กรณีศึกษา “Flash Express” รายได้เยอะ แต่ขาดทุนกระจาย

กรณีศึกษา “Flash Express” รายได้เยอะ แต่ขาดทุนกระจาย

24 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา “Flash Express” รายได้เยอะ แต่ขาดทุนกระจาย /โดย ลงทุนแมน
“ยิ่งรายได้บริษัทเติบโตดีเท่าไร ธุรกิจก็ยิ่งดีเท่านั้น”
ประโยคดังกล่าว อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป
จริง ๆ แล้ว กลุ่มบริษัทที่รายได้เติบโตระเบิด หากเป็นธุรกิจที่ยังไม่ทำกำไร ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการที่บริษัทยังขาดทุนอยู่อย่างยาวนาน มันอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงสภาพธุรกิจที่อาจไม่ปกติ ตัวอย่างของเรื่องนี้ก็คือ Flash Express ยูนิคอร์นรายแรกในบ้านเรา
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เหตุผลสำคัญเลยสำหรับ Flash Express ก็คือ “ค่าใช้จ่าย” ที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามการเติบโตของรายได้
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูผลประกอบการที่ผ่านมา ของ Flash Express
ปี 2561 รายได้ 47 ล้านบาท ขาดทุน 183 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,123 ล้านบาท ขาดทุน 1,666 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 9,739 ล้านบาท ขาดทุน 716 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 17,607 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 14,805 ล้านบาท ขาดทุน 2,186 ล้านบาท
จะเห็นได้ชัดว่ารายได้ของบริษัทเติบโตระเบิด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นด้วย
เว้นแต่ในปี 2564 ที่ความต้องการส่งสินค้าทะลัก เนื่องมาจากวิกฤติล็อกดาวน์
แล้วทำไมรายได้เติบโตดี
แต่บริษัทยังคงขาดทุน ?
โดยปกติแล้ว การที่รายได้จะเติบโตได้ในระดับนี้ บริษัทเองก็ต้องใช้เงินลงทุน ในการขยายธุรกิจมากเช่นกัน
อย่างในกรณีของ Flash Express ด้วยโครงสร้างค่าใช้จ่ายของธุรกิจขนส่ง การเติบโตของรายได้ จะตามมาด้วยค่าใช้จ่าย เช่น
- ต้องขยายจุดกระจายสินค้า
- ต้องมีรถขนส่ง และจ้างพนักงานขนส่งเพิ่มขึ้น
โดยหากเราไปดูแค่กำไรขั้นต้น..
รายได้ 14,805 ล้านบาท
ต้นทุนขาย 15,608 ล้านบาท
กำไรขั้นต้น ก็จะเท่ากับ -803 ล้านบาทแล้ว
อธิบายง่าย ๆ คือ แค่บริษัทรับเงินค่าส่งมา ให้ไรเดอร์ไปส่งก็ขาดทุนแล้ว ซึ่งตรงนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นค่าโฆษณา ค่าการตลาด เงินเดือนผู้บริหาร และอีกหลาย ๆ รายการ
จุดนี้ก็เรียกได้ว่าท้าทายสำหรับบริษัท เพราะหากจะทำให้กำไรขั้นต้นเป็นบวก ก็มีอยู่สองอย่าง คือ
1. เพิ่มรายได้ เช่น บริษัทต้องขึ้นค่าขนส่ง
2. บริษัทต้องลดต้นทุนต่อหน่วย เช่น การขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นอีก เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ ต้องลดค่าจ้างพนักงาน หรือค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับคู่ค้าลง
ด้วยความที่ตลาดขนส่งในประเทศไทย มีการแข่งขันกันสูง Flash Express ต้องแข่งขันกับคู่แข่ง เช่น Kerry, ไปรษณีย์ไทย หรือแม้แต่อีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee ก็มาทำธุรกิจขนส่งเอง
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ การเพิ่มราคาค่าบริการ จะทำได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน
วิธีแก้ไข ก็จะไปตกกับการลดต้นทุนขาย นั่นก็คือ การลดผลตอบแทน และลดอัตราค่าจ้าง รวมถึงค่าคอมมิชชันของไรเดอร์ลง
ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลเร็วที่สุด หากเทียบกับการลดค่าใช้จ่ายประเภทอื่น ๆ และหากเราไปดูฐานะทางการเงินของ Flash Express
ปี 2565
สินทรัพย์ 4,221 ล้านบาท
หนี้สิน 8,565 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น -4,344 ล้านบาท..
โดยหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัท ก็จะเป็นเจ้าหนี้การค้า หรือก็คือค่าใช้จ่ายที่บริษัทค้างอยู่กับคู่ค้า ในกรณีนี้ก็เช่น ค่าจ้างไรเดอร์ที่ไม่ใช่พนักงานประจำของ Flash Express, ค่าเช่าที่, ค่าเช่ารถ
ทั้งหมดนี้
จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมแม้ Flash Express จะมีรายได้เติบโตระเบิด แต่ก็ยังคงขาดทุน
และที่สำคัญก็คือ การขาดทุนนี้ ไม่รู้เลยว่าจะไปหยุดที่เวลาไหน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.