กรณีศึกษา ออสเตรเลีย แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยตลาดซื้อขายน้ำ

กรณีศึกษา ออสเตรเลีย แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยตลาดซื้อขายน้ำ

19 ม.ค. 2024
กรณีศึกษา ออสเตรเลีย แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยตลาดซื้อขายน้ำ /โดย ลงทุนแมน
“ภัยแล้ง” เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก
รู้หรือไม่ว่า ออสเตรเลีย ก็เป็นหนึ่งประเทศ ที่เจอปัญหาภัยแล้งหนักไม่ต่างจากเรา แต่มีแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่น่าสนใจ
วิธีที่ว่าคือ “การตั้งตลาดซื้อขายน้ำ” ขึ้น
แล้วตลาดซื้อขายน้ำที่ว่านี้ มันมีกลไกการทำงานอย่างไร ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ทวีปออสเตรเลีย ถือได้ว่าเป็นทวีปที่มีฝนตกน้อยที่สุดทวีปหนึ่งของโลก
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ประเทศออสเตรเลียเองก็เป็นประเทศแห่งการทำเกษตร ไม่ต่างอะไรจากประเทศไทย
จากสถิติพบว่า ออสเตรเลียมีการใช้น้ำในภาคการเกษตรสูงถึง 70%
ขณะที่ภาคครัวเรือนใช้น้ำเพียง 14% ของการบริโภคน้ำทั้งหมดเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในออสเตรเลีย ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตรมีสูงมาก
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องวางแผน บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้ง “ตลาดซื้อขายน้ำ” ขึ้นมา ซึ่งหลักการทำงานของตลาดนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากรูปแบบของตลาดหุ้น หรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ มากนัก
แต่ก่อนที่เราจะพูดถึง หลักการทำงานของตลาดซื้อขายน้ำในออสเตรเลีย เราต้องเข้าใจวิธีบริหารจัดการน้ำของออสเตรเลียกันก่อน
ออสเตรเลียจะแบ่งรูปแบบการใช้น้ำประปา เป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
1. การใช้งานในครัวเรือน เช่น การอาบน้ำ ล้างรถ หรือการดื่มน้ำก๊อก การใช้งานรูปแบบนี้ จะไม่ถูกรัฐบาลควบคุมปริมาณการใช้งาน
2. การใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ซึ่งการใช้งานในลักษณะนี้ จะถูกควบคุมปริมาณการใช้น้ำ โดยผู้ประกอบการจะได้รับโควตาการใช้น้ำที่ไม่เท่ากัน
การจัดโควตาการใช้น้ำ จะเริ่มต้นตั้งแต่การจัดสรรโควตาในระดับรัฐ โดยหน่วยงานของส่วนกลาง
ตัวอย่างพื้นที่การจัดสรรโควตาที่มีความสำคัญคือ
รัฐที่อยู่รอบ ๆ ลุ่มแม่น้ำ Murray-Darling ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 4 รัฐ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย คือ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิกทอเรีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรกว่า 40% ของออสเตรเลียตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำนี้ โดยคิดเป็นมูลค่าผลผลิตกว่า 500,000 ล้านบาท และมีอ่างกักเก็บน้ำมากถึง 22 แห่ง
โดยหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดสรรโควตาการใช้น้ำในพื้นที่นี้ เรียกว่า Murray-Darling Basin Authority
และทั้ง 4 รัฐ รอบลุ่มแม่น้ำ Murray-Darling จะถูกจัดสรรโควตาการใช้น้ำไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่
เมื่อแต่ละรัฐได้รับการจัดสรรน้ำ จากหน่วยงานกลางเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นก็จะทำหน้าที่แบ่งโควตาการใช้น้ำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่แต่ละราย
ปัญหาก็คือ แม้รัฐบาลจะกำหนดโควตาการใช้น้ำล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าโควตาที่จัดสรรไว้ จะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่
ตัวแปรที่ทำให้การวางแผนจัดสรรทรัพยากรน้ำ ของรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นไปอย่างยากลำบากคือ ปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่, ปริมาณการใช้น้ำของผู้ประกอบการแต่ละราย และเรื่องของภัยธรรมชาติที่อาจไม่คาดคิด
ดังนั้นแล้ว ตลาดซื้อขายน้ำ ที่อนุญาตให้คนที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และคนที่มีโควตาการใช้น้ำเหลือ มาซื้อขาย “สิทธิ์การใช้น้ำ” จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดี
และตลาดซื้อขายน้ำ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในออสเตรเลียก็คือ ตลาดซื้อขายน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำ Murray-Darling นั่นเอง
แล้วหลักการทำงานของตลาดซื้อขายน้ำ ในออสเตรเลียเป็นอย่างไร และการขนส่งน้ำ ทำอย่างไร ?
เมื่อเราซื้อสิทธิ์ในการใช้น้ำเพิ่มเติม ข้อมูลการซื้อขายก็จะถูกส่งต่อไปให้หน่วยงานท้องถิ่น ที่รับผิดชอบเรื่องการประปา จากนั้นเราก็จะสามารถใช้น้ำได้เพิ่มเติมจากโควตาเดิม
อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อขายน้ำ ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เราจะสามารถซื้อขายโควตาการใช้น้ำ ได้เฉพาะบางรัฐที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเดียวกันกับที่เราอยู่เท่านั้น
เพราะการขนส่งน้ำระหว่างรัฐ ต้องปล่อยน้ำออกจากอ่างกักเก็บน้ำจากรัฐหนึ่ง ไปสู่อ่างเก็บน้ำอีกรัฐหนึ่ง
ซึ่งน้ำจะถูกลำเลียงผ่านแม่น้ำ ที่ไหลผ่านรัฐต่าง ๆ หรือระบบชลประทานที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์
ระยะเวลาการเดินทางของน้ำระหว่างรัฐ อาจใช้เวลาหลายวัน หรือใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับระยะทาง และความเร็วของการไหลของน้ำ
ทำให้การส่งน้ำข้ามรัฐนั้น จึงไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่า
ข้อจำกัดสุดท้ายคือ บางครั้งการขนส่งน้ำผ่านช่องทางธรรมชาติ และระยะเวลาการเดินทางของน้ำที่ยาวนาน
อาจทำให้ปริมาณน้ำที่ผู้ซื้อน้ำได้รับ น้อยกว่าปริมาณที่สั่งซื้อ เนื่องมาจากการระเหยของน้ำ และการถูกดูดซึมในชั้นดินระหว่างทาง
อย่างไรก็ดี น้ำที่สูญเสียไประหว่างทางเหล่านี้ ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยมากจนพอรับได้
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงรู้แล้วว่า โมเดลตลาดซื้อขายน้ำ ของออสเตรเลีย มาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างไร
โดยหลักการคือ จะช่วยกระจายทรัพยากรจากผู้มีเหลือใช้ ไปหาผู้ที่มีไม่พอใช้
แต่จริง ๆ โมเดลนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีอย่างเดียว
เพราะยังมีบางประเด็น ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้
เช่น เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ราคาซื้อขายสิทธิ์การใช้น้ำก็จะพุ่งสูงขึ้น
จนเกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ หรือทุนน้อย ไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าน้ำไว้ได้
ทำให้เหลือแต่เกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตรมูลค่าสูง หรือทุนหนา ที่มีสิทธิ์ใช้น้ำเท่านั้น
ซึ่งตรงนี้ หลายฝ่ายก็มีความเห็นแตกต่างกันไป
หากมองในมุมสังคม ก็อาจมองว่าวิธีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรที่ร่ำรวย
แต่ในมุมเศรษฐศาสตร์ การทำแบบนี้อาจถือเป็นการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ในแหล่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากกว่านั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Water_trading
-https://medium.com/@LondonWaterExchange/
-https://www.waterexchange.com.au
-https://earth.org/water-trading-market/
-https://www.mdba.gov.au/water-use/allocations/how-allocations-work
-https://www.environment.sa.gov.au/topics/water/water-markets-and-trade/
-https://www.greenplanetplumbing.com.au/water-crisis-is-australia-running-out-of-water/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.