สระบุรี จังหวัดแห่งโรงปูน มีรายได้ต่อหัว อันดับ 8 ของไทย

สระบุรี จังหวัดแห่งโรงปูน มีรายได้ต่อหัว อันดับ 8 ของไทย

17 ม.ค. 2024
สระบุรี จังหวัดแห่งโรงปูน มีรายได้ต่อหัว อันดับ 8 ของไทย /โดย ลงทุนแมน
พูดถึง “สระบุรี” จังหวัดทางผ่านของหลายคน เวลาเดินทางไปเขาใหญ่ นครราชสีมา หรือเข้าสู่ภาคอีสาน
ภาพที่คุ้นเคย คงจะเป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงปูนใหญ่ ๆ
รู้ไหมว่า จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP per Capita) หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร สูงถึง 29,425 บาทต่อเดือน
ซึ่งสูงเป็นจังหวัดอันดับ 8 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
แล้วสระบุรี มีดีอะไร
ทำไมถึงมีรายได้ต่อหัวสูงขนาดนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
สระบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลางที่ห่างจากกรุงเทพมหานครไม่ไกล มีพื้นที่ราว 3,576 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเพียง 0.7% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด
โดยสระบุรีนั้น ถือเป็นจังหวัดสำคัญในแง่การคมนาคมเดินทางของประเทศ
ทางถนน มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือที่เรียกกันว่า ถนนมิตรภาพ ที่เชื่อมสระบุรีไปนครราชสีมา เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน
ส่วนทางราง มีเส้นทางรถไฟที่สำคัญเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับภาคเหนือและภาคอีสาน
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางมอเตอร์เวย์ M6 บางปะอิน-นครราชสีมา ที่จะเปิดบริการตลอดสาย ในปี 2568
และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตัดผ่านอีกด้วย
ในด้านการเกษตรนั้น ด้วยความที่เป็นพื้นที่อันเหมาะแก่การปลูกพืชไร่ และการทำนา ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญจึงเป็นข้าว และมันสำปะหลัง เป็นส่วนใหญ่
และสระบุรี ยังถือเป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมในประเทศ อีกด้วย
โดยเป็นที่ตั้งขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “ฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สระบุรีมากที่สุด ไม่ได้มาจากภาคการเกษตร แต่กลับเป็น “ภาคอุตสาหกรรม”
จากข้อมูลของสำนักงานคลังจังหวัดสระบุรี เผยว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของสระบุรี (GPP) มีมูลค่า 270,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่มีจำนวนประชากรเพียง 766,289 คน
หรือคิดเป็นผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP per Capita) กว่า 353,096 บาทต่อปี หรือสูงถึง 29,425 บาทต่อเดือน เลยทีเดียว
หากลองเจาะโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดนี้
- ภาคอุตสาหกรรม 67%
- ภาคบริการ 29%
- ภาคการเกษตร 4%
จะเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญที่สร้างรายได้ให้จังหวัดนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์”

นั่นก็เพราะว่า การผลิตปูนซีเมนต์ มีต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบและปูนซีเมนต์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตและจัดจำหน่าย
ดังนั้น การลงทุนตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ จึงต้องเลือกตั้งใกล้ ๆ กับแหล่งวัตถุดิบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลำเลียงวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน
ซึ่งสระบุรี มีแร่หินปูนจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของไทย อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์
ในขณะเดียวกัน ที่ตั้งของสระบุรีเองนั้น ก็มีความได้เปรียบในการขนส่ง ทั้งยังมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก
เราจึงเห็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 3 รายใหญ่ของไทย ที่มีการผลิตรวมกันกว่า 80% ของทั้งประเทศ ไปตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สระบุรี ไม่ว่าจะเป็น
- ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)
- ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC)
- ทีพีไอ โพลีน (TPIPL)
อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงงานเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เช่น กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และแผ่นพื้นคอนกรีต รวมไปถึงอุตสาหกรรมเซรามิกและกระเบื้อง อีกด้วย
โดยตัวอย่างแหล่งที่ตั้งโรงงาน ในสระบุรี
- นิคมอุตสาหกรรมหนองแค
- นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย
- เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี
นอกจากนี้ สระบุรียังมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม โดยมีท่อน้ำมันจากชลบุรี และท่อก๊าซธรรมชาติจากระยอง ส่งถึงสระบุรี เพื่อส่งเชื้อเพลิงที่สำคัญในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ
และยังมีแหล่งน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงมีแหล่งบ่มเพาะแรงงานจำนวนมาก จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง
ด้วยปัจจัย ทั้งเรื่องใกล้แหล่งวัตถุดิบ, การคมนาคม และระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น จึงทำให้สระบุรี สามารถดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ให้เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
จนตอนนี้ จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ (ข้อมูลเดือน ส.ค. 2566)
- มีโรงงานไปตั้งแล้วกว่า 1,589 แห่ง
- มีเม็ดเงินลงทุนสะสมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึง 355,000 ล้านบาท
- เกิดการจ้างงานราว 100,000 คน เลยทีเดียว
แต่อีกมุมหนึ่ง ด้วยความที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักแบบนี้ ก็ได้สร้างผลกระทบตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศ และการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ จากการทำเหมืองแร่หินปูน ที่ต้องเจาะและระเบิดภูเขา
- มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์
ส่งผลเสียทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้คนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของสระบุรี จังหวัดเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 0.7% เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ
แต่เป็นหนึ่งในจังหวัด ที่ภาคอุตสาหกรรม มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
และมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว ติด TOP 10 ของไทย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-สำนักงานคลังจังหวัดสระบุรี
-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี
-แผนพัฒนาจังหวัดสระบุรี ปี 2566-2570
-https://www.krungsri.com/th/research
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.