กรณีศึกษา การปรับตัวของ Kagonoya ท่ามกลางร้านชาบูเต็มเมือง

กรณีศึกษา การปรับตัวของ Kagonoya ท่ามกลางร้านชาบูเต็มเมือง

23 ก.ค. 2020
กรณีศึกษา การปรับตัวของ Kagonoya ท่ามกลางร้านชาบูเต็มเมือง /โดย ลงทุนแมน
Kagonoya เป็นเชนร้านบุฟเฟต์ชาบูระดับพรีเมียม มีต้นกำเนิดมาจากเมืองโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
โดยถูกนำเข้าแฟรนไชส์มาเปิดในไทยสาขาแรกที่ทองหล่อ เมื่อ 8 ปีก่อน
ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อก่อน Kagonoya ได้วางตำแหน่งตลาดให้แบรนด์จับกลุ่มเฉพาะระดับบนๆ เท่านั้น
แต่ด้วยกระแสคนนิยมทานบุฟเฟต์ชาบูกระจายไปสู่ระดับกลางมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การยึดติดกับภาพลักษณ์เดิม จึงเป็นดั่งกำแพงที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปรู้สึกว่าแบรนด์ Kagonoya เข้าถึงยาก
Kagonoya จึงเลือกรีแบรนด์ครั้งใหญ่ และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้สื่อว่า เป็นร้านชาบูพรีเมียมที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
แล้ว Kagonoya ปรับแบรนด์ให้สำเร็จอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเด็นสำคัญที่ Kagonoya ใช้ คือการ “โฟกัส” กับสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจร้านชาบู ได้แก่ ซุป, ซอส และเนื้อ
สิ่งที่ Kagonoya ทำคือ การปรับเมนูให้มีความเป็นชาบูแบบดั้งเดิม ลดความเป็นซีฟู้ดลง และเน้นไปที่ "เนื้อ" ให้มากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจจริงๆ
โดยเริ่มตั้งแต่การคัดสรรเนื้อที่มีคุณภาพเข้าร้าน และเพิ่มเนื้อพรีเมียมชนิดต่างๆ เข้าไปในเมนู
เช่น โปรบุฟเฟต์ที่รวมเนื้อวากิว ในราคาเพียง 699 บาทต่อคน
พอคนรู้สึกว่าได้กินเนื้อคุณภาพระดับบน ในราคาที่เหมาะสม
พวกเขาก็อยากกลับมาใช้บริการอีกครั้ง
ซึ่งการโฟกัสที่เนื้อพรีเมียมคุณภาพ ทำให้อัตรากำไรของร้านบางลงก็จริง
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ร้านได้ปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงลูกค้าแวะมาใช้บริการบ่อยขึ้น
สุดท้ายแล้วในภาพรวม ยอดขายของร้านก็เติบโต
นอกจากกลยุทธ์การโฟกัสแล้ว ในช่วงล็อกดาวน์
Kagonoya ยังพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเป็นเจ้าแรกที่เริ่มทำ ชาบูดิลิเวอรี
ฉีกภาพจำเดิมๆ ของคน ที่คิดว่าชาบูต้องทานที่ร้านเท่านั้น
ซึ่ง Kagonoya ก็ได้เอาโจทย์เดิมมาถามตัวเองอีกครั้ง
ว่าจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าที่สั่งชาบูดิลิเวอรี รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป เพื่อที่จะได้อยากกลับมาสั่งอีกครั้ง..
โดยทาง Kagonoya ได้แก้โจทย์คือ
การให้เนื้อ 15 ถาด น้ำหนักรวมมากกว่า 1 กิโล พร้อมชุดผัก และของทานเล่นอีก 5 เมนู ในราคาชุดละ 699 บาท
เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอิ่มจนจุก ไม่ต่างจากตอนไปนั่งทานบุฟเฟต์ที่ร้าน
นอกจากนั้นการดิลิเวอรี ยังทำให้ Kagonoya ได้ข้อมูลพฤติกรรมการทานชาบูของลูกค้า เช่น ประเภทลูกค้า, เนื้อชนิดไหนที่ขายดี, คนแต่ละพื้นที่ชอบสั่งเนื้อแบบไหน เพื่อเอามาวิเคราะห์ต่อยอด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
ทาง Kagonoya เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
ร้านมีกระแสความนิยมมากกว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเสียอีก..
จึงทำให้ Kagonoya ได้ตั้งเป้าขยายสาขาอีก 50% ในปีหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 8 สาขา
กรณีศึกษาของ Kagonoya น่าจะทำให้เราได้เห็นว่า
ในช่วงวิกฤติก็เป็นโอกาสสำหรับบางคนที่มองเห็น
Kagonoya เป็นเจ้าแรกที่ทำชาบูดิลิเวอรีทำให้หลายคน รับรู้แบรนด์นี้ได้มากขึ้น หลังจากที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะแม้ว่าบ้านจะไม่ได้อยู่ใกล้สาขาก็สามารถสั่งดิลิเวอรีได้ ทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น
เรื่องที่สองคือการ “โฟกัส”
โดยเน้นทำสิ่งที่เป็นจุดเด่นของแบรนด์ และกล้าตัดในสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
ซึ่งนี่เป็นสูตรลับอย่างหนึ่ง ที่จะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น
เพราะ การเลือกที่จะไม่ทำอะไร สำคัญพอๆ กับการเลือกที่จะทำอะไร..
ทรัพยากรและเวลาของธุรกิจมีอยู่จำกัด
การทุ่มกับสิ่งที่สำคัญ หรือมีคุณค่ากับธุรกิจจริงๆ
จะทำให้ธุรกิจวิ่งไปได้ไกลกว่าเดิมหลายเท่า..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
- www.kagonoya.asia
- www.facebook.com/kagonoya
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.