กรณีศึกษา MUJI เติบโตจาก ความว่างเปล่า

กรณีศึกษา MUJI เติบโตจาก ความว่างเปล่า

4 พ.ย. 2018
กรณีศึกษา MUJI เติบโตจาก ความว่างเปล่า / โดยลงทุนแมน
“อะไรทำให้คนเรามักต้องตั้งคำถามว่า ถูกและดี มีอยู่จริงไหม?”
คำตอบคือ ความไม่เชื่อใจในสินค้า และความคิดที่ว่า คุณภาพยิ่งสูง ราคายิ่งต้องแพงตาม
แต่ MUJI ร้านขายของที่ไม่มีแม้กระทั่งโลโก้บนสินค้าตัวเอง
เขาทำอย่างไรกับคำถามนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
MUJI ถูกก่อตั้งขึ้นโดยคุณเซจิ ซึซูมิ (Seiji Tsutsumi) ประธานห้างสรรพสินค้า เซยู (Seiyu) ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1980
ยุคนั้นเป็นช่วงรุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันระหว่างแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยมากมาย จนเกิดเป็นสงครามราคาเพื่อแย่งลูกค้า
แต่ประธานเซจิ เชื่อว่า การตัดราคาและลดคุณภาพสินค้าตามคู่แข่งนั้น ไม่ใช่แผนธุรกิจที่ยั่งยืน
เขาจึงได้ตัดสินใจผลิตสินค้า 40 ชนิด แบ่งเป็น หมวดอาหาร 31 อย่าง และหมวดอุปกรณ์ใช้สอยภายในบ้าน 9 อย่าง ที่เน้นความเรียบง่าย แต่คุณภาพดี มาให้ชาวญี่ปุ่นใช้ ในราคาที่ย่อมเยา
จนเกิดเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ MUJI ย่อมาจาก Mujirushi Ryōhin แปลว่า สินค้าคุณภาพดีที่ไม่มียี่ห้อ
ซึ่งเป็นความคิดที่สวนกระแสวัตถุนิยมของสังคมญี่ปุ่นในสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง
และคุณเซจิเอง ก็คงไม่คิดว่า การตัดสินใจในครั้งนี้ จะเปลี่ยนทัศนคติต่อการบริโภคของคนทั้งโลกไปตลอดกาล
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?
ในปี 1983 MUJI เปิดร้านสาขาแรก ที่เมืองโตเกียว และเพิ่มสินค้าเป็น 720 ชนิด ได้กำไร 34 ล้านบาทในปีแรก
หลังจากนั้นจึงได้ทดลองเปิดโรงงานในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ในการผลิตสินค้าและควบคุมคุณภาพ เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาสู่การเป็นบริษัทระดับโลก
ในปี 1989 MUJI ได้แยกตัวออกมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตเซยู และก่อตั้งบริษัทของตัวเองในชื่อ บริษัท เรียวฮิน เคอิคาขุ จำกัด (Ryohin Keikaku Co., Ltd.)
ต่อมา จึงเปิดสาขาในต่างแดนครั้งแรกที่ เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1991
ในปี 1998 บริษัทได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ก่อนจะดำเนินการพัฒนาขยายธุรกิจทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง
สิ่งนี้ถูกสะท้อนให้เห็นในผลประกอบการของบริษัท เรียวฮิน เคอิคาขุ
ปี 2013 รายได้ 64,727 ล้านบาท กำไร 5,016 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 90,226 ล้านบาท กำไร 6,372 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 111,356 ล้านบาท กำไร 8,858 ล้านบาท
และตอนนี้ บริษัทมีมูลค่าตลาดถึง 236,176 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทมีร้านรวม 928 สาขา ใน 28 ประเทศ แบ่งเป็น
ร้าน MUJI ในญี่ปุ่น 419 สาขา นอกประเทศ 457 สาขา
คาเฟ่และร้านอาหาร 43 สาขา
และ IDÉE ร้านขายของตกแต่งบ้าน 9 สาขา
และยังมีธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา
เช่น Co-working space ตกแต่งภายใน โรงแรม หมู่บ้าน แม้กระทั่งที่ตั้งแค้มป์บนภูเขา
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนสงสัยว่า
แล้วความเรียบง่ายเมื่อ 38 ปีก่อน ตอนนี้เป็นอย่างไร?
ถึงยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง แต่ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ผู้บริโภคและสังคมไม่เคยเปลี่ยนไป
แม้ปัจจุบัน ร้าน MUJI จะมีสินค้ากว่า 7,500 รายการ
แต่สินค้าทุกชิ้นยังคงอยู่ภายใต้ปรัชญาความว่างเปล่า (Emptiness) เพื่อให้คนมาเติมเต็ม
โดยเน้นความเรียบง่าย ไม่มีโลโก้ ไร้สีสัน และตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน
ที่สำคัญคือ ต้องมีคุณภาพ..
กว่าจะออกมาเป็นสินค้าแต่ละชิ้น นักออกแบบประจำ MUJI จะถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพดีและเหมาะสมที่สุด
ถึง MUJI จะดังแค่ไหน แต่บริษัทก็ไม่เคยเปิดเผยชื่อนักออกแบบ ตามปรัชญาที่ต้องการให้คนสนใจที่คุณภาพของสินค้า เพื่อให้สินค้าทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่
และไม่ลืมที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม
MUJI จึงมักจะผลิตสินค้าแบบถุงเติม (refill) ออกมาคู่กัน
และนำวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตสินค้า มาผลิตสินค้าอื่นที่ใช้วัตถุดิบทดแทนกันได้ เพื่อลดขยะ
บริษัทยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น
Renovate บ้านและโรงเรียน
Recycle สินค้า
และให้เช่าเปลเด็ก
สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้ผู้คนจงรักภักดีกับแบรนด์นี้มาตลอด 38 ปี ทั้งที่บริษัทแทบไม่เคยลงทุนกับการโฆษณา
เรื่องนี้ให้ข้อคิดเราได้หลายเรื่อง
ธุรกิจมากมายต่างต้องดิ้นรนและปรับตัวตามกระแสใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด
ต่างกับ MUJI ที่เริ่มต้นและยังคงเติบโตบนความว่างเปล่า ทำให้กลมกลืนกับทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่
ในช่วงชีวิตคนเรา มีกระแสมากมายที่เกิดขึ้นและดับไป
มนุษย์ สร้างสรรค์ผลงานโดยเริ่มจากความว่างเปล่า จนเกิดเป็นกระแส
และเป็นผู้ดับมันลง ในวันที่มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ กลายเป็นวงจร ที่ทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นใหม่ บนความว่างเปล่า
แปลว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นนิรันดร์อย่างแท้จริง อาจเป็นความว่างเปล่า
เหมือนกับ ความจริงใจที่สัมผัสได้ ผ่านแนวคิดอันเรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย ของคุณเซจิ แห่ง MUJI ผู้ที่เปลี่ยนความธรรมดาไม่ให้ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา
หากเปรียบเป็นสินค้า
MUJI อาจไม่ใช่แก้วน้ำที่ดีที่สุด
แต่ MUJI ต้องการเป็นแก้วที่พอดีที่สุด ให้เราใช้รินน้ำเปล่าในทุกเช้าวันธรรมดาหลังตื่นนอน แต่ก็ใช้รินไวน์ราคาแพงในวันพิเศษได้เหมือนกัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
กาแฟดอยตุง คือ กาแฟที่ MUJI เลือกใช้ในคาเฟ่ของตน เนื่องจากคุณภาพดี และต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังได้รับรู้เจตนารมณ์ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9..
----------------------
ข้อคิดดีๆ และบทความอีกมากมายรอคุณอยู่ ที่แอป blockdit โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://ryohin-keikaku.jp/eng/ir/ir_archive/annual_report/
-http://www.daevasdesign.com/muji-deliberate-pursuit-pure-ordinary/
-https://www.fastcompany.com/90152917/how-muji-japans-most-famous-anti-brand-plans-to-win-america
-https://qz.com/quartzy/1140182/mujis-design-philosophy-is-emptiness-not-minimalism-says-kenya-hara/
-https://dsignsomething.com/2017/09/22/muji-แก่นแท้งานดีไซน์-สไตล/
-https://www.marketingoops.com/news/brand-marketing/muji-brand-no-brand/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.