กรณีศึกษา TU ขาดทุนจากการลงทุน Red Lobster 18,500 ล้าน แต่ยังมีเงินซื้อหุ้นคืนได้สบาย

กรณีศึกษา TU ขาดทุนจากการลงทุน Red Lobster 18,500 ล้าน แต่ยังมีเงินซื้อหุ้นคืนได้สบาย

20 ม.ค. 2024
กรณีศึกษา TU ขาดทุนจากการลงทุน Red Lobster 18,500 ล้าน แต่ยังมีเงินซื้อหุ้นคืนได้สบาย /โดย ลงทุนแมน
ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ตัดสินใจถอนการลงทุนใน Red Lobster เชนร้านอาหารซีฟูดชื่อดังในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งพาดหัวข่าวที่ทำให้หลายคนตกใจคือ TU ต้องบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุน สูงถึง 18,500 ล้านบาท
และที่ทำให้หลายคนงงยิ่งขึ้นไปอีกคือ ในขณะที่บริษัทประกาศผลขาดทุนนับหมื่นล้านบาท ในวันเดียวกันนั้นเอง บริษัทกลับประกาศซื้อหุ้นคืน โดยจะใช้เงินไม่เกิน 3,600 ล้านบาท
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อบริษัทมีผลขาดทุนจากการลงทุนมากขนาดนั้น ทำไมบริษัทยังมีเงินมาซื้อหุ้นคืนได้ ?
ประเด็นนี้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าอยากเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปในปี 2559 ในเวลานั้น TU ต้องการเข้าไปลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหารทะเลสำเร็จรูปของตัวเอง
ซึ่งในตอนนั้นกองทุน Golden Gate Capital ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Red Lobster ต้องการขายธุรกิจนี้อยู่พอดี
ทาง TU เลยตัดสินใจเข้าลงทุนใน Red Lobster ด้วยวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนใน..
- หุ้นสามัญ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Red Lobster (ประมาณ 8,194 ล้านบาท)
- หุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้อีก 24% ของหุ้นทั้งหมด (ประมาณ 12,479 ล้านบาท)
โดยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ จะได้รับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอน และจะได้รับเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ เพียงแต่ว่าจะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น จนกว่าจะแปลงเป็นหุ้นสามัญ
ซึ่งตามหลักการบัญชีนั้น เมื่อบริษัทมีสิทธิ์ออกเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด แต่มากกว่า 20% เราจะเรียกบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนว่า “บริษัทร่วม”
และเราจะต้องบันทึกบัญชีตามวิธีส่วนได้เสีย
ซึ่งก็คือ นำเฉพาะส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุน ของบริษัทร่วม ตามสัดส่วนหุ้นที่เราถือ มารวมอยู่ในงบการเงินของเรา
ดังนั้นแล้ว เงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster จึงถูกบันทึกในงบการเงินของ TU ว่าเป็น “เงินลงทุนที่รับรู้ตามวิธีส่วนได้เสีย” ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนนั่นเอง
ซึ่งในแต่ละปี เราจะนำส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุน ของบริษัทร่วม ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท มารวมกับมูลค่าเงินลงทุนที่รับรู้ตามวิธีส่วนได้เสีย
สรุปง่าย ๆ ว่า หากบริษัทร่วมมีผลประกอบการที่ทำกำไร
มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วม ในงบแสดงฐานะการเงินของเรา ก็จะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าบริษัทร่วม มีผลประกอบการขาดทุน
มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมนั้น ก็จะลดลงตามไปด้วย
อย่างเช่น ในกรณีของ Red Lobster ที่มีผลขาดทุนมาตลอด นับตั้งแต่ TU เข้าไปลงทุน
ทำให้จากตอนแรกที่ TU มีมูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster อยู่ที่ 8,194 ล้านบาทในปี 2559 เหลือเพียงราว ๆ 2,800 ล้านบาท ตอนสิ้นไตรมาส 3/2566
นอกจากนี้ TU ยังต้องแบกรับภาระผลขาดทุนของ Red Lobster เข้ามาในงบกำไรขาดทุนของบริษัท ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25% อีกด้วย
ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา TU ต้องแบกรับส่วนแบ่งขาดทุนของ Red Lobster ในแต่ละปี ไม่น้อยกว่าหลักร้อยล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังปี 2563 ที่ต้องแบกรับผลขาดทุนมากถึงหลัก “พันล้านบาทต่อปี” เลยทีเดียว
ส่วนเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ จัดอยู่ในรายการ “สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม” ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ซึ่งในส่วนของมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธินี้ จะไม่ถูกลดมูลค่าลง ตามส่วนแบ่งขาดทุนของ Red Lobster แต่จะถูกคิดมูลค่าด้วยสมมติฐานทางการเงินอื่น
ดังนั้นแล้ว การบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของ TU มูลค่า 18,500 ล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นในงบกำไรขาดทุน ไตรมาส 4/2566 คือการด้อยค่ามูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในหุ้นสามัญ ที่เหลืออยู่ราว 2,800 ล้านบาท
และที่เหลือคือ การตั้งด้อยค่าในส่วนของเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนของ TU เกิดจากการบันทึกค่าใช้จ่าย (ด้อยค่า) ในงบกำไรขาดทุน
และหักลบมูลค่าสินทรัพย์ ออกไปจากงบแสดงฐานะการเงินเท่านั้น
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดที่บริษัททำได้ในปัจจุบันเลย เพราะเงินลงทุนใน Red Lobster ถูกจ่ายออกไปตั้งแต่ปี 2559 เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ตัวเลขขาดทุน 18,500 ล้านบาทของ TU จึงเป็นเพียงตัวเลขขาดทุน ที่เกิดขึ้นในทางบัญชีเท่านั้น
และต่อให้ไม่มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนรวดเดียวเหมือนครั้งนี้ ตราบใดที่ Red Lobster ยังขาดทุนเรื่อย ๆ อยู่แบบนี้
ถึงอย่างไรเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster ก็ต้องถูกทยอยปรับลดลงตามส่วนแบ่งผลขาดทุน จนเหลือ 0 ในเวลาอันใกล้นี้อยู่ดี
การตั้งด้อยค่าเงินลงทุนรวดเดียวแบบนี้ จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในมุมบริษัท เพราะจะทำให้ TU ไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนจากส่วนแบ่งขาดทุน เข้ามาในงบกำไรขาดทุน ปีละกว่าพันล้านบาท ต่อเนื่องไปอีกหลายปี..
และถ้าในอนาคต บริษัทสามารถหาผู้ซื้อหุ้น Red Lobster ได้ บริษัทก็จะบันทึกเงินที่ได้จากการขายหุ้น เป็นกำไรพิเศษในงบกำไรขาดทุนได้อีก
เมื่อถึงเวลานั้น บริษัทก็จะมีกระแสเงินสดจากการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม เข้ามาที่บริษัทด้วย
แต่ถึงแม้ TU จะยังหาผู้ซื้อธุรกิจ Red Lobster ต่อจากบริษัทไม่ได้ในเร็ว ๆ นี้ บริษัทก็ยังมีความสามารถในการซื้อหุ้นคืน และจ่ายปันผลได้อยู่ดี
เพราะถ้าเราดูจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในไตรมาสล่าสุด ก็จะเห็นได้ว่า TU มีเงินสดมากถึง 8,395 ล้านบาท
นอกจากนี้ในแต่ละปี บริษัทก็สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบริษัทถึงสามารถประกาศว่าจะซื้อหุ้นคืนได้ โดยใช้เงินประมาณ 3,600 ล้านบาท ได้อย่างไม่มีปัญหา
การบันทึกผลขาดทุน จากการด้อยค่าเงินลงทุนของ TU ถือเป็นกรณีศึกษาให้เราเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีว่า แม้ในบางครั้งบริษัทจะมีผลขาดทุน จากการลงทุนในอดีตที่ผิดพลาด
แต่ถ้าบริษัทยังมีธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ผลขาดทุนที่ดูเหมือนจะมีมูลค่ามโหฬาร ก็อาจไม่ได้ทำให้บริษัทต้องสะดุดล้ม อย่างที่คิด..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/TU/news
-https://investor-th.thaiunion.com/ar.html
-https://hoonsmart.com/archives/136079
-https://www.efinancethai.com/HotNews/hotnewsmain.aspx?release=y&name=h_111016h&postdate=2016-10-11%2017:05:53
-https://www.posttoday.com/business/stockholder/704540
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.