นการโตในทุกอุตสาหกรรม และเป็นการฟื้นจากความกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย
ในขณะที่จีน แม้จะโตระดับ 5% แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ใช้ได้ไม่มาก ต้องใช้แบบระมัดระวัง เพราะยังมีปัญหาหลายภาคส่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข
เปรียบเสมือนต้นไม้ที่โดนฉีดยาเร่งให้โตไว ทำให้การเติบโตไม่มีความยั่งยืน เศรษฐกิจจีนจึงอาจโตได้แบบประคับประคองและไม่หวือหวาเหมือนในอดีต
ในส่วนของเทรนด์การลงทุน คุณวจนะ กล่าวว่าจากข้อมูลของ Deutsche Bank พบว่า เงินลงทุนในธุรกิจ ESG 30 Trillion ในวันนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 Trillion ในอีก 20 ปีข้างหน้า
จากการที่บริษัทชั้นนำระดับโลก เริ่มมองหาคู่ค้าที่เป็น ESG
เช่นเดียวกับ KAsset ที่เล็งเห็นความสำคัญและเริ่มพัฒนาการลงทุนใน ESG มาตั้งแต่ปี 2013 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบัน KAsset เป็นผู้นำในตลาดการลงทุนแบบ ESG และก็มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์การลงทุนใน ESG ออกมาเพิ่มเติมอีกในอนาคต อีกด้วย
มาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย กันบ้างแล้ว
แต่คำถามคือ ในวันที่ความผันผวนยังสูง นักลงทุนสมควรปรับพอร์ตอย่างไร ?
ซึ่ง Session สุดท้ายจะมาสรุปความสำคัญของการ “ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน” ภายใต้หัวข้อ Strategies for Portfolio Resilience
โดยมี Speakers เด่น ๆ อย่าง
- คุณมทินา วัชรวราทร, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
- Mr. Tai Hui, Managing Director Chief Market Strategist, Asia Pacific, J.P. Morgan Asset Management
- Ms. Elaine Wu, Managing Director, APAC Head of Sustainable Investment Research, BlackRock Investment Institute
หัวข้อแรกที่จะมาพูดถึงคือ ปัจจุบันเราอยู่ในส่วนไหนของวัฏจักรโลกของการลงทุน และควรสู้หรือตั้งรับแบบไหน ?
คุณมทินา วัชรวราทร
มีข้อสมมติฐานคือ 10 ปีในอนาคต จะไม่เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา
เพราะ 10 ปีก่อนหน้า FED ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตโดยไม่กลัวเงินเฟ้อเลย
ขนาดยอมให้ Balance Sheet ของตัวเองถึง 8-9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว FED ต้องการควบคุมเงินเฟ้อ และยอมคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้นคุณมทินาเลยคิดว่า เราคงจะอยู่กับภาวะดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อไป
ซึ่งโลกของเรากำลังก้าวเข้าไปอยู่ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้าง ดังนี้
1. ยุคที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเหมือนสมัย Paul Volcker เป็นประธาน FED หรือปี 1980
แต่สิ่งที่ต่างคือเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่ง และยังยืดหยุ่นสูง
เพราะว่าค่าจ้างภายในประเทศยังสามารถปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อได้ ขณะที่ผู้คนก็ยังมีงานทำ
ฉะนั้นแล้วผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่งพอสมควร
หรือหันมาดูที่ ความมั่งคั่งของคนอเมริกัน ก็พบว่ายังเพิ่มขึ้นอยู่
จากราคาของอสังหาริมทรัพย์เติบโต ขณะที่อุตสาหกรรมโดยรวมไม่ได้มีปัญหาอะไร
2. ยุคที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นเยอะกว่าจีน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจ
ดังนั้นจึงต้องจับตามองว่าญี่ปุ่นจะผ่านเหตุการณ์ Lost Decade ไปได้หรือไม่
โดยเฉพาะค่าจ้างที่ปรับขึ้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นสามารถปรับราคาสินค้าตามได้หรือไม่
3. ยุคที่ไม่ต้องขวนขวายหาผลตอบแทน หรือ Yield
เพราะพวกสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น พันธบัตร กองทุนรวมตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว
โลกต่อไปนี้จึงเต็มไปด้วยทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ คุณมทินามองว่าโลกต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า จะประกอบด้วย “3D” ได้แก่
1. Deglobalization เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่
จากเดิมที่สหรัฐอเมริกามีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ
Joe Biden ก็ได้มีนโยบายให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศ แม้ว่าจะเพิ่มต้นทุนก็ตาม
2. Demographic การที่ประชากรหลาย ๆ ประเทศกำลังเข้าสู่วัยชรากันมากขึ้น
ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพนั้นแพงขึ้น
3. Debt หรือหนี้สิน ซึ่งหากดูข้อมูลจะพบว่า 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมีหนี้สินสูง
หนังสือ Big Debt Crises ได้บอกไว้ว่า เมื่อไรที่โลกมีหนี้เยอะ จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา
สรุปแล้วคุณมทินาจึงคาดการณ์ว่า โลกของเราจะอยู่กับเงินเฟ้ออีกนาน
แล้วในมุมมองของ J.P. Morgan Asset Management คาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างไรบ้าง ?
Mr. Tai Hui กล่าวว่า อัตราการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี สะท้อนไปยังความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกับประเทศในทวีปยุโรป หรือสหราชอาณาจักร ที่กำลังซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนสมควรติดตามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยังมีความเสี่ยงเรื่องของปัญหาด้านนโยบายทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น
1. การเติบโตของ Mortgage Rate หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับบ้าน
ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ในระดับ 3% แต่ปัจจุบันเติบโตแตะระดับ 7-8%
ทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ตามมา
2. บริษัทในสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น จากการกู้เงินเพื่อการลงทุน หรือขยายกิจการ
ซึ่งจากเดิมก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว ๆ 2% หรือต่ำกว่านั้น
แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 5%
ในทางกลับกัน ประเทศในทวีปเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติโรคระบาด
แต่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการบริโภคภายในประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ภาครัฐญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นเติบโตด้วยแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
พร้อมผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปเติบโตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อย่างเทคโนโลยีทางการแพทย์ และปัญญาประดิษฐ์
พอเป็นแบบนี้ ในปี 2024 ตลาดญี่ปุ่นถือว่าเป็นหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ การจัดการสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนสมควรให้ความสำคัญ และจะเป็นกลยุทธ์หลักในการลงทุนของปี 2024
ต่อมา Ms. Elaine Wu กล่าวว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “New Regime” หรือการที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่แปลกใหม่ และจะส่งผลโดยตรงต่อการลงทุน เช่น
- ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ที่เกิดจากนโยบายทางการเงินของธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลก
- ปัญหาประชากรสูงวัย
- ตลาดแรงงานตึงตัว
- ปัญหาค่าแรงที่เติบโตสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสายการผลิต
อย่างไรก็ดี ในทุก ๆ วิกฤติจะมีโอกาสซ่อนอยู่ โดยโอกาสการลงทุนในปี 2024 BlackRock Investment Institute มองว่า ตลาด “Emerging Market” หรือตลาดเกิดใหม่ เป็นตลาดที่นักลงทุนสมควรจับตามองให้ดี
โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนประชากรวัยแรงงานที่สูง และมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการที่หลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศนั้น ๆ
ซึ่งธุรกิจที่จะเติบโตได้อย่างน่าสนใจ และกลายมาเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
หรือที่เรียกว่า “Mega Forces” ในมุมมองของ BlackRock ได้แก่
- ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
- ธุรกิจพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน Low-Carbon Transition
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และ Robotic ที่จะไม่ถูกกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาประชากรสูงวัย
- ธุรกิจการเงินสมัยใหม่
แน่นอนว่า หนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำของทั้ง 5 อุตสาหกรรมที่กล่าวมา คงหนีไม่พ้น “ประเทศจีน”
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดหุ้นจีนจะประสบปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อมั่น แต่ตลาดหุ้นจีนก็ยังเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน จาก Valuation ที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ตลาดทั่วโลก
นอกจากนี้ ภาครัฐจีนยังคอยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (AI) และธุรกิจพลังงานสะอาด ทำให้จีนสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงควรศึกษาพื้นฐานบริษัท ทำความเข้าใจนโยบายของภาครัฐจีน พร้อมคำนึงถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ก่อนเข้าไปลงทุน
นอกจากประเทศจีนแล้ว อีกหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ ทั้งในด้านจำนวนประชากรวัยแรงงาน, การบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตของ GDP คือประเทศ “อินเดีย”
ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดีย ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ
คุณมทินาสรุปว่า ทำไมตลาดหุ้นอินเดียถึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และควรมีไว้ติดพอร์ตการลงทุนบ้าง
1. สำหรับเชิงโครงสร้างของประเทศ อินเดียกำลังจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชีย
โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตถึง 5% ต่อปี เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
2. อินเดียผ่านช่วงที่เลวร้ายมาแล้ว ในปี 2015 ที่จีนมีปัญหากับการเก็งกำไรตลาดหุ้น
ทำให้อินเดียที่เป็นคู่ค้าได้รับผลกระทบเหมือนกัน ราคาบ้านของอินเดียเลยปรับตัวลดลง
จะบอกว่าสิ่งที่อินเดียเจอในปี 2015 ถึงปี 2018 เหมือนกับที่จีนเจอตอนนี้ก็คงได้
เพราะมีเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กัน เช่น รัฐบาลมีนโยบายลดหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคเอกชน
ดังนั้นอินเดียผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว ทำให้อุปทานการก่อสร้างบ้าน อสังหาริมทรัพย์ลดลง และอินเดียกำลังเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น
ทำให้ตอนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลจึงมีความสามารถในการใช้จ่าย
ขณะที่ธนาคารต่าง ๆ ภายในประเทศมี NPL หรือหนี้เสียที่ค่อนข้างต่ำ
3. ปี 2020 ที่เกิดวิกฤติ สภาพคล่องที่ล้นจากสหรัฐอเมริกาไหลมายังอินเดีย
เพราะชาวต่างชาติเห็นว่า เศรษฐกิจของอินเดียสามารถเติบโตได้อีกไกล
ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียในช่วงเวลานั้นปรับตัวได้ค่อนข้างดี
ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รายย่อยในประเทศเห็นว่าตลาดหุ้นของตัวเองก็ดีเช่นกัน
ประกอบกับรัฐบาลพยายามสื่อสาร และให้ความรู้ว่า “การลงทุนในหุ้นดีอย่างไร”
ส่งผลให้ 3 ปีที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้ได้หันมาลงทุนกันมากขึ้น และช่วยดันตลาดหุ้นเพิ่มไปอีก
ดังนั้นตลาดหุ้นอินเดียจึงจะพลาดไม่จับตามองไม่ได้เลย..
มาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของหลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชีย และ Emerging Market ที่กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ ไม่แพ้กับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา กันบ้างแล้ว
แต่คำถามคือ เราควรจัดพอร์ตอย่างไรให้กินอิ่มนอนหลับ ?
คุณมทินาได้บอกว่า การจัดสรรสินทรัพย์แทบจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทน 100%
การจับจังหวะลงทุน หรือการคัดเลือกหุ้นยังได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าเลย
ดังนั้นคุณมทินาเลยได้แนะนำการจัดสรรสินทรัพย์ที่ถูกต้องเป็นสัดส่วน ดังนี้
1. แบ่งเป็น Core Portfolio ประมาณ 70-80% ของพอร์ต
โดยเน้นลงทุนระยะยาว และ Rebalance ทุกไตรมาส
ซึ่ง Core Portfolio ควรเลือกกองทุนที่เราเชื่อมั่นว่าจะให้ผลตอบแทนดี สม่ำเสมอ และมีการเติบโต
โดยสามารถเลือกกองทุนเพื่อจัดพอร์ตเองได้ หรือสามารถลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งมีนโยบายกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์อยู่แล้ว เช่น
- K-GA กองทุนผสมทั้งตราสารหนี้และหุ้นเด่นทั่วโลก
- K-GINCOME เน้นผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในระยะยาว
และกองทุนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น K-PLAN2, K-PLAN3 และ Wealth PLUS
2. แบ่งเป็น Satellite Portfolio ประมาณ 20-30% ของพอร์ต
โดยเน้นลงทุนระยะสั้น สามารถจับจังหวะตลาด หรือใช้กลยุทธ์ Trading ได้ เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุน
เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้, กองทุนรวมแต่ละประเทศ และกองทุนรวมตามธีม
เพียงจัดน้ำหนักพอร์ตตามนี้ ผลตอบแทนของพอร์ตเราก็จะผันผวนน้อยลง
และสามารถอยู่รอดในช่วงที่โลกกำลังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.