TAL อดีตติวเตอร์จีน 2 ล้านล้าน กำลังสู้ เพื่ออยู่รอด

TAL อดีตติวเตอร์จีน 2 ล้านล้าน กำลังสู้ เพื่ออยู่รอด

9 พ.ย. 2023
TAL Education เป็นบริษัทติวเตอร์จีน ที่เคยเติบโตร้อนแรง แต่กลับโดนเตะตัดขาโดยนโยบายรัฐบาลจีน
โดนเตะในระดับที่ว่า บริษัท TAL ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน เหลือเพียง 2 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 9 ใน 10
ซึ่งล่าสุด ก็ดูเหมือนว่า TAL ยังไม่ยอมแพ้
และกำลังลุยธุรกิจใหม่เพื่อกลับมาอีกครั้ง
แต่ดูเหมือนจะยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก
วันนี้ เรามาย้อนดูกันว่า TAL เจออะไร
และปัจจุบัน บริษัทกำลังหาวิธีเอาตัวรอด อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เริ่มกันที่มันเกิดอะไรขึ้นกับ TAL
เรื่องแรกเลย ก็คือ บริษัทไม่โปร่งใส ตกแต่งยอดขายในงบการเงิน จนทำให้มีรายได้สูงเกินจริง ประมาณ 4% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2020
ซึ่งกรณีนี้ ก็คล้ายกันกับ Luckin Coffee บริษัทที่เคยได้รับฉายาว่า Starbucks เมืองจีน มีรายได้เติบโต 1,500% ในระยะเวลาแค่ 4 ปี แต่มีการตกแต่งยอดขาย
เรื่องถัดมา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สุดสำหรับ TAL เลยก็คือ มาตรการควบคุมของรัฐบาลจีน ที่มองว่า ธุรกิจการศึกษาในจีน มีการเก็บ “ค่าเรียนแพงเกินไป”
ซึ่งไปขัดต่อทิศทางของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นอัตราการเกิดใหม่ของประชากร
โดยค่าเล่าเรียน คิดเป็นค่าใช้จ่ายมากถึง 16% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูก รัฐบาลก็เลยต้องเข้ามาแทรกแซง ถ้าอยากให้คนมีลูกมากขึ้น
ทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงทำให้กลุ่มธุรกิจติวเตอร์ที่เคยโตระเบิด มีรายได้หายไป เรียกได้ว่าแทบจะทั้งหมด ซึ่ง TAL ก็คือหนึ่งในนั้น
เมื่อธุรกิจเดิมโดนนโยบายรัฐบาลมาขวางไว้
ทางรอดของ TAL ก็คือ ต้องไปลงทุนในธุรกิจใหม่
ซึ่งคำตอบ ที่บริษัทเห็นว่าเป็นไปได้ ก็คือ “MathGPT”
แล้วมันคืออะไร ?
คำตอบก็คือ เหมือน ChatGPT ทุกอย่างเลย
แต่จะเปลี่ยนจากการตอบคำถามทั่วไป
เป็นการตอบคำถามทางคณิตศาสตร์ด้วย AI
MathGPT จะเป็นโปรแกรมแก้โจทย์คณิตศาสตร์ มีความสามารถพอ ๆ กับครูประถม และครูมัธยม สามารถแก้โจทย์คำนวณด้วยสมการตัวแปรซับซ้อน โจทย์เชิงตรรกะ ไปจนถึงถอดลอการิทึมได้
โดย MathGPT ก็ยังรองรับถึง 2 ภาษา คือ
- จีน
- อังกฤษ
รวมถึงรองรับการแก้โจทย์ผ่านภาพถ่ายอีกด้วย
ฟังดูแล้วก็น่าจะมีประโยชน์ เอาไว้ให้เด็กเรียนรู้การแก้โจทย์ปัญหาได้ แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
เพราะแอปพลิเคชันถ่ายภาพแก้โจทย์เลข ก็มีให้เห็นกันอยู่แล้ว ตัวอย่างก็เช่น

- Photomath แอปพลิเคชันแก้โจทย์เลขของ Google
- QANDA แอปพลิเคชันแก้โจทย์เลขจากเกาหลีใต้
จะเห็นได้ว่ามีคนลงมาเล่นในตลาดนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญ Google หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ลงมาเล่นด้วย
และเมื่อดูจากผลประกอบการของ TAL แล้ว ก็อาจจะหนักหนาเกินกว่าที่ MathGPT จะแก้ได้ เพราะหากลองไปดูรายได้และกำไร ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา พบว่า
ปี 2020
รายได้ 120,000 ล้านบาท
ขาดทุน 4,000 ล้านบาท
ปี 2021
รายได้ 160,000 ล้านบาท
ขาดทุน 4,200 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 159,000 ล้านบาท
ขาดทุน 41,000 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2023
รายได้ 35,000 ล้านบาท
ขาดทุน 1,700 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าหลังจากปี 2021 ที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุม รายได้ก็ไม่เติบโตอีกแล้ว ทั้งยังขาดทุนหนักกว่าเดิมอีกด้วย
แถม MathGPT แม้จะเข็นออกมาได้ และยังอยู่ในช่วงทดสอบ ก็ยังมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งในเรื่องความถูกต้องแม่นยำ ที่ยังตอบผิดพลาดอยู่ และยังไม่ได้เก่งเท่ากับ Photomath ของ Google
และที่สำคัญสุด ก็คือ โมเดลการหารายได้ ของแอปตัวนี้ จะไปเก็บเงินจากใคร และใครจะยอมจ่ายให้บริการแบบนี้
โชคยังดีที่บริษัทไม่ได้มีหนี้สูง และยังพอมีส่วนทุนอีกราว 137,000 ล้านบาท คอยประคับประคองให้ขาดทุนต่อไปได้อีกสักพัก
แต่ก็ดูเหมือนว่า TAL ต้องรีบหน่อย
เพราะหาก MathGPT ไม่สำเร็จ
บริษัท ก็คงต้องหาธุรกิจใหม่ต่อไป
ไม่เช่นนั้น ก็จะขาดทุนเลือดไหลไปเรื่อย ๆ
จนไม่มีเหลือให้ลงทุน อะไรอีกเลย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.