กรณีศึกษา บริษัทซอมบี้ คืออะไร?

กรณีศึกษา บริษัทซอมบี้ คืออะไร?

20 ส.ค. 2020
กรณีศึกษา บริษัทซอมบี้ คืออะไร? /โดย ลงทุนแมน
ทุกคนน่าจะรู้จัก ซอมบี้ จากในภาพยนตร์ ซึ่งคำนิยามของมันคือ “สิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้วแต่ยังเดินได้”
แต่รู้ไหมว่า ในโลกธุรกิจยังมีบริษัทที่ถูกเรียกว่า Zombie Company หรือ บริษัทซอมบี้
บริษัทซอมบี้คืออะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
บริษัทซอมบี้ คือ บริษัทที่เหมือนจะล้มไปแล้ว แต่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้
โดยการดำเนินธุรกิจอยู่ได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากเจ้าหนี้เท่านั้น
และด้วยความที่บริษัทซอมบี้ เป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น หนี้สินที่บริษัทไปกู้เจ้าหนี้มานั้น บริษัทก็มีความสามารถใช้คืนหนี้เพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น แต่จะไม่สามารถชำระคืนเงินต้นแก่เจ้าหนี้ได้
ซึ่งคำว่า Zombie Company เป็นคำที่เกิดขึ้นมาจากช่วงทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปี 1991-2001 หรือ ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Lost Decade
ช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ Lost Decade นั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาคการส่งออกที่หดตัวลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากที่ญี่ป่นเข้าไปทำข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงตัดสินใจใช้วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรอย่างหนักในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
และสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้นั่นคือ การแตกของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น
เรื่องนี้ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1991-1993
ปี 1991 GDP ของญี่ปุ่นเติบโต 3.4%
ปี 1992 GDP ของญี่ปุ่นเติบโต 0.8%
ปี 1993 GDP ของญี่ปุ่นเติบโต -0.5%
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้บริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมาก ต้องเจอกับวิกฤติทางการเงินจนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินของญี่ปุ่นหลายแห่ง
หนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์ Lost Decade ของญี่ปุ่น คือ บริษัท Daiei ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ถูกตั้งฉายาให้เป็น Zombie Company หลังจากที่บริษัทมีการขยายงานอย่างมาก ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในญี่ปุ่น ทำให้บริษัท Daiei แทบจะล้มละลาย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นถึงขนาดออกมาบอกว่า กรณีของ Daiei นั้น “too big to fail” หรือใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มละลาย เนื่องจากในตอนนั้น Daiei มีพนักงานกว่า 96,000 คน
แต่ประเด็นคือบริษัทนี้มีหนี้สินมหาศาลเฉียด 3 ล้านล้านบาท ทำให้เจ้าหนี้หลายรายซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่น ต้องยื่นมือเข้ามาสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้ Daiei สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ปัจจุบัน แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ Daiei ยังคงอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้อยู่
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงกว่า10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่โลกของเราประสบกับวิกฤติซับไพรม์ และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจโลก
รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศจึงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังโดยมีเป้าหมายหลักคือ เพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ
แต่เรื่องนี้ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยในบางประเทศนั้นถึงขนาดติดลบ บางประเทศก็อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
ญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย -0.1%
สวิตเซอร์แลนด์ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย -0.75%
สหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.0-0.25%
หรือแม้แต่ประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ กลับเร่งให้หลายบริษัทต้องการกู้ยืมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทที่สถานะการเงินย่ำแย่ เพื่อต้องการให้ธุรกิจนั้นอยู่รอด
แต่สิ่งนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จะนำสู่การเกิด Zombie Company มากขึ้นในอนาคต..
ลักษณะที่สำคัญอีกเรื่องของ Zombie Company นอกจากเรื่องปัญหาทางการเงินที่อ่อนแอแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะมีประสิทธิภาพการผลิต ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ด้วยตนเอง
ปกตินั้นในระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง บริษัทที่แย่จะถูกทดแทนโดยบริษัทที่ดี
ขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง มีความสามารถในการทำกำไรที่ดี และเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมที่กำลังถดถอยและมีความสามารถในการทำกำไรต่ำ
ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินทุนให้แก่ Zombie Company ถ้าเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน จะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
เพราะบริษัทที่ดีก็จะขาดแคลนทรัพยากรบางส่วนเพื่อไปพัฒนาธุรกิจของตนเอง
พูดง่ายๆ ก็คือ ภาครัฐ และธนาคาร กำลังเอาเงินจำนวนมากไปอุ้มธุรกิจเก่าที่แข่งขันไม่ได้
ซึ่งธุรกิจใหม่ หรือสตาร์ตอัป ที่ควรส่งเสริม กลับไม่ได้รับเงินทุน
และเรื่องนี้กำลังจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก
รวมถึงประเทศไทย..
----------------------
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Zombie_company
-https://www.ditp.go.th/contents_attach/151775/151775.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_asset_price_bubble
-https://en.wikipedia.org/wiki/Daiei
-https://data.worldbank.org/country/JP
-http://www.cbrates.com/
-https://www.washingtonpost.com/business/on-small-business/if-zombie-companies-dont-die-well-pay-a-price/2020/06/17/09b01c36-b08e-11ea-98b5-279a6479a1e4_story.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.