กรณีศึกษา ธุรกิจกล้อง GoPro

กรณีศึกษา ธุรกิจกล้อง GoPro

7 มิ.ย. 2018
กรณีศึกษา ธุรกิจกล้อง GoPro / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึง นวัตกรรมที่เป็นมิติใหม่ของการบันทึกภาพ
หนึ่งในนั้นคือ Action Camera
และแบรนด์ชื่อดังที่เป็นผู้ริเริ่มเทรนด์นี้ คือกล้อง GoPro
GoPro ถูกคิดค้นโดยชายที่ชื่อว่า Nick Woodman
หลังจากเรียนจบ Woodman อยากที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเอง
เขาเคยลองทำเว็บไซต์ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบราคาถูก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ต่อมาในปี 2002 ระหว่างที่เขาเที่ยวที่ออสเตรเลีย ก็มีความคิดที่อยากจะบันทึกภาพตอนกำลังโต้คลื่น จึงได้ไปซื้อกล้องแบบใช้แล้วทิ้ง มาติดข้อมือ
จนเกิดเป็นไอเดียว่า ถ้าทำกล้องแบบนี้ขาย ก็น่าจะมีคนต้องการอยู่พอสมควร
เขาจึงได้กลับมาเปิดบริษัท GoPro โดยใช้เวลาออกแบบอยู่สองปี
จนในปี 2005 ได้ออกขายกล้องรุ่นแรก ในชื่อ GoPro Hero ซึ่งต่อมาได้การพัฒนาเรื่องคุณภาพ และฟังก์ชันการถ่ายวิดีโอ จนปัจจุบันออกมาถึงรุ่น Hero 6 แล้ว
บริษัทวางกลยุทธ์ว่า คงไม่สามารถไปสู้กับสมาร์ทโฟนที่คนอยากจะหยิบมาใช้ถ่ายรูปเมื่อไรก็ได้
แต่จะขายสิ่งที่แตกต่าง คือ การถ่ายเหตุการณ์จังหวะสำคัญๆ ในมุมมองที่สมาร์ทโฟนทำไม่ได้ ประกอบกับแนวโน้มของสื่อออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้น ในการใช้ GoPro บันทึกภาพในกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองเพื่อโพสต์ลงในสื่อออนไลน์ ทำให้ GoPro เริ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ปี 2005 มียอดขาย 5 ล้านบาท
ปี 2006 มียอดขาย 26 ล้านบาท
ปี 2007 มียอดขาย 109 ล้านบาท
และเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2015 ทำยอดขายสูงสุดที่ 52,000 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทได้เห็นโอกาสในตลาด Drone ที่คนมักจะเอากล้องไปติดเพื่อถ่ายรูปในมุมสูง จึงได้ลงทุนผลิต Drone สำหรับกล้อง GoPro โดยเฉพาะ ในชื่อว่า GoPro Karma
อ่านมาถึงตรงนี้ทุกอย่างของ GoPro เหมือนจะดูดี
แต่เรื่องนี้พลิก..
เพราะตอนนี้ธุรกิจ GoPro กลับกำลังเจอกับปัญหาอย่างหนัก
เรามาดูผลประกอบการของบริษัทว่าเป็นอย่างไร?
ปี 2015 รายได้ 52,000 ล้านบาท กำไร 1,150 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 38,000 ล้านบาท ขาดทุน 13,400 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 37,900 ล้านบาท ขาดทุน 5,900 ล้านบาท
ยอดขายของบริษัทลดลงอย่างมีนัยยะ ส่วนเหตุผลที่สำคัญก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพราะสมาร์ทโฟนนั่นเอง
ซึ่งนาย Woodman ออกมายอมรับเองว่า สมาร์ทโฟนนั้นพัฒนาไปเร็วกว่า GoPro มาก มีแอป และลูกเล่นมากมาย จนคนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องก็ได้
และในตลาด Action Camera เอง ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์จากจีนที่สเปกการใช้งานไม่ต่างกันเท่าไร แต่ขายในราคาที่ถูกกว่ามาก เช่น GoPro Hero6 ราคา 18,500 บาท แต่คู่แข่งอย่าง กล้อง Xiaomi Yi 4K ราคาประมาณ 8,000 บาท ถูกมากกว่ากันครึ่งหนึ่ง
ส่วน GoPro Karma นั้น ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของแบตเตอรี่ จึงมีการรับคืนสินค้า และคืนเงินให้กับลูกค้า รวมทั้งไม่สามารถสู้กับเจ้าตลาดเดิมอย่าง DJI บริษัทผู้ผลิต Drone จากประเทศจีน ที่มีสเปกการใช้งานที่ดีกว่า แถมราคาไม่แพงมาก จนสุดท้าย GoPro จึงตัดสินใจยุบแผนก Drone ไป
ด้วยสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้บริษัทต้องลดค่าใช้จ่าย โดย GoPro ในปี 2016 ปลดพนักงาน 300 คน ปี 2017 ปลดเพิ่ม 270 คน และต้นปี 2018 ปลดอีก 250 คน ทำให้ตอนนี้บริษัทมีพนักงานเหลือไม่ถึง 1,000 คน
GoPro ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ มิถุนายน ปี 2014 ด้วยราคา IPO 24 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งราคาเคยขึ้นไปสูงสุด 96 ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท
แต่ด้วยผลการดำเนินงานที่น่าผิดหวัง ทำให้ราคาปัจจุบันดิ่งลงเหลือ 6 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหุ้น มูลค่าบริษัทเหลือเพียง 25,000 ล้านบาทเท่านั้น
ที่สำคัญ ณ สิ้นปี 2017 บริษัท GoPro มีมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่ 9,600 ล้านบาท หากยังขาดทุนมหาศาลอย่างที่ผ่านมา ธุรกิจอาจจะถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งอาจจะต้องมีการเพิ่มทุน หรือ หาคนมาซื้อกิจการ
โดยตอนนี้ Woodman ก็บอกว่าเค้าพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอดีๆ ที่เข้ามาเหมือนกัน
ซึ่งมีรายงานว่า Xiaomi บริษัทจีน ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กำลังสนใจที่จะเข้าซื้อ GoPro มาไว้ในครอบครองในราคาราว 1 หมื่นล้านบาท
เรื่องราวของ GoPro ให้ข้อคิดเราว่า
การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้เราเป็นผู้นำตลาดได้ก็จริง
แต่ในระยะยาว หากเราอยู่เฉยๆ ไม่พัฒนาสินค้า
มันก็อาจทำให้บริษัทไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
เพราะเมื่อมีการแข่งขันทางด้านราคา
สุดท้ายเราอาจเป็นคนที่เสียเปรียบด้านเงินทุน ประสบปัญหาและล้มลงไปในที่สุด..
----------------------
GoPro ไม่มีโดรน แล้ว แต่ลงทุนแมนยังมีบทความโดนๆ อยู่ ติดตามได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน 3.0 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.