กรณีศึกษา วงจรชีวิตธุรกิจ SHARP

กรณีศึกษา วงจรชีวิตธุรกิจ SHARP

9 ก.พ. 2019
กรณีศึกษา วงจรชีวิตธุรกิจ SHARP / โดย ลงทุนแมน
“เราควรสร้างสินค้า ที่คนอื่นอยากเลียนแบบ”
ประโยคนี้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของคุณโทคุจิ ฮายาคาวา
คุณฮายาคาวาเป็นผู้ก่อตั้ง SHARP บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากญี่ปุ่น
ใครจะคิดว่าสินค้าที่สร้างชื่อให้กับคุณฮายาคาวากลับไม่ใช่วิทยุหรือโทรทัศน์ แต่เป็น “ดินสอกด”
จากธุรกิจดินสอกดค่อยๆ ขยายและเติบโตเป็นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามเรื่องของ SHARP กลับไม่ได้มีแต่ความสำเร็จ
ปัจจุบันราคาหุ้นของ SHARP ลดลงมามากกว่า 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ SHARP เกิดขึ้นในปี 1912
ในขณะนั้น SHARP เป็นเพียงร้านขายอุปกรณ์จากโลหะเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดยคุณโทคุจิ ฮายาคาวา
ครอบครัวของคุณฮายาคาวาค่อนข้างยากจน
เขาจึงต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และรับจ้างเป็นผู้ช่วยช่างโลหะ
ระหว่างการทำงานคุณฮายาคาวาได้ฝึกฝนทั้งด้านงานฝีมือและการค้าขาย
จนเขาสามารถเปิดร้านขายอุปกรณ์จากโลหะเป็นของตัวเองได้ในที่สุด
ตั้งแต่เด็กคุณฮายาคาวามีนิสัยชอบประดิษฐ์
โดยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขาก็คือ หัวเข็มขัดที่ไม่ต้องใช้เข็ม
ต่อมาในปี 1915 คุณฮายาคาวาได้คิดค้นดินสอกดขึ้นมา
เขาตั้งชื่อให้กับดินสอนี้ว่า “Ever-Sharp” แปลว่า ดินสอที่แหลมตลอดกาล
ซึ่งชื่อของดินสอกดนี้เองได้กลายมาเป็นที่มาของชื่อบริษัท SHARP ในเวลาต่อมา
ดินสอกด Ever-Sharp ถูกผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้ก็ต้องยุติลงเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1923
คุณฮายาคาวากลับมาเริ่มธุรกิจอีกครั้งภายใต้ชื่อ Hayakawa Metal Works ในปี 1924
สิ่งประดิษฐ์ของคุณฮายาคาวาเริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีทั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุรุ่นแรกที่ผลิตในญี่ปุ่น ไปจนถึงโทรทัศน์รุ่นแรกในญี่ปุ่น
เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตขึ้นคุณฮายาคาวาก็จดทะเบียนธุรกิจของเขาเป็นบริษัท
และในปี 1970 ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น SHARP อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน
SHARP ยังคงเป็นผู้นำในการคิดค้นและพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ
จนสามารถขยายฐานการผลิตและตลาดไปยังหลายๆ ประเทศ
นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว
SHARP ยังเป็นผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือด้วย
ในปี 2000 SHARP สามารถผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายรูปรุ่นแรกของโลก
นอกจากนั้นโทรศัพท์มือถือของ SHARP ยังครองสัดส่วนตลาดที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่นในช่วงปี 2005 - 2010
อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากญี่ปุ่นลดลง
ในปี 2012 ซึ่ง SHARP มีอายุครบ 100 ปีพอดี แต่เป็นปีที่สถานการณ์ทางการเงินของ SHARP เลวร้ายที่สุด
ราคาของหุ้น SHARP เคยขึ้นไปสูงสุดในปี 1999 ที่ 64.25 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ในปี 2012 ราคาหุ้นกลับตกมาอยู่ที่ 8.7 ดอลลาร์สหรัฐ
ราคาหุ้นของ SHARP ยังคงตกลงเรื่อยๆ หลังจากนั้น
จนกระทั่งปี 2016 บริษัท Foxconn ได้เข้ามาซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SHARP
Foxconn เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิต iPhone ให้กับ Apple
ภายใต้การบริหารของ Foxconn
SHARP ตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทิ้งจำนวนมาก และเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ตัวเองถนัดสุด
ผลการดำเนินงานของ SHARP จึงค่อยๆ ดีขึ้น
รายได้และกำไรของ SHARP
ปี 2016 รายได้ 713,518 ล้านบาท ขาดทุน 74,196 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 594,400 ล้านบาท ขาดทุน 7,210 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 703,570 ล้านบาท กำไร 20,355 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์ยอดขายของ Apple ตกลง จนมีคำสั่งลดกำลังการผลิตในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ทำให้ SHARP เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
โดย SHARP ได้ประกาศลดจำนวนพนักงานเกือบ 3,000 คน และส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก จนเหลือ 2.4 ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2018
เรื่องของ SHARP คงเหมาะกับคำพูดที่ว่า “ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง”
ตั้งแต่วันแรกที่ SHARP มาจากคำว่าดินสอกด จนมาถึงวันนี้
คุณฮายาคาวาสร้าง SHARP ขึ้นมาจากศูนย์ จนรุ่งเรือง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างมีขึ้นก็ต้องมีลง
ชีวิตเราก็เหมือนกัน.. เราทุกคนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นในวันแรกของเรา ก็คงไม่เหมือนวันสุดท้าย
สิ่งที่เราพอจะทำได้
ก็คือการทำตัวให้ “ชิน” กับการเปลี่ยนแปลง ก็เท่านั้นเอง..
----------------------
แล้วแบรนด์อื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? ติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5bbc411e107a626df19ffb49
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.