กรณีศึกษา Marvel Comics

กรณีศึกษา Marvel Comics

4 พ.ค. 2018
กรณีศึกษา Marvel Comics / โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า บริษัท Marvel
ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนมากมาย
เคยล้มละลายมาก่อน
แล้วบริษัทนี้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้อย่างไร
เรื่องนี้มีหลายอย่างให้เราได้เรียนรู้
Marvel Comics เป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1939 อายุเกือบ 80 ปี สร้างคาแรกเตอร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่โด่งดังมากมาย เช่น Captain America, Iron Man, Spider-Man, Thor, The Hulk เป็นต้น
ในยุคปี 80 - 90 เป็นช่วงที่วงการคอมมิกรุ่งเรืองอย่างมาก เกิดเป็นกระแสของการสะสม และการเก็งกำไร
ในปี 1989 Ron Perelman นักธุรกิจเจ้าของบริษัทเครื่องสำอาง Revlon ได้เล็งเห็นโอกาสทำเงิน จึงเสนอซื้อ Marvel ไปด้วยราคา 2,700 ล้านบาท และนำเข้าตลาดหุ้น พร้อมลุยซื้อกิจการบริษัทผลิตการ์ดและของเล่น อย่าง Toybiz, Panini และ Heroes World เพื่อต่อยอดผลิตสินค้าจากฮีโร่ Marvel
บริษัทใช้กลยุทธ์การตลาดหลายๆ อย่าง เช่น แถมการ์ดในหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน ทำตอนพิเศษที่ฮีโร่รวมตัวกัน เกิดตัวละครใหม่ๆ ปรากฎว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนมีการสั่งผลิตหนังสือและของสะสมจำนวนมาก
แต่แล้ว ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา กำลังซื้อหายไป ยอดขายตกฮวบ 70%
สินค้าในสต๊อกที่เหลืออยู่กลายเป็นภาระของบริษัททันที
Marvel ขยายธุรกิจเร็วไป ทำให้ฐานะทางการเงินไม่ค่อยจะสู้ดี ราคาหุ้นร่วงจาก 35 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 2 ดอลลาร์สหรัฐ สุดท้ายต้องยื่นขอล้มละลายในปี 1996
ในช่วงการฟื้นฟู Marvel ได้ควบรวมกับ Toybiz และเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากการผลิต มาเป็นขายลิขสิทธิ์ให้สื่อและสินค้าต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการขยายแบรนด์ Marvel ไปในตัวด้วย
ต่อมา บริษัทพยายามหาตลาดใหม่ จึงตั้ง Marvel Studios เพื่อจัดทำบท หานักแสดงและผู้กำกับ รวมเป็น package เสนอขายให้บริษัทอื่นสร้างเป็นภาพยนตร์
เช่น X-Men, Fantastic Four ถูกขายให้ 20th Century Fox
และ Spider-Man ถูกขายให้ Sony
แม้วิธีการนี้ จะช่วยสร้างรายได้ โดยที่ต้นทุนต่ำ แต่ทว่าในขณะที่หนังเรื่อง Spider-Man และ Spider-Man 2 ทำเงินทั่วโลกไปได้กว่า 98,000 ล้านบาท Marvel กลับได้กำไรจากลิขสิทธิ์เพียงแค่ 2,000 ล้านบาท ทางบริษัทจึงเห็นว่า มันถึงเวลาแล้วที่สร้างหนังเสียเอง ดีกว่าเอาสิ่งที่ตัวเองคิด ไปให้คนอื่นทำกำไร
Marvel ลงมือเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการนำลิขสิทธิ์ Thor และ Captain America ไปค้ำประกันเงินกู้ 17,000 ล้านบาท กับ Merrill Lynch เพื่อให้ Marvel Studios นำมาสร้างภาพยนตร์จักรวาลมาร์เวล 10 เรื่อง ในเวลา 7 ปี
ปรากฏว่าการลงทุนประสบความสำเร็จ หนังเรื่องแรกที่ทำออกมาคือ Iron Man ทำเงินได้สูงกว่าเงินที่กู้มาด้วยซ้ำ..
หนังที่ Marvel Studios ผลิต มีรายได้เท่าไรบ้าง?
Iron Man (ฉายปี 2008) ต้นทุน 4,600 ล้านบาท รายได้ 19,000 ล้านบาท
Iron Man 2 (ฉายปี 2010) ต้นทุน 6,500 ล้านบาท รายได้ 20,500 ล้านบาท
Iron Man 3 (ฉายปี 2013) ต้นทุน 6,500 ล้านบาท รายได้ 39,500 ล้านบาท
The Incredible Hulk (ฉายปี 2008) ต้นทุน 4,900 ล้านบาท รายได้ 8,500 ล้านบาท
Thor (ฉายปี 2011) ต้นทุน 4,900 ล้านบาท รายได้ 14,500 ล้านบาท
Thor: The Dark World (ฉายปี 2013) ต้นทุน 5,500 ล้านบาท รายได้ 21,000 ล้านบาท
Thor: Ragnarok (ฉายปี 2017) ต้นทุน 5,900 ล้านบาท รายได้ 26,500 ล้านบาท
Captain America: The First Avenger (ฉายปี 2011) ต้นทุน 4,600 ล้านบาท รายได้ 12,000 ล้านบาท
Captain America: The Winter Soldier (ฉายปี 2014) ต้นทุน 5,500 ล้านบาท รายได้ 23,000 ล้านบาท
Captain America: Civil War (ฉายปี 2016) ต้นทุน 8,200 ล้านบาท รายได้ 37,500 ล้านบาท
Guardians of the Galaxy (ฉายปี 2014) ต้นทุน 5,500 ล้านบาท รายได้ 25,000 ล้านบาท
Guardians of the Galaxy Vol.2 (ฉายปี 2017) ต้นทุน 6,500 ล้านบาท รายได้ 28,000 ล้านบาท
Ant-Man (ฉายปี 2015) ต้นทุน 4,200 ล้านบาท รายได้ 17,000 ล้านบาท
Doctor Strange (ฉายปี 2016) ต้นทุน 5,400 ล้านบาท รายได้ 22,000 ล้านบาท
Spider-Man Homecoming (ฉายปี 2017) ต้นทุน 5,700 ล้านบาท รายได้ 28,500 ล้านบาท
The Avengers (ฉายปี 2012) ต้นทุน 7,200 ล้านบาท รายได้ 49,500 ล้านบาท
Avengers: Age of Ultron (ฉายปี 2015) ต้นทุน 8,200 ล้านบาท รายได้ 45,500 ล้านบาท
สรุปแล้วหนังทั้ง 17 เรื่อง ที่ Marvel Studios ผลิตมาจนถึงตอนนี้ มีต้นทุนรวมอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท รายได้รวมราว 437,500 ล้านบาท เป็นแฟรนไชส์หนังที่ทำเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์
และทุกเรื่องก็มีบทที่เกี่ยวโยง มาถึง Avengers ภาค 3 ถือได้ว่า Infinity War มีต้นทุนทางอ้อมถึงแสนล้านบาทเลยทีเดียว
กลยุทธ์ของ Marvel Studios คือการผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ให้มีความเชื่อมโยงกัน ผู้กำกับแต่ละเรื่องต้องหารือกันเพื่อวางแผนทิศทางตัวละคร นอกจากนี้ โทนหนัง ยังดูง่าย มีการยิงมุกตลกอยู่บ่อยครั้ง คนสามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงพลิกฟื้นขึ้นมา ราคาหุ้นพุ่งกลับไปเหนือ 50 ดอลลาร์สหรัฐ จนเมื่อปี 2009 บริษัท Disney ตัดสินใจซื้อกิจการ Marvel ไปด้วยเงินราว 140,000 ล้านบาท ซึ่งดูแล้วคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
และดีลล่าสุด Disney น่าจะควบรวมกับบริษัท 21st Century Fox ที่ถือลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนใน X-MEN ถ้านำตัวการ์ตูนทั้งหมดมารวมกัน น่าจะทำให้โลกของ Marvel ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกมาก
เรื่องนี้ให้บทเรียนว่า แม้สินค้าที่เรามีจะดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะดีขึ้นไม่ได้อีก การผูกสินค้าให้ มีความเชื่อมโยงกัน พึ่งพาอาศัยกัน จะยิ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวสินค้า เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าชนิดหนึ่ง ก็มีแนวโน้มที่จะซื้ออีกชนิดหนึ่งด้วย เกิดเป็น Brand Loyalty ขึ้นมา นับเป็น Synergy ทางธุรกิจอย่างแท้จริง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ตัวการ์ตูนใน Marvel พวกเขาเป็นมากกว่าฮีโร่
ฮีโร่ตัวคนเดียวก็คงไม่มีพลังอะไรเท่าไร
แต่เมื่อฮีโร่ทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน มันทำให้มีพลังพิเศษขึ้นอีกหลายเท่า
และในอนาคตฮีโร่เหล่านี้น่าจะยังโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์ของโลกนี้ได้อีกนานหลายสิบปี
จากข้อมูลที่เล่ามา ภาพยนตร์ที่ Marvel ทำมา 17 เรื่อง มีรายได้รวมราว 437,500 ล้านบาท
จากบริษัทที่เคยล้มละลาย..
ลงทุนแมนขอทำนายด้วยความเชื่อมั่นว่า Marvel น่าจะทำภาพยนตร์แนวนี้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง และน่าจะมีรายได้เข้ามาอีกหลัก ล้านล้านบาท..
----------------------
อ่านกรณีศึกษาอีกหลายเรื่องได้ที่ APP blockdit โหลดฟรี https://www.longtunman.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.