รู้จักบริษัท RICHEMONT เจ้าของแบรนด์ Cartier, IWC, Panerai

รู้จักบริษัท RICHEMONT เจ้าของแบรนด์ Cartier, IWC, Panerai

13 ก.พ. 2019
รู้จักบริษัท RICHEMONT เจ้าของแบรนด์ Cartier, IWC, Panerai / โดย ลงทุนแมน
นาฬิกาหรูที่ทุกคนใฝ่ฝัน
รู้ไหมว่าหลายแบรนด์มีเจ้าของเดียวกัน
และ IWC กับ Panerai ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ที่มีเจ้าของคือ บริษัท Richemont
บริษัทนี้ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ Cartier ที่เป็นผู้นำด้านจิวเวลรี่ของโลก
หากพูดถึงบริษัทใหญ่สุดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
3 อันดับแรกคงหนีไม่พ้น
Nestlé (ธุรกิจอุปโภคบริโภค) มีมูลค่าบริษัท 9.6 ล้านล้านบาท
Roche (ธุรกิจผลิตยา) มีมูลค่าบริษัท 7.9 ล้านล้านบาท
Novartis (ธุรกิจผลิตยา) มีมูลค่าบริษัท 7.8 ล้านล้านบาท
แต่ถ้าถามว่าบริษัทแบรนด์หรูสัญชาติสวิส บริษัทไหนใหญ่ที่สุด?
คำตอบคือ Richemont บริษัทนี้มีมูลค่าบริษัทประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท
เทียบเท่ากับ ปตท. บริษัทใหญ่สุดในประเทศไทย..
หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับบริษัทนี้
แล้ว Richemont เป็นเจ้าของแบรนด์อะไรบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณ Johann Rupert นักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้
ก่อตั้งบริษัท Richemont ขึ้นมาในปี 1988 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จริงๆ แล้ว Richemont ถูกแยกบริษัท (Spinoff) มาจากบริษัท Rembrandt Group
อดีตธุรกิจอุตสาหกรรมยาสูบ
เจ้าของ Rembrandt Group ก็คือธุรกิจในตระกูลของคุณ Rupert ซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
ปัจจุบัน Richemont เป็นเจ้าของแบรนด์นาฬิกาหรูมากมายไม่ว่าจะเป็น Baume & Mercier, IWC, Panerai, Piaget, Roger Dubuis และ Vacheron Constantin..
รวมไปถึงแบรนด์จิวเวลรี่ เช่น Cartier และ Van Cleef & Arpels
รายได้และกำไรของ บริษัท Richemont
ปี 2017 รายได้ 3.82 แสนล้านบาท กำไร 4.34 หมื่นล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 3.94 แสนล้านบาท กำไร 4.38 หมื่นล้านบาท
จากตัวเลขผลประกอบการแสดงให้เห็นว่า
รายได้ทุกๆ 100 บาทของ Richemont เป็นกำไรประมาณ 11 บาท..
แต่ที่น่าสนใจคือ..
รายได้ตามประเภทธุรกิจ
ธุรกิจจิวเวลรี่ 59%
ธุรกิจนาฬิกาหรู 25%
และธุรกิจอื่นๆ อีก 16%..
เราจะเห็นได้ว่า แม้ Richemont ครอบครองแบรนด์นาฬิกาหรูมากมาย แต่จริงๆ แล้วยอดขายหลักของบริษัทมาจากแบรนด์จิวเวลรี่อย่าง Cartier เกินกว่าครึ่ง
แล้วลูกค้าของ Richemont มาจากประเทศอะไร?
แม้ Richemont จะมีเจ้าของเป็นคนแอฟริกัน และก่อตั้งในสวิตเซอร์แลนด์
แต่ลูกค้าคนสำคัญกลับเป็นคนเอเชีย..
รายได้ตามภูมิภาค ปี 2018
แอฟริกา 0.3 แสนล้านบาท (8%)
อเมริกา 0.6 แสนล้านบาท (16%)
ยุโรป 1.1 แสนล้านบาท (27%)
เอเชีย 1.9 แสนล้านบาท(49%)
ในโซนเอเชียหลักๆ แล้วจะมาจาก..
ประเทศจีน 1.0 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 14.3% จากปีที่ผ่านมา
ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับบริษัทแบรนด์หรูเครืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น LVMH ที่มียอดขายในเอเชียสูงถึง 36% หรือแม้แต่ Kering ที่รายได้หลักๆ มาจากเอเชียเช่นกัน..
แล้ว LVMH, Kering และ Richemont ใครใหญ่ที่สุด?
อันดับที่ 1 LVMH มีมูลค่าบริษัท 5.1 ล้านล้านบาท
บริษัทนี้เป็นเจ้าของแบรนด์ Louis Vuitton, Loewe, Givenchy, Fendi, Hublot, Tag Heuer รวมถึงธุรกิจกลุ่ม Wines & Spirits เช่น Moët & Chandon และอื่นๆ อีกมากมาย
อันดับที่ 2 Kering มีมูลค่าบริษัท 1.9 ล้านล้านบาท
บริษัทนี้เป็นเจ้าของแบรนด์ Bottega Veneta, Balenciaga, Gucci, Alexander McQueen, Qeelin, Ulysse Nardin และอื่นๆ
Richemont ตามมาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่าบริษัท 1.3 ล้านล้านบาท
แม้ว่า Richemont จะดูเล็กสุดเมื่อเทียบกับอีกสองเครือ
แต่ก็ถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำที่ครอบครองแบรนด์นาฬิกาหรูมากกว่าสองบริษัทแรก
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คุณ Johann Rupert และครอบครัว มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 1.8 แสนล้านบาท ถือเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 5 ในทวีปแอฟริกา..
และนอกจากแบรนด์ Cartier, IWC และ Vacheron Constantin แล้ว
ล่าสุดมีข่าวว่า Patek Philippe ประกาศขายกิจการ
ก็น่าคิดไม่น้อยว่า ถ้าหาก Richemont ได้แบรนด์นี้ไป จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน..
ปัจจุบัน หลายธุรกิจกำลังวิ่งตามเทคโนโลยี ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต
แต่ในทางตรงกันข้าม
กลับมีบางบริษัทที่วิ่งตามหา แบรนด์ประวัติศาสตร์ในอดีต ซึ่งต่อให้มีเทคโนโลยีก้าวไกลแค่ไหน ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้..
----------------------
อ่านเรื่องของ Richemont แล้ว อ่านเรื่องของ Swatch ที่เป็นเจ้าของแบรนด์นาฬิกาถึง 18 แบรนด์ ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b30b139076e65512a686faf
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
----------------------
References
-Richemont Group Annual Report
-LVMH Group Annual Report
-Kering Group Annual Report
-Forbes Billionaires
-Market Capitalization อ้างอิงจาก Market Insider ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2019
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.