Saudi Aramco จากบริษัทอเมริกัน สู่ตู้ ATM ล้านล้าน ให้รัฐบาลซาอุฯ

Saudi Aramco จากบริษัทอเมริกัน สู่ตู้ ATM ล้านล้าน ให้รัฐบาลซาอุฯ

9 มี.ค. 2024
Saudi Aramco จากบริษัทอเมริกัน สู่ตู้ ATM ล้านล้าน ให้รัฐบาลซาอุฯ /โดย ลงทุนแมน
ปี 2023 กระทรวงการคลัง ได้รับเงินปันผลจาก ปตท. กว่า 29,000 ล้านบาท
แต่ในปีเดียวกัน รัฐบาลซาอุฯ ก็ได้รับเงินปันผลจาก Saudi Aramco ซึ่งทำธุรกิจเหมือน ปตท. มากถึง 3,221,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่า มากกว่าเงินปันผลที่ ปตท. จ่ายให้กับกระทรวงการคลัง กว่า 110 เท่า..
และนอกจากเรื่องเงินปันผลที่รัฐบาลซาอุฯ ได้รับอย่างมหาศาลแล้ว รู้ไหมว่า ในอดีต บริษัทประจำชาติซาอุฯ แห่งนี้ เคยเป็นบริษัทอเมริกันมาก่อน..
แล้วทำไม Saudi Aramco ถึงกลายมาเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด ปีละ 3 ล้านล้านบาท ให้รัฐบาลซาอุฯ ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัจจุบัน Saudi Aramco เป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่สุดในโลก และมีมูลค่าบริษัท 73 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก
จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ คงต้องย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อน้ำมันในตลาดโลก เริ่มขาดแคลนจากภาวะสงคราม
ในตอนนั้น โลกมีบริษัทน้ำมันรายใหญ่อยู่ 2 ราย
ได้แก่ Turkish Petroleum ของจักรวรรดิออตโตมัน
และ Standard Oil ของสหรัฐอเมริกา
โดย Turkish Petroleum เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของธุรกิจ จากหลาย ๆ ประเทศ เพื่อไปขอสัมปทานน้ำมันในจักรวรรดิออตโตมัน เช่น
- Deutsche Bank จากเยอรมนี
- Anglo-Saxon Oil Company หรือ Shell ในปัจจุบัน จากสหราชอาณาจักร
ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง จักรวรรดิออตโตมันและเยอรมนี เป็นผู้แพ้สงคราม
ทำให้ผู้ชนะสงคราม มาประชุมหาข้อตกลง เพื่อแบ่งผลประโยชน์จากน้ำมันในพื้นที่แถบนี้
ในที่สุด Turkish Petroleum ก็ถูกแบ่งผลประโยชน์กัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
ทำให้ประเทศผู้ชนะสงครามโลกอีกประเทศหนึ่ง
นั่นคือ สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ จากข้อตกลงนี้เลย
จุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ต้องหาแหล่งน้ำมันในประเทศอื่น ๆ แทน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันของตัวเองที่กำลังสูงขึ้น
เลยหันไปมองอีกประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ กัน นั่นก็คือ ซาอุดีอาระเบีย..
โดยซาอุดีอาระเบีย ก็กำลังมองหาบริษัทน้ำมันมาลงทุนในประเทศเช่นกัน เพื่อคานอำนาจกับคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอย่าง Turkish Petroleum
และในปี 1933 บริษัท Standard Oil of California (SoCal) หรือในปัจจุบันคือ Chevron สามารถเจรจาขอสัมปทานกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้สำเร็จ
เกิดเป็นบริษัท California-Arabian Standard Oil หรือ CASOC ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Arabian American Oil Co. หรือ “Aramco” ในปี 1944
โดย Aramco มี SoCal ถือหุ้นอยู่ 30% และมีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ร่วมถือหุ้นด้วย ได้แก่
- Texas Company ถือหุ้น 30%
- Standard Oil of New Jersey หรือ Exxon ถือหุ้น 30%
- Socony Vacuum หรือ Mobil ถือหุ้น 10%
และกลายเป็นที่มาของ Saudi Aramco ที่ก่อตั้งโดยบริษัทอเมริกันนั่นเอง..
ถึงตรงนี้ เรื่องราวก็ดู Win-Win ทั้งสองฝ่าย เพราะบริษัทอเมริกัน ก็เข้าถึงแหล่งน้ำมันและมีรายได้จากการขายน้ำมัน
ส่วนรัฐบาลซาอุฯ ก็มีรายได้จากการขายสัมปทาน แถมเกิดการจ้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุดเจาะเข้าสู่ประเทศ
แต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจน้ำมัน ก็เป็นเรื่องหอมหวาน
จนในที่สุด ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา..
ในช่วงปี 1950 สมเด็จพระราชาธิบดี Abdulaziz ผู้นำซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น ต้องการส่วนแบ่งจากการขายน้ำมัน
รัฐบาลซาอุฯ จึงกดดันให้ Saudi Aramco ต้องแบ่งกำไรจากบริษัทในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง กับบรรดาบริษัทอเมริกัน
หลังการเจรจาจนดูเหมือนว่า ทั้งคู่จะหาข้อตกลงร่วมกันได้ โดยรัฐบาลซาอุฯ จะยกเว้นภาษีเงินได้ เท่ากับกำไรที่ Saudi Aramco มีส่วนแบ่งออกมาให้กับรัฐบาลซาอุฯ
แต่เรื่องราวก็ยังไม่จบ เพราะบรรดาบริษัทอเมริกันทั้งหลาย พยายามกดราคาน้ำมันให้ต่ำ ๆ ทำให้รัฐบาลซาอุฯ ได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ถ้าถามว่า ราคาต่ำขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าในช่วงปี 1950 ราคาน้ำมัน (หลังปรับอัตราเงินเฟ้อ) อยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นเงินในตอนนั้นราว 1,075 บาท
ซึ่งหากพูดง่าย ๆ คือ ตอนนั้น น้ำมันเพียง 1 ลิตร
จะมีราคาเพียง 6.8 บาทเท่านั้น..
ดังนั้น ในปี 1960 ซาอุฯ จึงไปจับมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ เพื่อก่อตั้งกลุ่ม OPEC และใช้วิธีการปรับกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อกำหนดทิศทางราคาน้ำมัน
แต่การทำแบบนั้นก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะ Saudi Aramco ยังถือหุ้นส่วนโดย 3 บริษัทอเมริกัน 100%
และรัฐบาลซาอุฯ ไม่มีอำนาจสั่งการอะไรได้เลย
ในปี 1973 รัฐบาลซาอุฯ จึงตัดสินใจ เริ่มขอซื้อหุ้น Aramco ในสัดส่วน 25%
ก่อนจะค่อย ๆ ไล่ซื้อหุ้นทั้งหมดได้สำเร็จในปี 1980
ส่งผลให้บริษัท Aramco ตกเป็นของซาอุฯ และทำให้มีอำนาจในการปรับเพิ่ม หรือลดกำลังการผลิต เพื่อให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ตัวเองและประเทศสมาชิก OPEC พอใจได้
ซึ่งจะเห็นได้จาก ราคาน้ำมัน (หลังปรับอัตราเงินเฟ้อ) ในช่วงนั้น ที่ปรับขึ้นไปถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือพูดง่าย ๆ ว่า น้ำมัน 1 ลิตร มีราคาประมาณ 33 บาท สูงขึ้นเกือบถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
ในปัจจุบัน Saudi Aramco มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก
และทำธุรกิจด้านปิโตรเลียมครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำอย่างการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบ โรงกลั่นน้ำมัน ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำอย่างปิโตรเคมี
โดยหากเราไปดูผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
- ปี 2021
รายได้ 14,341,042 ล้านบาท
กำไร 3,773,992 ล้านบาท
- ปี 2022
รายได้ 21,642,735 ล้านบาท
กำไร 5,703,106 ล้านบาท
- 9 เดือนแรกของปี 2023
รายได้ 13,341,476 ล้านบาท
กำไร 3,341,237 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า Saudi Aramco สามารถทำกำไรสุทธิได้มากถึง 25% หรือมากกว่า ปตท. ที่มีอัตรากำไรเพียง 4%
เพราะ Saudi Aramco มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำสุดในโลก จากความได้เปรียบเรื่อง Economies of Scale และการที่บริษัทมีปริมาณน้ำมันดิบสำรอง กว่า 260,000 ล้านบาร์เรล หรือ 22% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั้งโลก
รวมถึงมีเทคโนโลยีการขุดเจาะและผลิตที่ล้ำสมัย ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งด้วยรายได้และกำไรมหาศาลขนาดนี้ ทำให้ในปี 2023 รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 90.2% ของบริษัท ได้รับเงินปันผลมากถึง 3,221,000 ล้านบาท
ส่วน Public Investment Fund หรือกองทุนความมั่งคั่งของประเทศซาอุฯ ที่ถือหุ้นใน Saudi Aramco อยู่ 8% ก็ได้รับเงินปันผลด้วยกว่า 285,700 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ ทุกคนก็คงจะเห็นแล้วว่า Saudi Aramco ที่ก่อตั้งโดยบริษัทอเมริกัน ตกเป็นของรัฐบาลซาอุฯ ได้อย่างไร
และนี่คือเรื่องราวของ Saudi Aramco เครื่องจักร ผลิตเงินสดหลักล้านล้านบาท ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ
ซึ่งก็คล้ายกับประเทศไทย ที่มีบริษัทพลังงานอย่าง ปตท. คอยผลิตเงินสดให้กระทรวงการคลัง ปีละหลักหมื่นล้านบาท เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-How Aramco Became the Biggest Company in the World video by WSJ
-https://www.pif.gov.sa/en/Pages/About-AnnualReport.aspx
-https://www.macrotrends.net/1369/crude-oil-price-history-chart
-https://en.wikipedia.org/wiki/Saudi_Aramco
-https://www.visualcapitalist.com/chart-evolution-standard-oil/
-https://en.wikipedia.org/wiki/OPEC
-https://www.marketscreener.com/quote/stock/SAUDI-ARABIAN-OIL-COMPANY-103505448/company/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.