กรณีศึกษา AP บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ผ่านวิกฤติมาทุกครั้งได้อย่างไร?

กรณีศึกษา AP บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ผ่านวิกฤติมาทุกครั้งได้อย่างไร?

15 เม.ย. 2020
กรณีศึกษา AP บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ผ่านวิกฤติมาทุกครั้งได้อย่างไร?
“ความฝันของผมคือการสร้างบริษัทเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์”
เรื่องนี้เป็นความฝันของคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ที่กลายมาเป็น
การก่อตั้งบริษัท AP ที่ในที่สุดสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
AP ทำธุรกิจมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 28
ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผ่าน
วิกฤติเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน
ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติดอตคอม วิกฤติซับไพรม์ รวมถึงวิกฤติโรคระบาดปีนี้
แม้ว่าวิกฤติเหล่านี้จะสร้างผลกระทบชั่วคราวต่อบริษัท
แต่ในที่สุด AP ก็กลับเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์
ที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติ และเติบโตได้อย่างโดดเด่น
แล้ว AP มีกลยุทธ์การบริหารความแข็งแกร่ง
ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
บริษัท AP ก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2534 หรือ 28 ปีก่อน
มีจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
หลังจากก่อตั้งธุรกิจผ่านไปได้เพียง 6 ปี
บริษัท AP ก็ได้เผชิญบททดสอบครั้งสำคัญ
ที่ชื่อว่าวิกฤติ ต้มยำกุ้ง
วิกฤติครั้งนั้นทำให้หลายบริษัทที่กู้ยืมจากต่างประเทศ
มีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งบริษัท AP ก็ไม่มีข้อยกเว้น
ปี 2540 บริษัท AP มี
สินทรัพย์ 1,000 ล้านบาท
หนี้สิน 3,000 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทมีเงินสดพอจ่ายพนักงานแค่ 3 เดือน
ทางทฤษฎี สถานการณ์แบบนี้เท่ากับว่าบริษัทล้มละลายแล้วเรียบร้อย
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ แล้ว AP กลับมาได้อย่างไร?
แม้ว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยหยุดชะงัก
ส่งผลให้หลายบริษัทชะลอการลงทุน
แต่ AP กลับมองเรื่องนี้เป็นโอกาส
โอกาสที่บริษัทมองเห็นก็คือที่ดินที่ราคาตกต่ำลงมา
หากนำมาพัฒนาที่ตอบโจทย์
ซึ่งตอนนั้นก็คือ โครงการทาวน์เฮาส์
ที่ AP เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาขึ้นในประเทศไทย
ได้รับกระแสตอบรับดี ขายหมด 200 หลังภายใน 3 ชั่วโมง
เมื่อสอดรับกับวิธีบริหารเงินสดเพื่อการรักษาสภาพคล่องที่เป็นระบบ
ในที่สุดบริษัทก็สามารถผ่านวิกฤติมาได้
โดยหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเพียง 3 ปี AP ก็สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
หลังจากนั้น AP ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารองค์กรในหลากหลายโมเดล
จนวันนี้ AP ได้ใช้แนวคิด Outward Mindset
หรือการบริหารแบบเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา ควบคู่ไปกับสอนให้ทุกคนในองค์กร
เป็น Independence Responsibility Leader
แล้วมาถึงตอนนี้ AP เป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน AP ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีหลายแบรนด์ในเครือ
โครงการแนวราบ
บ้านเดี่ยว เช่น The Palazzo, The City และ Centro
ทาวน์โฮม เช่น The Sonne, บ้านกลางเมือง และ Pleno
โครงการแนวสูง
คอมโดมิเนียม เช่น Vittorio, The Address, Rhythm, Life และ Aspire
ซึ่งโครงการของ AP ครอบคลุมกลุ่มผู้อยู่อาศัยตั้งแต่วัยทำงานตามแนวรถไฟฟ้า
ไปจนถึงบ้านเดียวที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่
นอกจากนั้น บริษัทยังปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านการลงทุนในเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ที่ทำให้ระบบห่วงโซ่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ติดต่อ อัปเดตข้อมูลกันได้แบบเรียลไทม์ ส่งผลให้ AP สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้
ผลประกอบการล่าสุดของบริษัท
ปี 2559 รายได้ 20,253 ล้านบาท กำไร 2,703 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 22,176 ล้านบาท กำไร 3,148 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 27,270 ล้านบาท กำไร 3,953 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 23,802 ล้านบาท กำไร 3,064 ล้านบาท
แนวโน้มระยะยาวเติบโต แต่ในปีล่าสุด บริษัทได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการ LTV จากภาครัฐ ส่งผลให้รายได้และกำไรชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม หากเรามาดูโครงสร้างรายได้ของบริษัท AP รายได้ทุกๆ 100 บาทของบริษัทจะมาจาก
โครงการแนวราบ 76 บาท
โครงการแนวสูง 18 บาท
ที่ดิน 1 บาท
และบริการอีก 5 บาท
จากการคาดการณ์วิกฤติโรคระบาดในคราวนี้น่าจะมีผลกระทบต่อโครงการแนวสูง ซึ่ง AP ไม่ได้มีสัดส่วนรายได้มาจากโครงการแนวสูงมากนัก
ที่น่าสนใจก็คือ จากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ AP ได้เริ่มกระจายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น เช่น
BC ที่ปรึกษาด้านการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
SMART บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร
VAARI ดำเนินธุรกิจสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต
CLAYMORE ดำเนินธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมดีไซน์
SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินธุรกิจการดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรและคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่ๆ
ทั้งหมดดำเนินงานภายใต้ vision statement เดียวกันที่ว่า
EMPOWER LIVING ที่สะท้อนถึงภารกิจขององค์กร ที่มุ่งเติมเต็มทุกเป้าหมายของชีวิต ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและมีความหมาย
ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า AP มองถึงอนาคต
บริษัทต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมจากพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเป็นผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน บริการระบบนิเวศ พัฒนานวัตกรรม และยังรวมไปถึงธุรกิจการศึกษา
จากความฝันวันแรกคือ การก่อตั้งบริษัทเพื่อระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ผ่านวันที่บริษัทเกือบล้มละลาย จนกระทั่งมาเจอความท้าทายกับโรคระบาด
ตัวอย่างของ AP เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า บริษัทต้องคอยพัฒนา และปรับตัวอยู่เสมอ รู้จักมองเห็นโอกาสในวันที่คนอื่นยังมองไม่เห็น และคอยควบคุมระดับความเสี่ยงให้เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเคล็ดลับทำให้บริษัทอยู่รอดในภาวะวิกฤติ และเมื่อผ่านพ้นมาได้จะทำให้บริษัทแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม..
เรามาฟัง คุณอนุพงษ์ CEO AP THAILAND พูดกับคนในองค์กร ว่าจะฝ่าวิกฤติในรอบนี้ อย่างไร?
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.