65 ปี การบินไทย ยกระดับบริการไทย สู่มาตรฐานการบินระดับโลก

65 ปี การบินไทย ยกระดับบริการไทย สู่มาตรฐานการบินระดับโลก

การบินไทย x ลงทุนแมน
ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นในอุตสาหกรรมการบิน การบินไทยยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของคนไทยเสมอ
การบินไทย ในฐานะสายการบินสัญชาติไทยที่บุกเบิกเส้นทางสู่ตลาดโลก ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ แต่ยังโดดเด่นด้วยบริการแบบ Full Service ที่ผสานเสน่ห์ความเป็นไทยเข้ากับมาตรฐานระดับโลก พร้อมใส่ใจในทุกรายละเอียดของการเดินทาง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงจุดหมายปลายทาง
รู้หรือไม่ว่า การบินไทยถือกำเนิดขึ้นในปี 1960 หรือเกือบ 65 ปีมาแล้ว
จากการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลไทย ผ่านบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 70% และสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ที่ถือหุ้น 30% ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาถือหุ้นทั้งหมดในเวลาต่อมา
เส้นทางตลอด 65 ปีของการบินไทย น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การเดินทางของการบินไทยเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1960 ด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากกรุงเทพฯ สู่ฮ่องกง ไทเป และโตเกียว ก่อนจะขยายเส้นทางอย่างรวดเร็วไปยังเมืองสำคัญทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นย่างกุ้ง กัลกัตตา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ไซ่ง่อน และพนมเปญ
ปี 1966 นับเป็นก้าวสำคัญของสายการบิน เมื่อการบินไทยนำเครื่องบินเจ็ตรุ่น Caravelle SE-210 เข้าประจำการ กลายเป็นสายการบินแรกในเอเชียที่ให้บริการด้วยฝูงบินเจ็ตทั้งหมด วางรากฐานสู่การเติบโตที่มั่นคงในภูมิภาค
พอเข้าสู่ทศวรรษ 1970 การบินไทยเริ่มขยับขยายสู่เส้นทางข้ามทวีป เปิดเที่ยวบินสู่ซิดนีย์และแฟรงก์เฟิร์ต พร้อมเปิดตัวสโลแกน “Smooth as Silk” และสัญลักษณ์ดอกกล้วยไม้ ที่สะท้อนเสน่ห์แบบไทยสู่สายตาชาวโลก
ในยุค 1980 สายการบินยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสู่ซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเครื่องบิน Boeing 747-200 ขนาดใหญ่ การขยายตัวครั้งนี้ ไม่เพียงเพิ่มขีดความสามารถด้านระยะทาง แต่ยังตอกย้ำสถานะการบินไทยในฐานะสายการบินระดับนานาชาติ
เข้าสู่ทศวรรษ 1990 การบินไทยเริ่มยกระดับทั้งด้านฝูงบินและการบริหารองค์กร นำเครื่องบินรุ่น Boeing 747-400 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้นเข้าประจำการ และเดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ยุโรปอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1991 การบินไทยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลายเป็นบริษัทมหาชนอย่างเต็มตัว ก่อนจะเปิดตัวโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus ในปี 1993
ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สร้างความผูกพันกับลูกค้า ทั้งในแง่ของแรงจูงใจให้เดินทางซ้ำ และการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น บัตรเครดิต โรงแรม และสายการบินร่วม
ในปี 1997 การบินไทยได้ก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง ด้วยการเป็น 1 ใน 5 สมาชิกผู้ก่อตั้ง Star Alliance เครือข่ายพันธมิตรสายการบินระดับโลก ร่วมกับ United Airlines, Air Canada, Lufthansa และ SAS
การเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งครั้งนี้ ไม่เพียงขยายโอกาสในการเชื่อมต่อเส้นทางบินไปยังจุดหมายทั่วโลก หากยังตอกย้ำสถานะของการบินไทยในฐานะผู้นำด้านมาตรฐานการให้บริการระดับสากลอย่างเต็มภาคภูมิ
อย่างไรก็ดี เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน
ปี 2006 การบินไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ ด้วยการย้ายฐานปฏิบัติการหลักจากสนามบินดอนเมืองมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการขยายตัวในระยะยาว และตอกย้ำบทบาทของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค
ต่อมาในปี 2012 สายการบินได้ยกระดับฝูงบินด้วยการรับมอบ Airbus A380-800 ลำแรก ซึ่งถือเป็นเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น
โดยนำมาให้บริการในเส้นทางระยะไกล เช่น กรุงเทพฯ-ฮ่องกง และกรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต เพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้โดยสาร และสะท้อนภาพลักษณ์ของสายการบินระดับพรีเมียมบนเวทีโลก
ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งในปี 2020 โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
“วิกฤติโรคระบาด” เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชั่วข้ามคืน ภาคการท่องเที่ยวหยุดนิ่งอย่างสิ้นเชิง และอุตสาหกรรมการบินกลายเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
การบินไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงแรงสั่นสะเทือนจากวิกฤติครั้งนี้ได้ ทำให้ในปีเดียวกัน ศาลล้มละลายกลางมีมติอนุมัติให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การดูแลของศาล
ในช่วงเวลาที่หลายบริษัทเลือกที่จะลดขนาดหรือล่าถอย การบินไทยกลับเลือกที่จะ “ลุกขึ้นสู้”
ด้วยการวางแผนฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ไปจนถึงการทบทวนกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
และฟ้าหลังฝนก็เริ่มสดใสขึ้นอีกครั้ง
ในปี 2024 การบินไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ด้วยการรวมกิจการกับ Thai Smile Airways ภายใต้แนวคิด “One THAI, One Fly” เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารฝูงบิน และมอบประสบการณ์การเดินทางที่ไร้รอยต่อยิ่งขึ้นให้กับผู้โดยสาร
ขณะเดียวกัน บนเวทีนานาชาติ การบินไทยก็เริ่มกลับมาฉายแสงอีกครั้ง โดยติดอันดับ 1 ใน 10 สายการบินนานาชาติยอดเยี่ยมจากรางวัล World’s Best Awards ของนิตยสาร Travel + Leisure
พร้อมคว้ารางวัล “Guest Experience of the Year” จากงาน Travel Daily Media Travel Trade Excellence Awards จากนวัตกรรมเมนูอาหารบนเครื่องบิน “Taste of Thai Tales” ที่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยผ่านรสชาติอาหารได้อย่างน่าประทับใจ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มมองเห็นภาพเส้นทางกว่า 65 ปีของการบินไทย ที่เต็มไปด้วยทั้งความสำเร็จ ความท้าทาย และการลุกขึ้นสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า
และในปี 2025 นี้ การบินไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ด้วยการเตรียมตัวกลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการมาเป็นเวลากว่า 4 ปี
คำถามสำคัญคือ แผนในอนาคตของการบินไทยจะน่าสนใจอย่างไร ?
ในปี 2025 การบินไทยเดินหน้าปรับโฉมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในเดือนมิถุนายน 2025 และกลับมาเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
หนึ่งในกลยุทธ์หลักคือ การยกระดับประสบการณ์การเดินทางในเส้นทางภูมิภาค ผ่านการลงทุนในฝูงบินลำตัวแคบ โดยเน้นทั้งการอัปเกรดเครื่องบิน Airbus A320 และการรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321neo ซึ่งจะเข้าประจำการภายในสิ้นปีนี้
Airbus A321neo รุ่นใหม่ ถูกวางให้เป็นหัวใจสำคัญของแผนยกระดับฝูงบิน ด้วยความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย และการออกแบบห้องโดยสารที่ตอบโจทย์ผู้โดยสารพรีเมียมได้อย่างลงตัว
ที่สำคัญ การบินไทยไม่ได้ยกระดับแค่เพียงตัวเครื่องบิน แต่ยังเดินหน้ายกระดับ “ทุกมิติ” ของประสบการณ์ในการเดินทาง เพื่อวางมาตรฐานใหม่ที่สายการบินในภูมิภาคต้องจับตามอง
ภายใต้แนวคิดหลัก “การเดินทางที่ดี ไม่ได้เริ่มต้นจากที่นั่ง แต่เริ่มต้นจากประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ” ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านการออกแบบและพัฒนาใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
- เตียงนอนราบเต็มตัว
ที่นั่งชั้นธุรกิจรุ่น Thompson Vantage สามารถปรับเอนได้ราบเต็มที่ ให้ความสบายเทียบเท่าเที่ยวบินระยะไกล แม้จะเป็นเส้นทางเพียงไม่กี่ชั่วโมง
- ผังที่นั่งสลับ 2-2 / 1-1
ออกแบบเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว และความสะดวกในการเข้าถึงทางเดิน โดยเฉพาะ “ที่นั่งบัลลังก์” ที่เปรียบได้กับห้องสวีตขนาดย่อม เหมาะทั้งสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการสมาธิ และผู้โดยสารที่เดินทางคนเดียว
- พื้นที่ทำงานครบครัน
ทุกที่นั่งมาพร้อมโต๊ะถาดขนาดใหญ่ ช่องเก็บของส่วนตัว และพื้นที่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รองรับไลฟ์สไตล์การทำงานบนเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ดิไซน์สะท้อนกลิ่นอายความเป็นไทย
ห้องโดยสารถูกออกแบบด้วยวัสดุระดับพรีเมียม โทนสีอบอุ่น และลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมไทย ผสานกับดิไซน์ร่วมสมัย สร้างประสบการณ์ที่หรูหราและอบอุ่นในเวลาเดียวกัน
เรียกได้ว่า การมาของ Airbus A321neo พร้อมที่นั่ง Business Class โฉมใหม่ ไม่ใช่แค่การเสริมศักยภาพฝูงบินเท่านั้น แต่ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการรีแบรนด์ “การบินไทย” เพื่อช่วงชิงตลาดเส้นทางภูมิภาคที่กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ความต้องการเดินทางแบบพรีเมียมในเส้นทางหลัก เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเวียดนาม กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
หากการบินไทยสามารถส่งมอบประสบการณ์ระดับพรีเมียมได้สำเร็จ ก็จะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขัน ขยายส่วนแบ่งตลาด และผลักดันรายได้ต่อที่นั่ง (RASK) ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
อีกหนึ่งข้อได้เปรียบสำคัญของการบินไทย คือเครือข่ายเส้นทางบินที่เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ ความถี่ของเที่ยวบิน และมาตรฐานการบริการระดับโลก การบินไทยจึงสามารถมอบการเดินทางที่ราบรื่น พร้อมเชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับจุดหมายปลายทางทั่วโลกได้อย่างคล่องตัว
แม้ทั้งหมดนี้จะดูเหมือนเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต แต่อันที่จริง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
เพราะถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ “การบินไทย” แตกต่างจากสายการบินอื่น ไม่ได้มีเพียงเรื่องของเส้นทาง หรือจำนวนเที่ยวบิน
แต่คือ “หัวใจของการบริการ” ที่สอดแทรกอยู่ในทุกช่วงเวลาของการเดินทาง
หัวใจนั้นเองที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่าน “Royal Orchid Service” จิตวิญญาณแห่งการดูแลผู้โดยสารด้วยความอ่อนโยน ความใส่ใจ และเสน่ห์แบบไทยแท้ ที่ยากจะหาใครเทียบได้
ทีนี้เราลองมาดูกันว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ “บริการ” ของการบินไทย แตกต่างอย่างแท้จริง ?
- ศิลปะแห่งการต้อนรับที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
หัวใจของการบริการการบินไทยอยู่ที่วัฒนธรรมไทยอันงดงาม ทุกอิริยาบถ รอยยิ้ม และความใส่ใจในรายละเอียด ล้วนถูกถ่ายทอดผ่านการฝึกฝนและสืบต่อกันมา เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นตั้งแต่ก้าวแรกที่ขึ้นเครื่อง
- ลูกเรือในฐานะทูตวัฒนธรรม
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของการบินไทยไม่เพียงเป็นมืออาชีพด้านการบริการ หากแต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งต่อเสน่ห์แบบไทย ผ่านการไหว้ ทักทาย และการดูแลด้วยความนอบน้อมในทุกช่วงของการเดินทาง
- มื้ออาหารที่บอกเล่าเรื่องราวของไทย
อาหารที่เสิร์ฟบนเที่ยวบินถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ รสชาติ และการจัดวาง เพื่อถ่ายทอดศิลปะของอาหารไทยในรูปแบบที่ทั้งละเมียดละไมและน่าประทับใจ
- สุนทรียภาพแห่งความสงบกลางการเดินทาง
ตั้งแต่โทนสีของห้องโดยสารที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไทย กลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย ไปจนถึงเสียงดนตรีที่กล่อมเบา ทุกองค์ประกอบถูกออกแบบมาเพื่อสร้างบรรยากาศที่เงียบสงบและรื่นรมย์อย่างแท้จริง
- ความเป็นไทยที่สัมผัสได้และน่าจดจำ
บริการของการบินไทยคือการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความสุภาพอ่อนโยนแบบไทย ความจริงใจในการดูแล และความหรูหราในทุกสัมผัส จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ทั้งน่าประทับใจและยากจะลืม
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า แม้ธุรกิจการบินในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด โดยมี “ราคา” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้โดยสารใช้ในการตัดสินใจ
แต่การบินไทยได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ราคา หากคือ “คุณภาพการบริการ” ที่ยังคงเหนือกว่าคู่แข่งมาโดยตลอด
การกลับมาในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การฟื้นตัวจากวิกฤติที่ผ่านมา แต่คือการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า การบินไทยพร้อมก้าวสู่ยุคใหม่ ด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าเดิม และนิยามประสบการณ์การเดินทางให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือภาพสะท้อนของหัวใจที่ไม่เคยเปลี่ยนของการบินไทย ที่ยังคงยึดมั่นในคำว่า “รักคุณเท่าฟ้า” อย่างแท้จริง นั่นเอง..
References
- ข่าวประชาสัมพันธ์ การบินไทย ครบรอบ 65 ปี
- https://www.staralliance.com/en/members

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon